คอลัมน์ แกะรอยต่างแดน : ห้องสมุดหนังสือที่ถูกทิ้ง ที่กรุงอังการา

ที่โรงงานเก่าทิ้งร้างแห่งหนึ่ง ในเขตชานคายา กรุงอังการา ประเทศตุรกี ภายในถูกดัดแปลงให้กลายเป็น “ห้องสมุด” ซึ่งเกิดขึ้นโดยฝีมือของ “คนเก็บขยะ” และหนังสือที่อยู่ในห้องสมุด ก็เป็นหนังสือที่ถูกทิ้งเกือบทั้งสิ้น

ห้องสมุดแห่งนี้ เกิดขึ้นจากการที่กลุ่มคนเก็บขยะกลุ่มหนึ่ง เริ่มเก็บรวบรวมหนังสือที่ถูกทิ้งอยู่ตามถังขยะ มารวบรวมเก็บเอาไว้ ด้วยความเสียดาย จึงนำมาเก็บไว้ที่โรงงานร้าง กลายเป็นห้องสมุดเล็กๆ

ผ่านไปหลายเดือนเข้า ผู้คนที่รู้เรื่องเกี่ยวกับหนังสือขยะ ก็พากันบริจาคหนังสือให้กับคนเก็บขยะกลุ่มนี้ เพื่อนำมาไว้ในห้องสมุด ที่แรกเริ่มเดิมที ก็มีเพียงคนเก็บขยะและสมาชิกคนในครอบครัวของคนเก็บขยะเท่านั้น ที่ไปใช้บริการ

แต่เมื่อหนังสือเริ่มเยอะขึ้น และข่าวเริ่มกระจายไปสู่คนในชุมชนมากขึ้น ห้องสมุดก็เลยเปิดกว้างให้คนทั่วไปได้เข้าไปใช้บริการกัน ตั้งแต่เดือนกันยายนปีที่ผ่านมา

Advertisement

นายอัลแพร์ ทาสเดเลน นายกเทศมนตรีเขตชานคายา บอกว่า ได้มีการเริ่มหารือกันเกี่ยวกับการสร้างห้องสมุดจากหนังสือเหล่านี้ เมื่อทุกคนให้การสนับสนุน โครงการก็เริ่มขึ้น

ปัจจุบัน ห้องสมุดแห่งนี้มีหนังสืออยู่ทั้งหมด 6,000 กว่าเล่ม มีตั้งแต่งานวรรณกรรม ไปจนถึงหนังสือประเภทสารคดี นอกจากนี้ ก็ยังมีส่วนที่ได้รับความนิยมอย่างมาก คือส่วนของหนังสือเด็ก ที่มีหนังสือการ์ตูนให้เด็กๆได้อ่าน รวมไปถึงส่วนที่เต็มไปด้วยหนังสือที่เกี่ยวกับงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์

หนังสือก็จะมีทั้งภาษาอังกฤษ และภาษาฝรั่งเศส ที่จะให้คนอ่านสามารถยืมออกไปอ่านได้ 2 สัปดาห์ หรือมากกว่านั้นก็แล้วแต่ความต้องการ

Advertisement

ตอนนี้ ยังมีโครงการขยายออกไป นอกเหนือจากให้ผู้คนเข้ามาอ่านหรือยืมหนังสือได้ที่ห้องสมุดแห่งนี้แล้ว ก็ยังมีโครงการ นำหนังสือในห้องสมุดออกไปให้ที่อื่นได้ยืมกัน อย่างเช่นตามโรงเรียนต่างๆ โครงการให้การศึกษา หรือแม้แต่ในเรือนจำ

ทาสเดเลน บอกว่า ในขณะที่หลายคนทิ้งหนังสือไว้ข้างทาง แต่คนอีกกลุ่มหนึ่งก็มองหาหนังสือเหล่านี้อยู่

และตอนนี้ บรรดาคุณครูจากหมู่บ้านต่างๆทั่วประเทศตุรกี ต่างพากันเรียกร้องหาหนังสือ

เรื่องนี้จึงสอนให้รู้ว่า สิ่งที่ไร้ประโยชน์แล้วสำหรับบางคน อาจจะเป็นสิ่งที่มีค่าสำหรับใครบางคนก็เป็นได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image