คอลัมน์ วิเทศวิถี : ตอบคำถามคาใจ ทำไม”อียู”ปลดล็อกไทย

หนึ่งในข่าวใหญ่ที่เรียกเสียงฮือฮาส่งท้ายปีและนับเป็นข่าวดีสำหรับประเทศไทยย่อมต้องเป็นเรื่องที่ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศสหภาพยุโรป(อียู) ที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม มีมติเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม ตกลงที่จะปรับความสัมพันธ์ด้านการเมืองกับไทยในทุกระดับ แม้จะตั้งเงื่อนไขว่าจะเป็นการปรับอย่างช้าๆ และพูดถึงความก้าวหน้าหลายประการที่อียูอยากจะเห็น ไม่ว่าจะเป็นการจัดการเลือกตั้งที่น่าเชื่อถือและเปิดให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม การปรับปรุงสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน ทำให้เกิดสภาพแวดล้อมทางการเมืองที่ทั้งฝ่ายค้านและภาคประชาสังคมสามารถทำงานได้อย่างเสรี ฯลฯ

กระนั้นก็ดี การที่รัฐมนตรีต่างประเทศอียูได้ขอให้คณะกรรมาธิการยุโรปสำรวจความเป็นไปได้ในการกลับมาเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี(เอฟทีเอ)ระหว่างยุโรป-ไทย รวมไปถึงการลงนามในกรอบข้อตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือ(พีซีเอ) ระหว่างกัน ซึ่งจะดำเนินการในสองเรื่องดังว่าได้ก็ต่อเมื่อมีรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง ทั้งหมดทั้งมวลนั้นเป็นข้อเรียกร้องภายใต้ความพร้อมของอียูที่จะช่วยเหลือไทยให้บรรลุวัตถุประสงค์ทั้งหมดด้วยเจตนารมย์ของความร่วมมือและความเป็นหุ้นส่วนระหว่างกัน

แน่นอนว่าสำหรับรัฐบาล การประกาศปรับความสัมพันธ์ด้านการเมืองกับไทยในทุกระดับ เป็นการปลดล็อกสุดท้ายในแง่ของความสัมพันธ์กับชาติตะวันตก หลังจากที่มหาอำนาจเจ้าทฤษฎีประชาธิปไตยอย่างสหรัฐอเมริกา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็เดินทางไปเยือนแล้วเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ส่วนชาติอื่นๆ อย่างออสเตรเลียหรือญี่ปุ่นที่เคยประกาศท่าทีในทางลบต่อรัฐบาลทหารเมื่อช่วงหลังปฏิวัติใหม่ๆ ก็กลับมามีความสัมพันธ์กันในระดับปกติและพัฒนาจนไปสู่ระดับที่ดีมากมานานแล้ว

อันที่จริงแม้ฝ่ายอียูจะระงับความสัมพันธ์ทางการเมืองกับไทยตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2557 แต่ในทางปฏิบัติ การระงับความสัมพันธ์นั้นก็เป็นไปในส่วนของการเมืองเป็นหลัก เพราะในส่วนของข้าราชการ ช่องทางในการพบปะพูดคุยกันมีอยู่อย่างต่อเนื่อง การเดินทางไปร่วมประชุมในกรอบความร่วมมือต่างๆ ก็เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ แม้แต่ในส่วนของพล.อ.ประยุทธ์ก็ยังเห็นการเดินทางไปยังยุโรปเพื่อพูดคุยในกรอบพหุภาคีอยู่เป็นระยะ เพราะข้อมติระงับความสัมพันธ์กับรัฐบาลที่มาจากการปฏิวัตินั้นจะครอบคลุมความสัมพันธ์ทวิภาคีเป็นหลัก สิ่งที่ไม่เกิดขึ้นคือการเยือนในระดับรัฐมนตรีหรือผู้นำ ซึ่งในอนาคตข้างหน้า เราอาจได้เห็นการเยือนเช่นนี้เกิดขึ้นได้ตามมา

Advertisement

เชื่อแน่ว่ามีคนมากมายที่ตั้งคำถามและเต็มไปด้วยความสงสัยว่าอะไรเป็นเหตุผลที่ทำให้อียูตัดสินใจประกาศปรับความสัมพันธ์ทางการเมืองกับไทยในทุกระดับ ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจบริบทของความสัมพันธ์ระหว่างไทย-อียู ที่เกิดขึ้นก่อนหน้าคำประกาศดังกล่าวว่า ในความเป็นจริงความสัมพันธ์ระหว่างไทย-อียู ปรับตัวดีขึ้นมาอย่างต่อเนื่องเป็นลำดับ นับตั้งแต่การลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญเมื่อเดือนสิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา ซึ่งก็เป็นไปในทิศทางเดียวกับท่าทีจากชาติตะวันตกอื่่นๆ รวมถึงประชาคมโลกต่อรัฐบาลทหารไทย เพราะการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญเป็นดั่งการให้สัญญานนับถอยหลังสู่การจัดการเลือกตั้งภายใต้กรอบเวลาของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยมีผลการลงประชามติจากประชาชนเป็นเครื่องสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญนั้น

อียูยังได้แจ้งความพร้อมที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส(ซอม)ไทย-อียู ซึ่งจัดไปแล้วเมื่อเดือนมิถุนายนปีนี้ หลังจากที่ว่างเว้นไปนานกว่า 5 ปี โดยการประชุมครั้งล่าสุดก่อนหน้านี้เกิดขึ้นในเดือนกันยายน 2555 นับจากนั้นมาความสัมพันธ์ระหว่างไทย-อียูก็ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องไม่ขาดตอน และไม่อยู่ในสภาวะแบบคล้ายจะมีปัญหาคาใจเช่นในช่วงแรก สะท้อนให้เห็นถึงท่าทีที่เปิดกว้างมากขึ้นของฝ่ายอียู หลังจากนั้นอียูได้มีคณะมาเยือนไทยหลายครั้ง ทั้งเพื่อพบปะพูดคุยกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องของไทยในทุกประเด็นที่ฝ่ายอียูมีข้อห่วงกังวล ดังรายละเอียดที่ปรากฎในถ้อยแถลงของที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอียู

ไม่เพียงเท่านั้น นับตั้งแต่ปี 2558 ไทยได้รับหน้าที่ประเทศผู้ประสานงานอาเซียน-อียู การรับหน้าที่ดังกล่าวทำให้ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-อียู ครั้งที่ 22 เมื่อเดือนตุลาคม 2559 ซึ่งการประชุมในครั้งนั้นมีรัฐมนตรีจากชาติสมาชิกอียูเดินทางมายังไทยเป็นจำนวนมาก และยังมีการเดินทางไปมาหาสู่กันตามมาอีกมากหลังจากนั้น ทำให้ผู้แทนจากอียูได้มีโอกาสเดินทางมาเห็นสถานการณ์ในไทยด้วยตนเอง

ไทยแสดงบทบาทในฐานะประเทศผู้ประสานงานอาเซียน-อียูได้เป็นอย่างดี และช่วยให้เกิดความคืบหน้าในการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างกัน ซึ่งมีส่วนช่วยในการสืบสานความประสงค์ที่อียูแสดงให้ทราบชัดเจนว่าต้องการยกระดับความสัมพันธ์กับอาเซียนสู่ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ นอกจากนี้อียูยังอยากจะเข้ามาเป็นสมาชิกการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก(อีเอเอส) ซึ่งเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา นายโดนัลด์ ทัสค์ ประธานคณะมนตรียุโรป ก็ได้เดินทางมาร่วมประชุมกับผู้นำอาเซียนเป็นครั้งแรกอีกด้วย

ขณะเดียวกัน การที่ไทยให้ความร่วมมือกับอียูอย่างจริงจังเพื่อแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม(ไอยูยู) ก็ยังทำให้ฝ่ายอียูได้เห็นถึงความตั้งใจและความพยายามในการแก้ไขปัญหาของไทย เพื่อยกระดับการทำประมงในประเทศให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ซึ่งจะเป็นทางออกที่ยั่งยืนสำหรับอุตสาหกรรมประมงไทยในอนาคต ก็ล้วนแต่เป็นปัจจัยที่ทำให้ฝ่ายอียูได้สัมผัสถึงการทำงานกับไทยในหลากหลายมิติ

ต่างๆ ทั้งหมดนั้นแม้อาจจะดูเหมือนเป็นคนละเรื่องราวแต่อันที่จริงแล้วก็สะท้อนข้อเท็จจริงเดียวกันนั่นคือ ไม่ว่าไทยจะมีรัฐบาลทหารหรืออะไรก็ตาม สิ่งที่ไม่ค่อยจะเปลี่ยนแปลงไปคือการดำเนินนโยบายต่างประเทศของไทยที่ยังคงให้คุณค่ากับประเด็นต่างๆ หลากหลายเรื่องที่อียูก็ให้ความสำคัญไม่ต่างกัน ไทยถือเป็นประเทศที่เป็นผู้เล่นหลักในภูมิภาค และเป็นประเทศที่พร้อมจะร่วมมือรวมถึงให้ความช่วยเหลือกับประเทศต่างๆ อย่างจริงจังและจริงใจ

เป็นความจริงเช่นกันที่ไทยถูกตั้งคำถามในบางประเด็นภายใต้รัฐบาลทหาร อาทิ สิทธิมนุษยชน หรือเสรีภาพในการแสดงความเห็นและเสรีภาพในการชุมนุม แต่ในภาพรวมแล้วไม่ว่าจะมีปัญหาภายในอย่างไร ไทยยังสามารถแสดงบทบาทที่สร้างสรรค์ในเวทีระหว่างประเทศได้ อีกทั้งไทยไม่เคยสร้างปัญหาให้กับภูมิภาค ในทางตรงกันข้าม เรายังสามารถมีบทบาทในหลายๆ เรื่องได้แม้จะมีข้อจำกัดบางประการก็ตามที

ถ้าจะเปรียบเทียบให้เห็นกันง่ายๆ ดูอย่างปัญหาในประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่าต่อกรณีชาวโรฮีนจาในรัฐยะไข่ แม้เหตุวุ่นวายครั้งล่าสุดจะเพิ่งปะทุขึ้นมาในเดือนสิงหาคมปีนี้ ช่วงเวลาเพียงไม่กี่เดือน ปัญหาในรัฐยะไข่ทำให้รัฐบาลพม่าภายใต้การนำของนางออง ซาน ซูจี ต้องเผชิญปัญหารุมเร้าอย่างหนักจากรอบด้าน จากประเทศที่เคยเป็น”ที่รัก”ของชาติตะวันตกหลังมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เพียงชั่วพริบตา ปัญหาในรัฐยะไข่ได้กลายเป็นปัญหาที่ลุกลามและส่งผลกระทบเป็นวงกว้างทั้งต่อพม่าและอาเซียน อีกทั้งยังถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดจากประชาคมโลก และทำให้สถานะของรัฐบาลพม่าในสายตาประชาคมโลกเปลี่ยนแปลงไปอีกด้วย

กระทั่งความพยายามเพื่อการแก้ไขปัญหาในรัฐยะไข่ หลายๆ ชาติก็เชื่อว่าไทยสามารถมีบทบาทที่สร้างสรรค์ได้ เห็นได้จากการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศเอเชีย-ยุโรป(อาเซม) ครั้งที่ 13 ที่เพิ่งจัดขึ้นเมื่อกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ที่กรุงเนปิดอว์ ของพม่า นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทย ก็กลายเป็นหนึ่งในรัฐมนตรีที่ถูกชาติในยุโรปขอพบปะพูดคุยด้วยมากที่สุดประเทศหนึ่ง ไทยยังได้รับความไว้วางใจจากพม่าเพราะเป็นหนึ่งใน 4 ประเทศสมาชิกอาเซียนที่ฝ่ายพม่าได้เชิญให้เข้าร่วมหารือกลุ่มย่อยในเรื่องรัฐยะไข่ก่อนหน้าการประชุมอาเซมจะเริ่มต้นขึ้นด้วย

ด้วยข้อเท็จจริงหลายประการดังที่ประมวลมาบอกกล่าว ก็น่าจะทำให้เกิดความเข้าใจได้ไม่มากก็น้อยว่าเหตุใด 28 ชาติสมาชิกอียูจึงพร้อมใจกันให้การรับรองที่จะปรับความสัมพันธ์ด้านการเมืองกับไทย รวมไปถึงด้านสิทธิมนุษยชน เสรีภาพขั้นพื้นฐาน และแผนการดำเนินงานสู่ประชาธิปไตย ในการประชุมที่มีขึ้นเป็นวาระการพิจารณาแบบ Type A คือไม่จำเป็นต้องมีการเปิดให้อภิปรายถกเถียงกันในเรื่องดังกล่าวให้เปลืองเวลาเสียด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ดี สิ่งที่รัฐบาลไทยต้องตระหนักแก่ใจคือ แม้หนทางจะเปิดแต่ยังมีงานอีกมากที่เราต้องทำต่อไป เพราะท่าทีที่ประเทศต่างๆ มีต่อไทยก็ใช่ว่าจะเปลี่ยนแปลงไปไม่ได้ แต่ทั้งหมดนั้นขึ้นกับปัจจัยเดียวที่อยู่ภายใต้การควบคุมของเรา นั่นคือการเดินหน้าไปสู่หนทางประชาธิปไตยตามกรอบเวลาที่รัฐบาลได้ประกาศไว้นั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image