คอลัมน์โกลบอล โฟกัส: อะ แมน คอลด์ ‘ทรัมป์’

จำได้ว่าเคยเขียนถึงความเป็น “โดนัลด์ ทรัมป์” เจ้าพ่ออสังหาริมทรัพย์จากนิวยอร์กไปแล้วครั้งหนึ่ง แต่สิ่งที่กำลังดำเนินไปในการเลือกตั้งที่สหรัฐอเมริกา ทำให้การพูดถึงมหาเศรษฐีพันล้านรายนี้ไม่มีวัน “เอาต์” ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลกลใดก็ตาม

อันที่จริง สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ผมรู้สึกว่า เราเขียนถึง พูดถึง และพินิจพิเคราะห์บุคคลนี้น้อยเกินไปด้วยซ้ำ

ข้อเท็จจริงอย่างแรกก็คือ ทรัมป์ ไม่เคยเป็นนักการเมือง ไม่เคยรับตำแหน่งทางการเมือง ไม่ว่าในระดับใดมาก่อน โดยนัยทางการเมืองปกติทั่วไป นั่นหมายถึงความเป็น “ละอ่อนทางการเมือง” อย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้ระบบและกระบวนการเลือกตั้งที่สลับซับซ้อน ทั้งลงลึกและแผ่กว้างเหมือนอย่างในสหรัฐอเมริกา

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่วันแรกเรื่อยมาจนถึงขณะนี้กลับเป็นตรงกันข้ามกับการคาดการณ์ของผู้สันทัดกรณีทั้งในและนอกประเทศ ตรงกันข้ามกับสิ่งที่ผู้นำทางการเมืองภายในพรรครีพับลิกันเองคาดหมายเอาไว้

Advertisement

โดนัลด์ ทรัมป์ ในเวลานี้คือผู้ที่มีโอกาสมากที่สุดที่จะได้เสียงสนับสนุนมากที่สุดจาก “คณะผู้เลือกตั้ง” เพื่อก้าวขึ้นไปอยู่ในฐานะ “ตัวแทน” ของพรรครีพับลิกันในการช่วงชิงทำเนียบขาวกับตัวแทนของพรรคเดโมแครตกันในตอนปลายปีนี้

ความเป็นไปได้เพียงแค่นั้นก็สร้างความแตกตื่นขนานใหญ่ให้เกิดขึ้นกับพรรครีพับลิกัน ถึงขนาด “นายทุนพรรค” ระดับเศรษฐี มหาเศรษฐี ทั้งหลาย ลงทุนควักเงินมากองรวมกันอย่างน้อย 35 ล้านดอลลาร์ เริ่มรณรงค์อย่างเป็นทางการเพื่อ “หยุดยั้งทรัมป์” กันแล้ว

“ปรากฏการณ์ทรัมป์” เท่าที่เป็นอยู่ในเวลานี้ สร้างความแตกแยกครั้งใหญ่ขึ้นภายในพรรครีพับลิกัน

กลายเป็น 3 ก๊ก 3 พวกขึ้นมาอย่างช่วยไม่ได้ กลุ่ม “นิยมทรัมป์” คือหนึ่งในจำนวนนั้น กลุ่ม “ทีปาร์ตี้” ที่หนุน เท็ด ครูซ เป็นอีกกลุ่ม ในขณะที่ส่วนที่หลงเหลืออยู่คือบรรดาแกนนำที่คร่ำหวอดและทรงอิทธิพล กับคนที่เอียงข้างไปหาแนวทางเป็นกลางมากหน่อยอย่าง จอห์น คาซิช ผู้ว่าการรัฐโอไฮโอ ได้แต่อ้าปากค้างตกตะลึงกับสิ่งที่เกิดขึ้น

ผู้ที่ขมวดคิ้วนิ่วหน้ากับสถานการณ์การเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกาในเวลานี้ ไม่เพียงแต่คนอเมริกันเท่านั้น หลายๆ ประเทศก็เริ่มกังวลกับทรัมป์มากขึ้นตามลำดับ

กระนั้นโดนัลด์ ทรัมป์ ก็ยังคงเดินหน้าประกาศอหังการของตนต่อไป พร้อมๆ กับที่ทำลายรีพับลิกันลงเป็นชิ้นๆ ไปด้วยในตัว

นิวยอร์ก ไทม์ส เคยตั้งข้อสังเกตถึง “เครื่องหมายการค้า” ของ โดนัลด์ ทรัมป์ เอาไว้ว่า ประกอบด้วยวาทกรรม “ซ้ำๆ” ที่สะท้อนถึงการ “แยกข้าง” หรือ “แบ่งพวก” อย่างชัดเจน ผสมผสานกับคำพูด “รุนแรง” ที่หลายต่อหลายครั้ง “เกินเลยไปจากความเป็นจริง” และสิ่งที่ผู้สื่อข่าวเรียกว่า “ความรุนแรงในจินตนาการ”

ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้น เป็นสิ่งซึ่ง นิวยอร์ก ไทม์สยืนยันว่า ประธานาธิบดีอเมริกันที่ผ่านๆ มา “น้อยคนนักที่จะเลือกหยิบมาใช้”

ประโยคที่ติดปากทรัมป์ ก็คือประโยคที่ว่า “พวกคุณ” กับ “เรา” กำลังเผชิญกับ “พวกมันทั้งหลาย” ที่เต็มไปด้วยอันตราย และอื่นๆ อย่างเช่นบรรดาผู้ที่เข้าเมืองมาอย่างผิดกฎหมาย ที่ทรัมป์บอกซ้ำๆ ว่า “พวกนั้นกำลังหลั่งไหลกันเข้ามา” หรือผู้อพยพจากซีเรีย ที่ทรัมป์ให้ภาพว่าเต็มไปด้วย “เด็กหนุ่ม กำยำแข็งแรง” หรือ บรรดาเม็กซิกันทั้งหลายเป็นอาทิ

สิ่งที่ทรัมป์พูด ลีลาท่าทาง กับการใช้ความรู้สึกและอารมณ์มากกว่าเหตุผลและข้อเท็จจริง ครั้งหนึ่งถึงกับทำให้เด็กหญิงวัย 12 ปี ในเวทีหาเสียงที่ฟลอริดา บอกกับตัวเก็งของรีพับลิกันว่า “หนูกลัว” คำถามของเธอก็คือ ทรัมป์จะทำยังไงเพื่อปกป้องประเทศนี้ให้รอดพ้นจากคนน่ากลัวเหล่านั้น

คำตอบของทรัมป์สะท้อนให้เห็นวิธีและรูปแบบในการหาเสียงของมหาเศรษฐีผู้นี้ได้เป็นอย่างดี ทรัมป์ตอบว่า “รู้ไหมที่รัก หนูไม่ต้องกลัวอีกแล้ว ไอ้พวกนั้นต่างหากที่ต้องกลัว หนูจะไม่ต้องกลัวอีกต่อไป”

สิ่งที่ขาดหายไปชัดเจนคือ วิธีการและความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ ซึ่งเป็นไปในทำนองเดียวกันกับการ “สร้างกำแพงตลอดแนวชายแดนเม็กซิโก” ที่นอกจากจะสะท้อนการแบ่งแยกด้วยสรรพนามว่า “เรา” กับ “พวกนั้น” แล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงการไม่ใส่ใจใดๆ ต่อความเป็นจริงในทางปฏิบัติแต่อย่างใดทั้งสิ้น

ข้อที่น่าสังเกตก็คือ คำพูดของทรัมป์ที่กลายเป็นประโยคอมตะนั้น เริ่มต้นด้วยคำว่า “เรา”

“เราจำเป็นต้องสร้างกำแพงตามแนวชายแดนเม็กซิโก” เป็น “เรา” ไม่ใช่ “ผม”

เป็น “เรา” ที่กำลังเผชิญกับการคุกคามในจินตนาการของทรัมป์!

รูปแบบที่ชัดเจนอีกอย่างที่ทรัมป์นำมาใช้อย่างจงใจ ก็คือ การโจมตี “ตัวบุคคล” มากกว่า “แนวความคิด” หรือสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่ง ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือ ทรัมป์ไม่เคยเสียเวลาบรรยายว่าแนวความคิดของคู่แข่งทางการเมืองภายในพรรคของตน มีแนวความคิดที่ไม่ถูกต้องอย่างไร มีอุดมการณ์ที่ไม่เหมาะสมแค่ไหน

ตรงกันข้ามสิ่งที่เขาบอกกับผู้สนับสนุนกลับเป็นการสร้างจินตภาพของคนคนนั้นขึ้นในความคิดของทุกผู้คน เขาเลือกที่จะโจมตีคู่แข่งทางการเมืองด้วยคำว่า “โง่” หรือ “น่าเกลียดน่ากลัว” และ “อ่อนแอ” ซ้ำแล้วซ้ำอีก ทรัมป์ถล่ม เจ๊บ บุช เสียผู้เสียคนได้ด้วยวลีเดียวว่า “เหมือนคนห่อเหี่ยวไร้เรี่ยวแรง”

เช่นเดียวกันกับการตอบโต้กับผู้สื่อข่าวทั้งหลายรวมทั้งประโยคอมตะต่อ เมกิน เคลลีย์ แห่งฟอกซ์นิวส์ด้วยคำว่า “สวยแต่ไร้สมอง” ซึ่งกำลังวีนเพราะมีประจำเดือน เป็นต้น

ไมเคิล เคซิน นักประวัติศาสตร์การเมืองของมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ ชี้ให้เห็นว่าถ้อยคำรุนแรงพบเห็นได้เต็มไปหมดในคำกล่าวปราศรัยหาเสียงของทรัมป์ ไม่ว่าจะเป็นคำว่า “ฆ่า ทำลาย ทำลายล้าง” หรือ “สู้” ตัวอย่างเช่น การพูดถึงกองกำลังรัฐอิสลามว่า “ต้องเอามาตัดหัวทิ้งให้หมด” หรือการยืนยันว่าจะใช้ “วอเทอร์ บอร์ดดิ้ง” วิธีการทารุณกรรมที่ขึ้นชื่อลือชาในทางลบในยุคของ จอร์จ ดับเบิลยู. บุช หรือ “อะไรๆ ที่ยิ่งไปกว่านั้น” เป็นต้น

ทรัมป์ไม่เคยประหยัดถ้อยคำรุนแรงแม้แต่กับอเมริกันด้วยกันเองที่เขาถือว่าเป็น “คนอื่น” ไม่ใช่พวกเรา อย่างเช่นการพูดถึงขบวนการแบล็กไลฟ์ส แมทเทอร์ที่บุกมาประท้วงถึงที่หาเสียงว่า “น่าจะถูกกวาดจับให้หมด” หรือ “ผมควรชกหน้าไอ้พวกนั้น”

เคซินบอกว่า ถ้อยคำรุนแรง วางก้าม อวดเก่งและกร้าวทำนองนี้ คือความพยายามสร้างภาพทรัมป์ที่เก่งกล้า และเป็นเพียงคนเดียวเท่านั้นที่สามารถทำบางสิ่งบางอย่างได้ สิ่งซึ่ง “ถูกต้องและจำเป็น” และเป็นสิ่งที่ทุกคนคิดอยู่ในใจ แต่ไม่กล้าลงมือด้วยตัวเอง

วาทกรรมต่างๆ ของ โดนัลด์ ทรัมป์ ถูกนำมาใช้เพื่อสร้างความ “คลางแคลงใจ” ต่อ “ข้อเท็จจริง” ที่คนอเมริกันส่วนใหญ่ล่วงรู้อยู่ เป็นการบ่อนทำลายความเชื่อถือในความเป็นจริงที่รับรู้กันทั่วไป ตัวเลขต่างๆ รวมไปถึงแม้แต่กระทั่งความน่าเชื่อถือของสื่อกระแสหลักทั้งหลาย ที่ทรัมป์ไม่เคยหวังพึ่งพิงและแทบไม่มีสำนักไหนสนับสนุนหรือเห็นพ้องกับแนวทางของทรัมป์เลยแม้แต่น้อย

ทรัมป์มักเริ่มวาทกรรมทำนองนี้ด้วยประโยคที่ว่า “พวกคุณไม่รู้หรอกว่า…” หรือ “ไม่มีใครรู้หรอกว่า…”

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดในเรื่องนี้ก็คือ การยืนกรานซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า บารัค โอบามา ต้องการรับเอาผู้อพยพซีเรียเข้ามายังสหรัฐอเมริกา 250,000-300,000 คน ทั้งๆ ที่สหรัฐอเมริกาไม่มีแผนเตรียมรับผู้อพยพเหล่านั้นแต่อย่างใดทั้งสิ้น

รูปแบบของการใช้อารมณ์ ความรู้สึกอยู่เหนือเหตุผลและข้อเท็จจริงในการปราศรัยหาเสียง ทำให้นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ นักประวัติศาสตร์การเมือง รวมถึงนักจิตวิทยา บอกว่า โดนัลด์ ทรัมป์เป็น “นักปลุกระดม” อย่างที่ฝรั่งเรียกว่า “เดมมะกอก” มากกว่าที่จะเป็นนักการเมือง

ที่น่าสนใจก็คือทรัมป์ไม่ใช่เป็นคนแรกที่ใช้วิธีการทำนองนี้หาเสียง วาทกรรมปลุกระดมทำนองนี้เคยมีผู้นำอเมริกันหลายคนในอดีตใช้มา ไม่ว่าจะเป็นคนอย่าง แบรี่ โกลด์วอเตอร์, จอร์จ วอลเลซ หรือ โจเซฟ แม็คคาร์ธี เป็นต้น ข้อสังเกตที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งควบคู่กันไปก็คือ วาทกรรมฉวยโอกาสทางการเมืองทำนองนี้มักเกิดขึ้นในยามที่สังคมอเมริกันตกอยู่ในภาวะยุ่งยากลำบาก ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคม

เจนนิเฟอร์ เมอร์เซียกา ผู้เชี่ยวชาญด้านการบิดเบือนในการเมืองอเมริกัน จากมหาวิทยาลัยเท็กซัส เอแอนด์เอ็ม บอกว่า การใช้ถ้อยคำ ภาษาที่แสดงถึงการแบ่งแยกพวกเขา-พวกเรา การสร้างภาพตนเองเป็นผู้นำในลักษณะของ “คัลท์ ฮีโร่” เรื่อยไปจนถึงการจัดกลุ่ม แยกพวกฝ่ายตรงข้ามอย่างหยาบๆ และผิวเผิน คือภาพสะท้อนของความเป็น “นักปลุกระดมที่แท้จริง” ของ โดนัลด์ ทรัมป์

ในทรรศนะของทรัมป์ ถ้าคุณเป็นคนอื่น อย่างเช่น ผู้อพยพเข้าเมืองมาอย่างผิดกฎหมาย หรือถูกจับกุมตัวได้ระหว่างสงคราม อย่างเช่น จอห์น แม็คเคน เรื่อยไปจนกระทั่งถึงคนผิวสี ผู้พิการทั้งหลาย ล้วนเป็น “ไอ้ขี้แพ้” ทั้งสิ้น ในทางตรงกันข้ามก็มี “ผู้ชนะ” โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวทรัมป์เองที่ทั้งเก่งกาจ ชาญฉลาด ประสบความสำเร็จ รวมทั้งคนที่อยากเป็น “ผู้ชนะ” ด้วยการเลือกที่จะยืนอยู่เคียงข้างกับคนอย่าง โดนัลด์ ทรัมป์

ความน่าสนใจก็คือ บทเรียนในอดีตบอกเราว่า แม้แต่นักปลุกระดมทำนองนี้ก็สามารถได้รับเลือกตั้ง เข้ามาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาได้

คำถามก็คือ โดนัลด์ ทรัมป์ สามารถทำแบบเดียวกันนั้นได้อีกครั้งหรือไม่?

คำตอบยังอยู่อีกยาวไกล แต่นับตั้งแต่แรกเริ่มจนถึงขณะนี้ การเลือกตั้งสหรัฐอเมริกาในปี 2016 นี้มีอะไรต่อมิอะไรมากมายหลายอย่างที่ไม่เคยมีใครคิดว่าจะเกิดขึ้น ล้วนเกิดขึ้นมาแล้วทั้งสิ้น

ดังนั้นในปีอย่างนี้ ทำไมคนอย่างโดนัลด์ ทรัมป์ ถึงจะเป็นประธานาธิบดีอเมริกันกับเขาบ้างไม่ได้?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image