คอลัมน์ วิเทศวิถี : โอกาสในมือพม่า

AFP PHOTO / Munir UZ ZAMAN

การประชุมใหญ่ 2 ประชุมติดต่อกันที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่ช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนมานี้ื คือการประชุมอาเซียนซัมมิท ครั้งที่ 31 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ตามด้วยการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศเอเชีย-ยุโรป ครั้งที่ 13 ที่กรุงเนปิดอว์ ประเทศพม่า แม้จะมีประเด็นอื่้นๆ มากมายที่เป็นความร่วมมือและพัฒนาการที่เป็นประโยชน์ต่อภูมิภาคซึ่งจะช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกันในกรอบพหุภาคีให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น แต่ก็ต้องยอมรับว่าจะน้อยจะมาก ประเด็นปัญหาการหลั่งไหลหนีภัยความรุนแรงของชาวโรฮีนจาจากรัฐยะไข่ของพม่าไปยังบังกลาเทศในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาเป็นจำนวนกว่า 600,000 คน ได้กลายเป็นประเด็นที่ทุกฝ่ายห่วงกังวลอย่างยิ่ง

ในทางหนึ่งปัญหานี้ไม่เพียงแต่เป็นปัญหาท้าทายของพม่าของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งภายใต้การนำของนางออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศพม่าเท่านั้น แต่ยังเป็นปัญหาท้าทายของอาเซียน และของโลกด้วย ท่ามกลางวิกฤตเรื่องผู้อพยพที่กลายเป็นปัญหาข้ามชาติที่สร้างกระแสหวั่นวิตกลุกลามไปทั่วทุกมุมโลกในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่แน่นอนว่าผู้ที่จะทำให้ปัญหาที่เกิดขึ้นยุติลงได้มีแต่เพียงรัฐบาลพม่าเองเท่านั้น

ท่าทีของซูจีในช่วงต้นของวิกฤตการณ์โรฮีนจาที่หลายฝ่ายมองว่าเงียบเฉยจนเกินไป ทำให้เกิดกระแสตีกลับในแง่ความนิยมชมชอบต่อสตรีผู้ที่เคยได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพผู้นี้ แต่สิ่งที่ซูจีได้ชี้แจงและได้ทำในการประชุมใหญ่ที่มีความสำคัญทั้งสองการประชุมข้างต้นทำให้ตระหนักว่า ในความเงียบนั้นไม่ใช่ความนิ่งเฉย เพราะในความเป็นจริงแล้วพม่าได้พยายามดำเนินการอะไรหลายๆ อย่างเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ

ความพยายามที่จะเจรจากับบังกลาเทศเพื่อจัดทำบันทึกช่วยจำ(เอ็มโอยู)เพื่อส่งกลับผู้ลี้ภัยโรฮีนจากลับพม่าถูกพูดถึงครั้งแรกในที่ประชุมสุดยอดอาเซียนราวกลางเดือนพฤศจิกายน โดยมีกรอบเวลาว่าทันทีที่สามารถลงนามเอ็มโอยูระหว่างกันได้ กระบวนการส่งกลับผู้ลี้ภัยจะเริ่มต้นได้ภายใน 3 สัปดาห์หลังจากนั้น ซึ่งพม่าและบังกลาเทศก็ได้ลงนามในเอ็มโอยูระหว่างกันไปแล้วเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

Advertisement

ขณะที่ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซมก็ได้ประกาศถึงการจัดตั้งคณะที่ปรึกษาต่างประเทศที่มีนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย ประธานคณะมนตรีเพื่อสันติภาพและความปรองดองแห่งเอเชีย(เอพีอาร์ซี) เป็นประธาน ซูจียังได้จัดตั้งสหภาพเพื่อความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม การตั้งถิ่นฐาน และการพัฒนาในยะไข่ขึ้น เพื่อระดมความช่วยเหลือจากคนในประเทศพม่าโดยตรง ด้วยเหตุผลว่าการแก้ไขปัญหาในรัฐยะไข่เป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องเข้ามามีส่วนร่วมด้วยช่วยกัน

การประชุมกลุ่มเล็กที่มีรัฐมนตรีจากเอเชียและยุโรปที่ได้รับเชิญเพียงไม่กี่ประเทศซึ่งรวมถึงนางเฟรเดอริกา โมเกรินี ผู้แทนระดับสูงของสหภาพยุโรปด้านการต่างประเทศและนโยบายความมั่นคงและรองประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ซึ่งพม่าจัดขึ้นก่อนการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซม โดยนางซูจีได้ชี้แจงถึงการดำเนินการต่างๆ ที่รัฐบาลพม่าได้ทำในช่วงที่ผ่านมาก็ดูเหมือนจะช่วยให้แรงกดดันที่ยุโรปมีต่อพม่าให้ลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด

ซูจีพูดกับที่ประชุมกลุ่มย่อยประโยคหนึ่งว่า “บางครั้งเราต้องมองข้ามปัญหาเล็กๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ใหญ่กว่า” นับจากนาทีนี้ก็ขึ้นกับรัฐบาลพม่าที่จะบริหารโอกาสที่หลายฝ่ายหยิบยื่นให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงไร

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image