คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : “เมาท์ก็อกซ์” กับเรื่องฉาวของ”บิทคอยน์”

อเล็กซานเดอร์ วินนิค ขณะถูกจับกุมที่กรีซเมื่อปลายเดือนกรกฎาคม (ภาพ-Giannis Papanikos/AP)

ความจริงที่ว่า “บิทคอยน์” ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้ปลอดจากกฎระเบียบทั้งหลายที่คอยควบคุมการหมุนเวียนเงินตราระหว่างบุคคลต่อบุคคล หรือระหว่างนิติบุคคลด้วยกัน เป็นเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใครและเป็นเครื่องดึงดูดใจใครต่อใครมากมายก็จริง แต่สุดท้ายก็กลายเป็นจุดอ่อนมหาศาลของ “คริปโตเคอร์เรนซี” สกุลนี้และอีกทุกสกุลด้วยเช่นกัน

ข้อเท็จจริงที่ว่า “บิทคอยน์” ถูกเก็บไว้ในรูปของรหัสคอมพิวเตอร์ ในเน็ตเวิร์กคอมพิวเตอร์ที่เป็นอิสระ ไม่ได้อยู่ภายใต้กฎหมายหรืออยู่ภายใต้การควบคุม รับผิดชอบของใครคนหนึ่งคนใด หรือประเทศหนึ่งประเทศใดเลย สะท้อนให้เห็นว่า “ถ้า” เกิดอะไรขึ้นมา โอกาสที่ทั้งหมดจะกลายเป็น “0” มีอยู่เต็มเปี่ยม

โครงสร้างของ “เงินตราเสมือน” หรือ “เงินดิจิทัล” เหล่านี้ ไม่ปกติธรรมดา การซื้อขาย แลกเปลี่ยน นอกจากจะเป็นการ “ตกลงกันเอง” ด้วยความไว้วางใจซึ่งกันและกันแล้ว ส่วนใหญ่ยังดำเนินการผ่านบริษัทผู้ให้บริการ “ซื้อขายแลกเปลี่ยน” ที่ทุกคนอยู่ในสภาพต้อง “หลับหูหลับตา” ให้ความเชื่อถืออีกด้วย

บริษัทเหล่านี้มีจำนวนไม่น้อยที่ทำมาหากินสุจริต โดยมีผลประโยชน์อยู่เพียงแค่ค่าธรรมเนียมในการจัดการ แต่ก็มีอยู่มากมายเหมือนกันที่ก่อตั้งขึ้นมาโดยเจตนาทุจริต อาศัยเป็นเครื่องมือในการฟอกเงินสำหรับองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ่อค้ายาเสพติด แฮคเกอร์ หรือแม้แต่กระทั่ง “ผู้ก่อการร้าย”

Advertisement

อีกธุรกิจที่ใช้ “บิทคอยน์” หรือคริปโตเคอร์เรนซีอื่นๆอย่างเป็นล่ำเป็นสันก็คือ ธุรกิจการพนันออนไลน์
คริบโตเคอร์เรนซีอย่าง บิทคอยน์, เอเธอเรียม ฯลฯ ล้วนถูกเก็บอยู่ในโลกออนไลน์ ยิ่งมูลค่าของมันถีบตัวสูงมากขึ้นเท่าไหร่ ยิ่งเย้ายวนใจบรรดา “นักเจาะระบบ” ทั้งหลายมากขึ้นเท่านั้น
ในช่วงปีนี้มีบริษัทซื้อขายแลกเปลี่ยนบิทคอยน์ ถูกแฮคไปแล้วนับสิบครั้ง หลายครั้งในจำนวนนั้นกลายเป็นข่าวใหญ่

ครั้งหลังสุดนี้ทำเอาบริษัทสัญชาติเกาหลีใต้รายหนึ่งถึงกับต้องประกาศปิดตัวเองลง หลังจากสูญทรัพย์สินในรูปของบิทคอยน์ไป 17 เปอร์เซ็นต์

คนที่ฝากบิทคอยน์เอาไว้ในบริษัท “ยูบิท” ของเกาหลีใต้ที่ว่านี้ ถูกบังคับให้ยอมรับการชดใช้ที่มูลค่าลดลงมากถึง 75 เปอร์เซ็นต์

Advertisement

ว่ากันว่า หน่วยข่าวกรองเกาหลีใต้เชื่อว่า เกาหลีเหนือเป็นคนลงมือแฮคยูบิท เมื่อกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมานี่เอง ส่วนเกาหลีเหนือจะเอาบิทคอยน์ไปทำอะไร ไม่มีใครรู้ชัด

แต่กรณีการฉกบิทคอยน์ด้วยการแฮคแบบเดียวกันนี้ ทำให้เกิดคดีอื้อฉาวขึ้นคดีหนึ่งเมื่อปี 2014 ที่ผ่านมา
คดีนั้นกลายเป็น “คดีตัวอย่าง” สำหรับไว้เตือนใจใครก็ตามที่อยากลงทุนกับบิทคอยน์

เขาเรียกคดีนั้นกันง่ายๆว่าคดี “เมาท์ ก็อกซ์” ตามชื่อบริษัทซื้อขายแลกเปลี่ยนบิทคอยน์ที่ล้มทั้งยืนในปีนั้นครับ

******

คดีล้มละลายของบริษัท “เมาท์ ก็อกซ์” เมื่อต้นปี 2014 เป็นคดีใหญ่ สาเหตุหนึ่งมาจากการที่ “เมาท์ ก็อกซ์” (Mt. Gox) คือบริษัทผู้ให้บริการซื้่อขายแลกเปลี่ยน บิทคอยน์ ที่ “ใหญ่ที่สุดในโลก” ในเวลานั้น ว่ากันว่า การไหลเวียนของบิทคอยน์ราว 41 เปอร์เซ็นต์ของทั้งโลก เป็นการดำเนินการผ่านบริษัทแห่งนี้

ลูกค้าของ เมาท์ ก็อกซ์ มีทั้งรายเล็กรายน้อยและรายใหญ่ มีทั้งในสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฯลฯ เรียกได้ว่ามีอยู่ทั่วโลกก็ว่าได้

ตอนที่เมาท์ ก็อกซ์ ยื่นขอพิทักษ์ทรัพย์ต่อศาลล้มละลายของญี่ปุ่นนั้น มีจำนวนลูกค้าอยู่มากกว่า 24,000 ราย รวมมูลค่าความเสียหาย 650,000 บิทคอยน์ คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนบิทคอยน์เมื่อตอนต้นปี 2014 อยู่ที่ 483 ดอลลาร์ต่อบิทคอยน์ ก็อยู่ที่ 313.9 ล้านดอลลาร์

แต่ถ้าคิดเป็นมูลค่าในปัจจุบัน (ณ วันที่ 19 ธันวาคม) ที่ 1 บิทคอยน์เท่ากับ 18,000 ดอลลาร์แล้วละก็ มูลค่าความเสียหายทั้งหมดปาเข้าไปเป็น 11,700 ล้านดอลลาร์

ตอนนี้บรรดาลูกค้าได้แต่ทำตาปริบๆ มองมูลค่าบิทคอยน์ที่วิ่งขึ้นไม่หยุดให้ปวดใจเล่น ยังไม่มีปัญญาเรียกเงินคืนได้แม้แต่สักสตางค์แดงจาก เมาท์ ก็อกซ์

ทั้งหมดไม่ได้เกิดขึ้นจากการแฮคเพียงครั้งเดียว แต่เป็นการแฮคซ้ำๆ หลายครั้ง ตั้งแต่ปี 2011 เรื่อยมาจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2014 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ เมาท์ ก็อกซ์ พบ “ความเคลื่อนไหวผิดปกติ” และระงับการถอนบิทคอยน์

ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น มีบริษัทซื้อขายแลกเปลี่ยนบิทคอยน์ ถูกฉกเงินทำนองเดียวกันนี้รวมกว่า 980,000 บิทคอยน์ 2 ใน 3 ของจำนวนดังกล่าวเป็นของ เมาท์ ก็อกซ์

“เมาท์ ก็อกซ์” ก่อตั้งโดย เจด แม็คคาเล็บ วิศวกรซอฟท์แวร์ชาวอเมริกันเมื่อปี 2010 เดิมที่แค่เป็นสถานที่ออนไลน์สำหรับซื้อขายการ์ดเกมออนไลน์เท่านั้น เดือนกุมภาพันธ์ 2011 แม็คคาเล็บ เกิดเบื่อขึ้นมาก็เลยยก เมาท์ ก็อกซ์ ให้เป็นของ มาร์ก คาร์เปลเลส์ วิศวกรซอฟท์แวร์ ชาวฝรั่งเศสวัย 32 ปี ซึ่งเป็นเจ้าของและผู้ก่อตั้งบริษัทจดทะเบียนในญี่ปุ่นชื่อ ทิบันเนะ ที่ให้บริการเว็บ โฮสติ้ง และการพัฒนาเว็บไซต์
เมาท์ ก็อกซ์ เลยเป็นส่วนหนึ่งของ ทิบันเนะ

โดยที่ คาร์เปลเลส์ ในนามของ ทิบันเนะ ถือหุ้นอยู่ในเมาท์ ก็อกซ์ 88 เปอร์เซ็นต์ อีก 12 เปอร์เซ็นต์ แบ่งคืนให้กับ แม็คคาเล็บ ผู้ก่อตั้งเริ่มแรก

นั่นคือเหตุผลที่ เมาท์ ก็อกซ์ ยื่นล้มละลายต่อศาลญี่ปุ่น และตามกฎหมายล้มละลายของญี่ปุ่น มูลค่าทรัพย์สินส่วนเกินจากการขายทอดตลาด ต้องชดใช้ “เจ้าหนี้” ก่อนเป็นลำดับแรก หลังจากนั้นจึงเป็นของ “ผู้ถือหุ้น” สุดท้ายจึงเป็นของ “ลูกค้า”

ดังนั้นไม่ว่ามูลค่าบิทคอยน์ที่เหลืออยู่ของ เมาท์ก็อกซ์ จะเป็นเท่าใด ก็ยากที่จะเหลือถึงมือลูกค้าทั้งหลาย

******

ทั้งหมดนั่นเป็นเพียงแง่มุมเดียวของคดีเมาท์ ก็อกซ์ ที่อยู่ในมือของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์ที่ศาลญี่ปุ่นแต่งตั้ง เพราะในคดีนี้ยังมีคดีอื่นๆ ในประเทศอื่นๆ ซ้อนอยู่ เป็นคดีที่มีการฟ้องร้องพัวพันกันมาก่อนหน้า ครอบคลุมเขตอำนาจศาลถึง 4 ประเทศ รวมทั้ง ญี่ปุ่น, นิวซีแลนด์ และสหรัฐอเมริกา

เป็นคดีซ้อนคดี เหมือนตุ๊กตารัสเซีย ที่มีตุ๊กตาตัวเล็กกว่าซ้อนอยู่ภายในเป็นชั้นๆ

ยังมีการล้มละลายในการล้มละลาย ตัวอย่างเช่น “บิทคอยนิกา” บริษัทซื้อขายแลกเปลี่ยนในนิวซีแลนด์ ที่ล้มละลายไปเมื่อปี 2012 เพราะถูกฉกบิทคอยน์เช่นเดียวกัน ถือว่าตัวเองเป็นเจ้าหนี้ของ เมาท์ ก็อกซ์ เพราะนำเอาบิทคอยน์มาฝากไว้ที่ เมาท์ ก็อกซ์ รวม 25,000 บิทคอยน์ ตีเป็นมูลค่าโดยเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์ของญี่ปุ่นอยู่ที่ 29 ล้านดอลลาร์ เป็นต้น

คดีเมาท์ ก็อกซ์ จึงสลับซับซ้อนและกินเวลายาวนาน ชนิดไม่รู้ว่าจะจบสิ้นเมื่อใดและคาดเดายากมากว่าจะลงเอยอย่างไร

คิม นิลส์สัน นักพัฒนาซอฟท์แวร์สวีดิช ที่เป็นหนึ่งในลูกค้าของ เมาท์ ก็อกซ์ เห็นคดีแล้วอ่อนใจ ยอมรับว่าคงยืดยาวไปอีกหลายปี

ที่สำคัญคือนิลส์สันระบุว่า ด้วยธรรมชาติของบิทคอยน์ ทำให้คดีนี้เหมือนอยู่ใน “ทไวไลท์โซนทางกฎหมาย” อีกต่างหาก

ส่วนที่สำคัญที่สุดของคดีนี้ก็คือ มาร์ก คาร์เปลเลส์ กำลังถูกทางการญี่ปุ่นดำเนินคดีอาญา กล่าวหาว่า เป็นผู้ยักยอกเงินของเมาท์ ก็อกซ์ และบิดเบือนข้อมูล ทั้งยังล่วงละเมิดความไว้วางใจของลูกค้าผู้ใช้บริการ
ฟังดูเหมือนกับว่า ทางการญี่ปุ่นไม่เชื่อว่า เมาท์ ก็อกซ์ ถูกแฮคเกอร์เจาะระบบ แต่เป็นตัวการในการ “ยักยอก” เสียเองยังไงก็ไม่รู้

******

ความคืบหน้าที่มากที่สุดของคดีเมาท์ ก็อกซ์นี้ เกิดขึ้นที่ประเทศกรีซ เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมปีนี้ กว่า 3 ปีหลังจากเมาท์ ก็อกซ์ ล้มละลาย นั่นคือการจับกุมตัว อเล็กซานเดอร์ วินนิค ชายชาวรัสเซียวัย 37 ปี ได้ที่หมู่บ้านริมทะเล ทางตอนเหนือของประเทศกรีซ

วินนิค เป็นเจ้าของและผู้บริหารงานบริษัทแลกเปลี่ยนบิทคอยน์ชื่อ “บีทีซี-อี” และ “เทรดฮิล” ซึ่งถูกกล่าวหาว่า วินนิค ใช้เป็นแหล่งฟอกเงินสำหรับบรรดาแฮคเกอร์, แก๊งปลอมบัตร, แก๊งค้ายาเสพติด รวมไปถึงการหลีกเลี่ยงภาษีและฟอกเงินจากการคอร์รัปชั่นอีกด้วย รวมแล้วเป็นมูลค่ากว่า 4,000 ล้านดอลลาร์
เจ้าหน้าที่อเมริกันซึ่งเป็นผู้แจ้งเบาะแส (และกดดัน) ให้ตำรวจกรีซจับกุมวินนิค ระบุว่า วินนิค คือคนที่รับเงินที่ได้จากเมาท์ ก็อกซ์ ไปฟอกอีกด้วย

แต่จนถึงขณะนี้ วินนิค ยังคงยืนกราน (ผ่านทนาย) ว่า ไม่รู้ไม่เห็นเรื่องเมาท์ ก็อกซ์ แต่อย่างใดทั้งสิ้น
รายงานของรอยเตอร์ เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา สรุปความกรณีเมาท์ ก็อกซ์ ไว้ได้อย่างยอดเยี่ยมว่า นี่คือตัวอย่างที่ดีที่สุดกรณีหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงอันตรายของการลงทุนใน คริปโตเคอร์เรนซี จะหาดีกว่านี้คงยากแล้ว

รอยเตอร์ บอกว่า บรรดาบริษัทซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินดิจิทัลทั้งหลาย อันเป็นที่ซึ่งบรรดาเงินเสมือนจริงเหล่านี้ถูกเก็บไว้ ถูกซื้อ หรือถูกขาย นั้นส่วนใหญ่แล้วไม่ได้อยู่ภายใต้ข้อกำหนดกฏเกณฑ์ใดๆ เลยทำให้กลายเป็นเหมือนแม่เหล็กดึงดูดเอาบรรดาแฮคเกอร์, นักฉ้อฉลและพวกต้มตุ๋นหลอกลวงทั้งหลายเข้าไปอยู่ในนั้น
ในปีนี้มีบริษัททำนองนี้ปิดตัวไปแล้วอย่างน้อย 10 บริษัท ส่วนใหญ่มักอ้างถึงการถูกฉกเงินดิจิทัล
แล้วปล่อยให้บรรดาลูกค้านั่งอ้าปากค้าง มองดูทรัพย์สินระเหิดหายกลายเป็นไอไปในชั่วพริบตาทั้งสิ้น

******

ถามว่า หลังจากเมาท์ ก็อกซ์ แล้ว เทรด เอกซ์เชนจ์ ไหนใหญ่โตที่สุดในโลกในปี 2017 นี้ คำตอบก็คือ “บิทฟิเน็กซ์” ที่จดทะเบียนในฮ่องกงและไต้หวันครับ

“บิทฟิเน็กซ์” อ้างเอาไว้ในเว็บไซต์ตนเองว่า นี่คือแพลทฟอร์มซื้อขายแลกแเปลี่ยนบิทคอยน์ “ที่ใหญ่ที่สุดและก้าวหน้าที่สุดในโลก” ครองตลาดไล่เรี่ยกับ เมาท์ ก็อกซ์ คือราว 41.7 เปอร์เซ็นต์ของการไหลเวียนบิทคอยน์ทั่วโลก (อันดับ 2 คือ “คอยน์เบส” ในสหรัฐอเมริกา ครองตลาดอยู่ 25.8 เปอร์เซ็นต์)

แต่ถึงจะ “ก้าวหน้า” ยังไงก็ยังโดนแฮค ปี 2015 ครั้งหนึ่ง โดนไป 1,500 บิทคอยน์ ปีที่แล้วอีกคิดเป็นมูลค่าราว 72 ล้านดอลลาร์

ที่ตกเป็นข่าวก็คือ “บิทฟิเน็กซ์” กดดันให้ลูกค้ายอมลดมูลค่าบิทคอยน์ของตัวเองลงเหลือ 75 เปอร์เซ็นต์เพื่อชดเชยส่วนที่เสียหายไป

แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นเดียวที่ทำให้ “บิทฟิเน็กซ์” ตกเป็นข่าวคราวมากมายในระยะหลังนี้ ถึงขนาด “บลูมเบิร์ก” ต้องจั่วหัวว่า นี่คือ “สัญญาณเตือน” ถึงอันตรายของบิทคอยน์เอกซ์เชนจ์

เรื่องนี้เป็นข่าวใหญ่ขึ้นมาในแวดวง เพราะเอกสารชุดล่าสุดที่เครือข่ายผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนนานาชาติ (ไอซีไอเจ) ซึ่งเรียกกันว่า พาราไดส์ เปเปอร์ เผยแพร่ออกมาเมื่อไม่นานมานี้แสดงให้เห็นว่า ผู้บริหารของ “บิทฟิเน็กซ์” กับ “ทีเธอร์” แทบจะเป็นชุดเดียวกัน

บริษัททีเธอร์ เป็นเจ้าของเงินดิจิทัลสกุล ทีเธอร์ ซึ่งแปลกกว่าชาวบ้านเขาตรงที่กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนไว้ตายตัวที่ 1:1 กับเงินดอลลาร์ โดยอ้างว่าเขาสร้างเงินทีเธอร์ขึ้นมาจากทุนสำรองที่มีอยู่ในบัญชี

ปัญหาก็คือ ตอนนี้มีทีเธอร์อยู่ในตลาดราว 814 ล้านทีเธอร์แล้ว ดังนั้นบริษัทก็ต้องมีเงินในบัญชีอยู่ 814 ล้านดอลลาร์ เป็นอย่างน้อย แต่ไม่สามารถแสดงหลักฐานที่น่าเชื่อถือออกมาให้เห็นได้

หลายคนเลยตั้งข้อกังขา กล่าวหากันออกมาดังๆว่า ถ้าอย่างนั้นแล้ว “บิทฟิเน็กซ์” สร้าง “ทีเธอร์” ขึ้นมาเพื่ออะไร ถ้าไม่ใช่เป็นเพราะต้องการ “ปั้นอากาศให้เป็นเงิน” แล้วนำเงินที่ว่านั้นมา “ปั่น” มูลค่าของ “บิทคอยน์” เล่น

แน่นอนว่า “บิทฟิเน็กซ์” ต้องออกมาปฏิเสธเสียงแข็งว่าไม่เกี่ยวข้องกันและขู่จะฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้กล่าวหาตน

แต่คนวงในหลายคนเริ่มพูดกันแล้วว่า กระแสพุ่งทะยานของบิทคอยน์ในปีนี้ เป็นผลมาจากการ “ปั่น” ด้วยเหตุผลที่ว่า “ปั่นเงินดิจิทัล” นั้นง่ายกว่าปั่นหุ้นหลายเท่านัก

แม้แต่ เอมิน กุน ไซเรอร์ ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ที่มหาวิทยาลัยคอร์เนล ซึ่งได้ชื่อว่าแม่นนักหนาในการคาดการณ์ปัญหาในอุตสาหกรรมเงินตราเสมือน ก็อดแสดงความกังวลไม่ได้ว่า
คราวนี้ถ้าพังอาจไม่ใช่บริษัทพังอย่างเดียว แต่อาจพานดึงเอาทั้่งระบบพังตามไปด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image