มุมมอง “กันตธีร์ ศุภมงคล” โอกาสไทย ในวิกฤตเกาหลีเหนือ

กันตธีร์ ศุภมงคล

หลังจากการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตรสิ้นสุดลง เพราะการรัฐประหารเมื่อปี 2549 กันตธีร์ ศุภมงคล ตอบรับคำเชิญไปสอนกฎหมายระหว่างประเทศ และการต่างประเทศอยู่ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแองเจลิส (ยูซีแอลเอ) ต่อเนื่องอยู่นาน 6 ปี

ล่าสุด ได้รับเชิญเข้าร่วมเป็นกรรมการใน”แรนด์ คอร์ปอเรชัน” องค์กรวิชาการไม่แสวงหากำไร ชื่อดังของสหรัฐอเมริกา ที่ได้รับการยอมรับจากผลงานการวิจัยและพัฒนาเชิงนโยบายที่เป็น “วาระโลก” ทั้งหลายทั้งในด้านความมั่นคง เศรษฐกิจและการเมือง

ในอดีต เมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ดร.กันตธีร์ เคยเดินทางเยือนเกาหลีเหนือ มีความสัมพันธ์อันดีกับผู้นำระดับสูงของรัฐบาลเปียงยางในเวลานั้น

ในปัจจุบัน ดร.กันตธีร์ เพิ่งนำคณะของแรนด์ เดินทางมาตรวจสอบและเก็บข้อมูลประเด็นร้อนของโลกในเวลานี้อย่าง “วิกฤตคาบสมุทรเกาหลี” ถึงเกาหลีใต้เมื่อ 3 สัปดาห์ก่อน

Advertisement

ข้อมูลและทรรศนะว่าด้วยปัญหาตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลีของอดีตรัฐมนตรีการต่างประเทศผู้นี้จึงน่าสนใจ ชวนให้ใคร่ครวญอย่างยิ่ง

ดร.กันตธีร์ชี้ว่า โดยข้อเท็จจริง เกาหลีเหนือกับสหรัฐอเมริกายังคงอยู่ในสถานะ “คู่สงคราม” กันอยู่ เนื่องจากไม่มีข้อตกลงสันติภาพระหว่างกัน สงครามเกาหลี เมื่อกว่า 60 ปีก่อนยุติลงเพราะทั้งสองฝ่ายมี “ข้อตกลงหยุดยิงชั่วคราว” ระหว่างกันขึ้นเมื่อปี 1953 (พ.ศ.2496) เท่านั้น

ที่ผ่านมาเคยมีความขัดแย้ง มีการปะทะกันขึ้นบ้างเป็นระยะๆ แต่กระบวนการทางการทูตและการปรับท่าทีของทั้งสองฝ่ายช่วยลดระดับความตึงเครียดลง ในขณะเดียวกับที่ในยามนี้มีปัจจัย 2 ประการที่ส่งผลให้ความตึงเครียดพุ่งขึ้นสูง จนเสี่ยงต่อการเกิดสงครามเพราะความเข้าใจผิด หรือการคาดคำนวณผิดพลาดขึ้นได้โดยง่าย

ประการแรกก็คือพัฒนาการของโครงการอาวุธนิวเคลียร์เกาหลีเหนือ รุดหน้าไปได้เร็วเกินคาดหมาย ที่ผ่านมาเกาหลีเหนือพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์อย่างช้าๆ ทำๆ หยุดๆ กระทั่งเมื่อถึงปี 2559 ที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกายังประเมินว่าเกาหลีเหนือจะพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์สำเร็จได้ต้องใช้เวลาอีกไม่ต่ำกว่า 4-5 ปี เอาเข้าจริงเมื่อปีที่แล้วเพียงปีเดียว เกาหลีเหนือไม่เพียงพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์อานุภาพสูงได้สำเร็จเท่านั้น ยังสามารถปรับปรุงศักยภาพของจรวดพิสัยไกลข้ามทวีปได้สำเร็จ จนยอมรับกันว่าสามารถโจมตีเป้าหมายในญี่ปุ่น แม้กระทั่งในสหรัฐอเมริกาได้ อย่าว่าแต่ในเกาหลีใต้เลย

นั่นคือ เหตุปัจจัยอย่างแรก ถัดมา ยังมีการเปลี่ยนแปลงผู้นำในสหรัฐอเมริกา โดนัลด์ ทรัมป์ ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี สไตล์ในการบริหารเปลี่ยนแปลงไป ท่าทีในการตอบสนองต่อพฤติกรรมของเกาหลีเหนือเปลี่ยนไปจากที่เคยเป็นผู้ใหญ่ มีหลักการและเหตุผล กลับเป็นการข่มขู่ตอบโต้ซึ่งกันและกัน กลายเป็นวิวาทะระหว่างประเทศ ซึ่งง่ายต่อการทำให้สถานการณ์ลุกลามได้ ในเวลาเดียวกันยังมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐอเมริกา คิดว่าทางเลือกที่ดีที่สุดในกรณีนี้ก็คือการใช้กำลังทหารจัดการทำลายอาวุธนิวเคลียร์เกาหลีเหนือให้จบสิ้นไปในคราวเดียวอีกด้วย ทำให้สงครามยังคงเป็นทางเลือกที่เป็นไปได้อยู่ต่อไป

“ตอนนี้ยังไม่มีใครประเมินได้ชัดเจนว่าโอกาสที่สงครามจะเกิดขึ้นมีมากน้อยแค่ไหน แต่ยอมรับกันว่าความเสี่ยงนั้นสูงขึ้นมากถึงระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน”

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าสงครามจะเกิดขึ้นแน่ๆ เหตุผลเพราะความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นจากสงครามนั้นมากมายเกินไป

ดร.กันตธีร์ชี้ว่า เกาหลีเหนือไม่จำเป็นต้องใช้นิวเคลียร์ เพียงแค่ระดมยิงจรวด และปืนใหญ่ที่ชุมนุมอยู่เป็นจำนวนมากตามแนวเขตปลอดทหาร ก็สามารถยิงถึงกรุงโซล เมืองหลวงของเกาหลีใต้ ที่อยู่ห่างออกไปเพียงแค่ขับรถ 40 นาที สร้างความสูญเสียให้เกิดขึ้นกับพลเรือนเป็นเรือนหมื่นเรือนแสนได้ในชั่วระยะเวลาไม่นานสงครามจะส่งผลสะเทือนออกไปทั่วโลก ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและความมั่นคง

“ผมยังมั่นใจว่า เรื่องนี้ถึงที่สุดแล้วคงยุติลงบนโต๊ะเจรจา เพราะราคาของสงครามนั้นสูงเกินไป สูญเสียมากเกินไป ไม่มีใครอยากให้เกิดสงคราม”

แม้แต่เกาหลีเหนือก็ไม่ต้องการเป็นผู้เริ่มจุดชนวนสงครามบนคาบสมุทรเกาหลีครั้งใหม่ขึ้นมา

ระหว่างการเยือนเกาหลีใต้ครั้งล่าสุดร่วมกับคณะของแรนด์ คอร์ปอเรชัน ดร.กันตธีร์เล่าว่า ได้รับฟังทรรศนะสำคัญซ้ำๆ ประการหนึ่งจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเกาหลีใต้ นั่นคือ เกาหลีใต้ไม่เชื่อว่าเกาหลีเหนืออยากเริ่มต้นสงคราม

“เกาหลีใต้เชื่อมั่นมากว่า เกาหลีเหนือไม่อยากได้ชื่อว่าเป็นผู้เริ่มสงคราม ด้วยเหตุที่ว่าการทำเช่นนั้นเท่ากับเป็นการฆ่าตัวตายดีๆ นี่เอง”

สงครามหากมีขึ้น ไม่ว่าจะสูญเสียมากน้อยแค่ไหน ต้องจบลงด้วยการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เปลี่ยนแปลงผู้นำในเกาหลีเหนือ คิม จอง อึน ไม่อยากเป็นผู้ริเริ่มการทำลายตัวเองแน่นอน

ในแง่ของกระบวนการทางการทูตเพื่อลดระดับความเสี่ยง ชะลอความร้อนแรงของความตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลีนี่เอง ที่ ดร.กันตธีร์เชื่อว่าเป็นโอกาสดีของไทยหากสามารถแสดงบทบาทเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาโดยสันติได้

“ผมว่าเราอยู่ในจุดที่ดี ที่สามารถแสดงบทบาทในเรื่องนี้ได้ ผมอยากเห็นรัฐบาลหรือกระทรวงการต่างประเทศแสดงบทบาทนำในเรื่องนี้”

ดร.กันตธีร์ชี้ว่า ไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่มีความสัมพันธ์อันดีกับเกาหลีเหนือ ซึ่งมีสถานเอกอัครราชทูตอยู่ในกรุงเทพฯ มีความสัมพันธ์ที่ราบรื่นต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน สามารถใช้เป็นช่องทางในการติดต่อดำเนินการเรื่องนี้ได้ อยู่ในสถานะที่สามารถสื่อสารข้อเท็จจริง ข้อมูลความคิดเห็นต่างๆ เพื่อเพิ่มระดับความเข้าใจซึ่งกันและกันของทั้งสองฝ่ายขึ้นได้ เชื่อว่าเกาหลีเหนือพร้อมรับฟัง

“เราไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะสร้างความเสียหายโดยตรงกับเกาหลีเหนือ แต่ยังเป็นมิตรที่ดีต่อกัน เราสามารถเป็นได้ทั้งตัวกลาง เป็นช่องทาง ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการเข้าใจผิด ป้องกันการคาดคำนวณอีกฝ่ายหนึ่งผิดพลาดขึ้นมาได้”

ดร.กันตธีร์ระบุว่า ประสบการณ์ในฐานะเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนท่าทีระหว่างโลกตะวันตกกับเกาหลีเหนือ เมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่ง ที่กลายเป็นอิทธิพลทางอ้อมให้เกิดการเจรจา 6 ฝ่ายเพื่อแก้ปัญหานิวเคลียร์เกาหลีเหนือในอดีต ทำให้ ดร.กันตธีร์

เชื่อว่าการแสดงบทบาทดังกล่าวนี้ยังสามารถส่งผลในการยกระดับไทยในสายตาประเทศที่ทรงอิทธิพลบนเวทีโลกได้อีกด้วย

“ตอนแรกพวกเขาแปลกใจว่า ประเทศเล็กๆ อย่างไทยสนใจเรื่องที่เป็นปัญหาระดับนานาชาติ ระดับโลกด้วยหรือ แต่ก็เล็งเห็นประโยชน์จากการทำหน้าที่ของเรา คอนโดลีซซา ไรซ์ (อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกา สมัยประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู. บุช) ถึงกับขอให้ผมรอพบหารือเรื่องเกาหลีเหนือเป็นการเฉพาะ หลังเสร็จสิ้นการพบปะระดับรัฐมนตรีระหว่างสหรัฐกับอาเซียน ที่จัดขึ้นคู่ขนานกับการประชุมสมัชชาสหประชาชาติเป็นประจำในปีนั้น”

นอกเหนือจากการดำเนินการเองแล้ว ไทยยังสามารถอาศัยเวทีสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เพื่อแสดงบทบาทในเรื่องนี้ โดยเฉพาะในส่วนของการประชุมว่าด้วยความร่วมมือด้านความมั่นคงแห่งภูมิภาค หรือเออาร์เอฟ ที่มีตัวแทนระดับสูงของการประชุม 6 ฝ่ายเข้าร่วมอยู่ด้วย ทั้งยังสามารถขอให้ประธาน

เออาร์เอฟ ซึ่งก็คือประธานอาเซียนในแต่ละปี ทำหน้าที่เป็นผู้ไกล่เกลี่ยในปัญหานี้ได้

ข้อสังเกตของ ดร.กันตธีร์ ก็คือ ตัวแทนของเกาหลีเหนือและอีก 5 ฝ่ายในการประชุมเออาร์เอฟนั้น เป็นเจ้าหน้าที่ในระดับรัฐมนตรี ซึ่งสูงกว่าตัวแทนในการเจรจา 6 ฝ่าย หรือตัวแทนที่ได้รับมอบหมายให้เข้าเจรจากับผู้แทนพิเศษของสหประชาชาติ ที่เพิ่งเดินทางไปเยือนเกาหลีเหนือเมื่อเร็วๆ นี้ ด้วยซ้ำไป

ดร.กันตธีร์ชี้ให้เห็นด้วยว่า มุน แจ อิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้เองเพิ่งเริ่มต้นสร้างบรรยากาศที่ดีขึ้น ด้วยการแสดงท่าทีเจรจาโดยตรงกับเกาหลีเหนือเพื่อให้รวมทีมนักกีฬาของ 2 เกาหลีเข้าด้วยกันในการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ฤดูหนาวที่เกาหลีใต้จะเป็นเจ้าภาพ

ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับมิติทางการทูตที่จะดำเนินต่อไปในอนาคต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image