“ทรัมป์-คิม” บุคคลแห่งปีที่สั่นคลอนระเบียบโลก

(AFP Photo/SAUL LOEB, Ed JONES)

ช่วงหลายปีที่ผ่านมาโลกผ่านร้อนผ่านหนาวกับเรื่องราวมากมาย มากเกินกว่าที่ใครคนใดคนหนึ่งจะได้รับการยกย่องในฐานะบุคคลสำคัญแห่งปี

ในปีนี้ “ไทม์” นิตยสารชื่อดังของสหรัฐเลือกให้ “กลุ่มผู้หญิง” ที่ลุกขึ้นมาเปิดเผยประสบการณ์การถูกคุกคามทางเพศที่กลายเป็นการรณรงค์ระดับโลกอย่าง #MeToo ให้เป็นบุคคลแห่งปีประจำปีนี้ไปครอง

ขณะที่ “รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ” สาขาที่เป็นที่จับตามองที่สุดในปีนี้ตกเป็นของ “กลุ่มรณรงค์การยกเลิกอาวุธนิวเคลียร์นานาชาติ” หรือ “ไอแคน”กลุ่มองค์กรเอกชนหลายร้อยองค์กรที่มีจุดมุ่งหมายให้มีการร่างและบังคับใช้สนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ของสหประชาชาติ ซึ่ง 122 ประเทศได้ลงนามสนับสนุนสนธิสัญญานี้ไปเมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา ขณะที่สหรัฐเป็น 1 ในหลายชาติที่ไม่ร่วมเจรจาในสนธิสัญญาดังกล่าว

ในปี 2560 นี้นับเป็นปีแรกของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐ ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นผู้ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงระเบียบการเมืองโลกไปอย่างมโหฬาร ภายใต้นโยบาย “อเมริกามาก่อน” กับสารพัดการดำเนินนโยบายที่ทำให้โลกหวาดผวาได้ไม่ยากนัก

Advertisement

หลังได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งและเตรียมเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอย่างเป็นทางการ “ทรัมป์” ผู้นำวัย 71 ปี แหวกม่านประเพณีทางการเมืองระหว่างประเทศ ด้วยการรับสายแสดงความยินดีจาก “ไช่ อิง เหวิน” ประธานาธิบดีไต้หวันคนใหม่ สร้างความไม่พอใจให้กับทางการจีนที่ถือว่าไต้หวันนั้นเป็นส่วนหนึ่งของจีน ขณะที่สหรัฐเองก็ไม่ได้มีความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับไต้หวันแต่อย่างใด

23 มกราคม วันแรกในฐานะประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการ “ทรัมป์” ประกาศให้สหรัฐถอนตัวออกจาก “ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก” หรือทีพีพี ข้อตกลงการค้าขนาดใหญ่ที่ บารัค โอบามา อดีตประธานาธิบดี ร่วมเจรจาผลักดันมาก่อนหน้านี้ และนั่นก็คือส่วนหนึ่งของนโยบายรักษาผลประโยชน์ของทรัมป์ที่ส่งผลสะเทือนต่อระบบข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศแบบพหุภาคี ซึ่งมีองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) เป็นผู้กำกับดูแล

นโยบาย “อเมริกามาก่อน” ทำงานอีกครั้งในสัปดาห์แรกของการดำรงตำแหน่ง เมื่อทรัมป์ประกาศนโยบายห้ามประชาชนจาก 8 ประเทศในจำนวนนี้ 6 ประเทศเป็นประเทศมุสลิม เดินทางเข้าสหรัฐด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง นโยบายซึ่งถูกศาลสหรัฐขัดขวางหลายครั้งจนกระทั่งได้รับการอนุมัติให้ดำเนินการได้กับอิหร่าน ลิเบีย ซีเรีย เยเมน โซมาเลีย และชาด แน่นอนว่านโยบายดังกล่าวสร้างความไม่พอใจให้กับประชาคมโลกที่มองว่าเป็นนโยบายที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนครั้งใหญ่

Advertisement

นโยบายของทรัมป์ สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับประชาคมโลกอีกครั้งในเดือนมิถุนายน เมื่อสหรัฐถอนตัวออกจาก “ข้อตกลงปารีส” ข้อตกลงว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกือบ 200 ประเทศลงนาม

เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลดผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม โดยทรัมป์เองที่มีความเห็นโต้แย้งและตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนมาก่อนหน้านี้ ระบุว่า สหรัฐต้องการเจรจาข้อตกลงใหม่ที่ “เป็นธรรม” ต่อสหรัฐมากกว่าที่เป็นอยู่ ย่างก้าวของสหรัฐเรียกเสียงประณามจากชาติต่างๆ ทั่วโลก

อีกหนึ่งการดำเนินนโยบายที่สั่นสะเทือนสันติภาพในภูมิภาคตะวันออกกลางคือการประกาศรับรอง “นครเยรูซาเลม” เมืองศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นข้อพิพาทระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์มาอย่างยาวนาน ให้เป็นเมืองหลวงของอิสราเอล ประเทศพันธมิตรสำคัญของสหรัฐอย่างเป็นทางการ ในช่วงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา และประกาศเตรียมย้ายสถานทูตสหรัฐจากกรุงเทลอาวีฟไปยังนครเยรูซาเลมในเร็วๆ นี้

การดำเนินนโยบายดังกล่าวซึ่งทรัมป์อ้างว่าเป็นไปตามคำมั่นที่ให้ไว้ระหว่างการหาเสียง สร้างความไม่พอใจให้กับชาติมุสลิมทั่วโลก และส่งผลให้ 128 ชาติสมาชิกสหประชาชาติ ลงนามปฏิเสธการประกาศรับรองดังกล่าวของสหรัฐ

ไม่เพียงโดนัลด์ ทรัมป์ เท่านั้นที่สั่นสะเทือนระเบียบแบบแผนของโลก แน่นอนว่า อีกหนึ่งตัวแทนฟากฝั่งตะวันออกต้องมีชื่อของ “คิม จอง อึน” ผู้นำสูงสุดเกาหลีเหนือ อย่างปฏิเสธไม่ได้

เบื้องหลังใบหน้ายิ้มแย้มและเป็นมิตรของผู้นำเกาหลีเหนือวัย 34 ปี ที่เผยแพร่ผ่านภาพของสำนักข่าวกลางเกาหลี ตลอดหลายปีที่ผ่านมา คือผู้นำที่สั่งการให้เดินหน้าโครงการพัฒนาขีปนาวุธข้ามทวีป รวมถึงพัฒนาอานุภาพหัวรบนิวเคลียร์ ที่สร้างความหวาดผวาให้กับโลกอย่างแท้จริงในปี 2560 นี้

ไม่กี่ปีก่อนหน้า โครงการอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธของชาติอันโดดเดี่ยวยังถูกมองว่าเป็น “เรื่องตลก” เนื่องจากเป็นโครงการซึ่งขึ้นชื่อเรื่องความผิดพลาดมากกว่าที่จะเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของโลก

ทว่าเวลานี้สถานการณ์เปลี่ยนไป การทดสอบขีปนาวุธ 16 ครั้ง และการทดสอบนิวเคลียร์ 1 ครั้ง ของเกาหลีเหนือในปีนี้สร้างความหวาดผวาให้กับโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งศัตรู อันดับ 1 ของเกาหลีเหนืออย่างสหรัฐอเมริกา

การทดสอบนิวเคลียร์เมื่อวันที่ 3 กันยายนที่ผ่านมาเป็นการทดสอบที่ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกเห็นตรงกันว่าเป็นการระเบิดที่รุนแรงที่สุดเท่าที่เคยมีมา รุนแรงเทียบได้กับระเบิดปรมาณูที่สหรัฐทิ้งใส่เมืองฮิโรชิมาในปี 2488 รวมกันถึง 17 ลูก หรืออาจเรียกได้ว่าเกาหลีเหนือสามารถพัฒนาระเบิดไฮโดรเจนหรือ “เอช-บอมบ์” ได้สำเร็จแล้ว

โครงการพัฒนาขีปนาวุธของเกาหลีเหนือก็ก้าวหน้าไปมากในปีนี้ จากเดิมขีปนาวุธ “มูซูดาน” ที่ไร้ความแม่นยำและมีระยะยิงเพียง 4,000 กิโลเมตร ในปีนี้ ขีปนาวุธ

“ฮวาซอง-15” ถูกยิงขึ้นไปในอากาศยาวนาน 54 นาที มีการคาดการณ์ว่าจะสามารถทำระยะได้ถึง 13,000 กิโลเมตร เป็นขีปนาวุธข้ามทวีป (ไอซีบีเอ็ม) ที่สามารถสร้างภัยคุกคามให้กับสหรัฐได้อย่างแท้จริงแล้วในเวลานี้

อย่างไรก็ตาม ไม่ชัดเจนว่าเกาหลีเหนือสามารถ “ลดขนาด” หัวรบนิวเคลียร์สำหรับติดตั้งบนขีปนาวุธชนิดใหม่นี้ได้แล้วหรือยัง แต่ผู้เชี่ยวชาญคาดว่าเกาหลีเหนือจะไปถึงจุดนั้นได้ในเวลาไม่นานนัก

บทบาทของผู้นำสหรัฐและเกาหลีเหนือในช่วงปีที่ผ่านมาอาจสร้างแรงสั่นสะเทือนต่อสันติภาพโลกในระดับหนึ่ง แต่เมื่อ “ทรัมป์” และ “คิม” เปิดสงครามน้ำลายเข้าใส่กัน ส่งผลให้ความกังวลที่อาจเกิดสงครามปะทุขึ้นอีกครั้งเพิ่มสูงขึ้นถึงขีดสุด

อีกหนึ่งผลงานของทรัมป์ ในการบ่อนทำลายความพยายามทางการทูตของ เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ นั่นก็คือการยั่วยุด้วยคำพูดก้าวร้าวที่พุ่งเป้าไปที่เกาหลีเหนืออย่างตรงไปตรงมา

ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา “ทรัมป์” ประกาศโจมตีเกาหลีเหนือด้วย “ไฟและความเดือดดาล” ด้านเกาหลีเหนือตอบโต้ด้วยคำขู่โจมตีเกาะกวม ของสหรัฐ

1 เดือนต่อมา ทรัมป์ขู่อีกครั้งว่าจะทำลายเกาหลีเหนือทั้งประเทศ หากถูกเกาหลีเหนือยั่วยุ พร้อมประกาศกลางที่ประชุมสหประชาชาติว่า “มนุษย์จรวดกำลังทำภารกิจฆ่าตัวตายให้กับตัวเองและระบอบปกครองของตนเอง”

ด้านคิม จอง อึน ตอบโต้ผ่านแถลงการณ์ด้วยตัวเองที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก โดยกล่าวถึงทรัมป์ว่าเป็น “ผู้ทำลายล้าง” และเป็น “คนแก่เลอะเลือน”

สงครามน้ำลายดังกล่าวส่งผลให้ผู้เชี่ยวชาญการเมืองระหว่างประเทศห่วงกังวลว่าในปี 2561 ความขัดแย้งดังกล่าวจะส่งผลให้เกิดความไม่แน่นอนทางการเมืองโลกมากขึ้น อาจถึงขั้นขยายวงกลายเป็น “สงครามบนคาบสมุทรเกาหลี”

หรือไม่เช่นนั้นอีกทางหนึ่งก็อาจเป็น “โดนัลด์ ทรัมป์” เองที่ถูกยื่นญัตติถอดถอนออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐก็เป็นได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image