คอลัมน์ Think Tank : ทำให้เงินดอลลาร์อ่อน วาระซ่อนเร้นของ‘เฟด’?

Alex Wong/AFP

การปรับลดคาดการณ์การขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคตเมื่อสัปดาห์ที่แล้วของกองทุนสำรองแห่งรัฐหรือธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์ต่ำลง บางทีอาจเป็นความต้องการเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดที่เกิดขึ้นจากการกระทบกระทั่งกันของนโยบายทางการเงิน

นักธุรกิจและนักลงทุนต่างประหลาดใจตอนที่เฟดประกาศเมื่อวันที่ 16 มีนาคมที่ผ่านมาว่า จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้งในปี 2559 แค่ครึ่งหนึ่งของที่เฟดตั้งใจไว้เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว นับเป็นจุดยืนที่ปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมมากขึ้นในการกำหนดนโยบายหลังพ้นช่วงวิกฤต

โจเอล นารอฟ แห่งบริษัทที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจนารอฟบอกว่า การที่คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด (เอฟโอเอ็มซี) ตัดสินใจลดจำนวนครั้งการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนั้น “ชัดเจนว่าประเด็นทางเศรษฐกิจที่พวกเขากังวล ต้องไม่ใช่ความอ่อนแอของเศรษฐกิจสหรัฐ”

ในขณะที่เน้นย้ำถึงมุมมองที่เป็นบวกต่อเศรษฐกิจสหรัฐ เฟดยังอ้าง “ความเสี่ยง” กว้างๆ จากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และความวุ่นวายในตลาดการเงิน

Advertisement

นักวิเคราะห์และนักเศรษฐศาสตร์บางส่วนตีความภาษาของเฟดว่า เป็นความพยายามที่จะควบคุมการแข็งค่าของดอลลาร์เมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่น การแข็งค่าของดอลลาร์ทำให้ราคานำเข้าลดลง และกระตุ้นให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงิน

อัตราดอกเบี้ยในสหรัฐอยู่ในช่วงขาขึ้น ซึ่งดึงดูดนักลงทุนที่เสาะหาผลตอบแทนที่สูงกว่า และเป็นการส่งเสริมให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้น

สิ่งนี้เป็นไปในทางตรงข้ามสำหรับธนาคารกลางแห่งอื่นๆ อาทิ ในยูโรโซนและญี่ปุ่น ที่ทางการพยายามมากเป็น 2 เท่าที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจที่เซื่องซึม

Advertisement

ความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงของนโยบายการเงินระหว่างอัตราดอกเบี้ยแบบติดลบด้านหนึ่ง และความเป็นไปได้ที่จะมีการปรับขึ้นในอีกด้านหนึ่ง ได้ส่งเสริมความน่าดึงดูดของเงินดอลลาร์มาตลอดปี 2558

เงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นเกือบ 10 เปอร์เซ็นต์เมื่อปีที่แล้วเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นในตะกร้าเงิน กลับอ่อนค่าลงเกือบ 3 เปอร์เซ็นต์นับตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคมเป็นต้นมา

สำหรับนักเศรษฐศาสตร์ของสำนักวิจัยบาร์เคลย์ส “เฟดตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงสภาวะทางการเงินมากขึ้น” และถ้ามากเกินไปจะนำไปสู่ “ความตีบตันทางนโยบาย”

นางเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟดยอมรับเรื่องความสำคัญของค่าเงินดอลลาร์ในการกำหนดนโยบายในการแถลงข่าวหลังการประชุมเอฟโอเอ็มซีเมื่อ 16 มีนาคมที่ผ่านมา โดยบอกว่า “การเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนเป็นปัจจัยที่ทุกประเทศต้องคำนึงถึงในการตัดสินใจเรื่องจุดยืนที่เหมาะสมในการกำหนดนโยบายการเงิน”

บางส่วนไปไกลยิ่งกว่านั้น โดยมองว่าทัศนคติระแวดระวังมากขึ้นของเฟดสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของกลุ่มประเทศจี 20 ที่ต้องการฉุดให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง

อย่างไรก็ตาม จูเลียน เจสซอป แห่งแคปิตอลอีโคโนมิคส์ ชี้ว่า มุมมองแบบพิราบของเฟด จะค่อยๆ หายไปหากแรงกดดันเงินเฟ้อก่อตัวขึ้น บีบบังคับให้เฟดต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและปล่อยให้เงินดอลลาร์แข็งค่าในท้ายที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image