วิเทศวิถี : เปิดศักราชสัมพันธ์ใหม่ “ไทย-อียู”

นายบอริส จอห์นสัน (ซ้าย) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศอังกฤษ จับมือทักทายนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

มีปรากฏการณ์ที่น่าสนใจเกิดขึ้นในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ ซึ่งอาจไม่ได้มีข่าวปรากฏอยู่ในหน้าหนังสือพิมพ์มากนัก ทั้งที่เหตุการณ์ดังกล่าวถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งในแง่ของการต่างประเทศไทย นั่นคือการเดินทางเยือนไทยของ 3 รัฐมนตรีต่างประเทศจากสหภาพยุโรป(อียู) ประกอบด้วย นายอันเจลิโน อัลฟาโน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศและความร่วมมืออิตาลี ในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศระหว่างวันที่ 8-9 กุมภาพันธ์ นายบอริส จอห์นสัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศอังกฤษ ที่มาเป็นแขกของกระทรวงการต่างประเทศระหว่างวันที่ 11-12 กุมภาพันธ์ และนายฌอง-บาติสต์ เลอมวน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกิจการยุโรปและการต่างประเทศฝรั่งเศส ที่เยือนไทยเมื่อวันที่ 12-13 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

การเดินทางเยือนไทยของรัฐมนตรีจากชาติในยุโรปทั้ง 3 คนในเวลาอันไล่เลี่ยกันย่อมไม่ใช่เรื่องที่ควรมองข้าม และไม่อาจถือเป็นเรื่องธรรมดา เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นไม่เพียงแต่จะสะท้อนให้เห็นว่า ข้อมติของที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอียูเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2561 ที่ให้มีการปรับสัมพันธ์ทางการเมืองกับไทยในทุกระดับ ได้ถูกนำไปปฏิบัติอย่างจริงจังและเกือบจะทันที

สำหรับนายอัลฟาโน รัฐมนตรีต่างประเทศและความร่วมมืออิตาลี ถือเป็นความตั้งใจของฝ่ายอิตาลีที่ต้องการเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศจากอียูคนแรกที่เดินทางเยือนไทย หลังจากอียูมีข้อมติเปิดให้ชาติสมาชิกสามารถกลับมาสานสัมพันธ์กับไทยที่หยุดชะงักไปนานตั้งแต่ปี 2557 สะท้อนให้เห็นจากการที่อิตาลีเป็นประเทศแรกที่มีการทาบทามการเดินทางเยือนไทยของรัฐมนตรีต่างประเทศ

ขณะที่การหารือระหว่างนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กับนายอัลฟาโน บรรยากาศการก็เป็นไปด้วยดี มีการย้ำว่าการเยือนครั้งนี้เป็นการส่งสารเพื่อแสดงความตั้งใจทางการเมืองที่ชัดเจนของอิตาลี อีกทั้งในปี 2561 ยังมีความสำคัญเนื่องจากเป็นปีแห่งโอกาสของการครบ 150 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-อิตาลีซึ่งจะมีกิจกรรมเฉลิมฉลองมากมายเกิดขึ้นตลอดปี

Advertisement
นายอันเจลิโน อัลฟาโน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศและความร่วมมืออิตาลี (ซ้าย)

มีข้อมูลซึ่งน่าสนใจเกี่ยวกับการลงทุนระหว่างไทย-อิตาลีว่า เพียงแค่ในเวทีหารือของภาคธุรกิจ(Business Forum)ระหว่างกันของบริษัทขนาดใหญ่จากทั้ง 2 ประเทศ ซึ่งมีบริษัทอยู่ราว 40 บริษัท มูลค่าสินทรัพย์รวมของทั้งสองฝ่ายสูงถึงราว 500,000 ล้านยูโร หรือราว 19,500,000 ล้านบาท ซึ่งมากจนน่าตกใจ แต่ก็สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทย-อิตาลี ว่ามีความสำคัญในระดับที่ไม่อาจมองข้ามได้ ก่อนหน้าที่จะมาพบกับนายดอน รัฐมนตรีต่างประเทศอิตาลีก็ได้พบกับนักธุรกิจอิตาลีในไทย ซึ่งเสียงสะท้อนจากนักธุรกิจอิตาลีในไทยก็บอกว่ามีความสุขกับการประกอบธุรกิจในไทยเช่นกัน

ส่วนการหารือกับนายจอห์นสันนั้น แม้จะเป็นการเยือนไทยครั้งแรก แต่ถือเป็นครั้งที่ 2 ที่ทั้งคู่ได้มีโอกาสพบกัน เพราะการพบปะกันครั้งแรกนั้นเกิดขึ้นระหว่างการเดินทางไปร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติ(ยูเอ็นจีเอ) ที่นครนิวยอร์ก เมื่อปีที่ผ่านมา การพบปะกันครั้งนี้ยิ่งเป็นไปอย่างดียิ่ง แม้ว่าในกรณีของนายบอริส ดูเหมือนประเด็นที่ฝ่ายอังกฤษจะให้ความสนใจจะอยู่ที่เรื่องสถานการณ์ในรัฐยะไข่ของพม่า เนื่องจากนายบอริสได้เดินทางเยือนบังกลาเทศและพม่าก่อนจะมาจบที่ไทย แต่นโยบายของอังกฤษหลายประการ อาทิ ความต้องการที่จะเพิ่มพูนความร่วมมือกับอาเซียนก็คงไม่อาจเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วหากไม่มีการจับมือกับไทยไว้ให้อุ่นเช่นนี้

อย่างไรก็ดีข้อมูลเกี่ยวกับโครงการการค้าการลงทุนของไทยโดยเฉพาะโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(อีอีซี) ที่เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล ซึ่งนายดอนได้นำเสนอให้รัฐมนตรีต่างประเทศอิตาลีและอังกฤษรับทราบก็ได้รับความสนใจอย่างยิ่ง อิตาลีถึงกับเสนอให้มีการจัดทำบันทึกความเข้าใจระหว่างสองประเทศเกี่ยวกับสาขาความร่วมมือระหว่างกัน และเห็นพ้องให้มีการรื้อฟื้นกรอบการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความความร่วมมือ(เจซี)ไทย-อิตาลี ซึ่งเป็นกลไกที่มีอยู่แล้วแต่ว่างเว้นกันไปนานขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

Advertisement

เชื่อว่าสิ่งที่หลายฝ่ายอยากรู้คือในระหว่างหารือ ได้มีการพูดคุยหรือตั้งคำถามเกี่ยวกับพัฒนาการการเมืองไทย รวมถึงการเลือกตั้งที่จะต้องเลื่อนออกไปหรือไม่ คำตอบคือมีอย่างแน่นอน แต่ไม่ใช่การหารือในบริบทแห่งการกดดัน แต่เป็นการรับฟังด้วยความเข้าใจ แน่นอนว่าฝ่ายอียูได้ย้ำจุดยืนที่ต้องการให้ไทยมีการเลือกตั้งและกลับสู่กระบวนการประชาธิปไตยโดยเร็ว แต่ก็ไม่ได้ถึงกับนำมาตั้งเป็นเงื่อนไขใดๆ ในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างกัน

สัญญานบวกที่แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจที่จะสานสัมพันธ์ยังแสดงออกผ่านการที่นายอัลฟาโนและนายจอห์นสันยังได้ขอเบอร์โทรศัพท์ส่วนตัว รวมถึงมีการแลกบัญชีวอตส์แอปป์กับนายดอนด้วย

ขณะที่การเดินทางเยือนไทยของนายเลอมวน ทางฝ่ายฝรั่งเศสได้พบกับรัฐมนตรีไทยหลายคนโดยเฉพาะรัฐมนตรีสายเศรษฐกิจ และเป็นการเดินทางเพื่อมาเยือนไทยเพียงประเทศเดียวเท่านั้น ฝรั่งเศสมองว่าไทยเป็นประเทศสำคัญในอาเซียน เช่นเดียวกับที่ฝรั่งเศสเป็นประเทศที่มีความสำคัญในอียู ดังนั้นความสัมพันธ์ระหว่างไทยและฝรั่งเศสจึงมีความสำคัญและจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองภูมิภาค

นายฌอง-บาติสต์ เลอมวน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกิจการยุโรปและการต่างประเทศฝรั่งเศส (ซ้าย)

การเดินทางเยือนไทยของรัฐมนตรีต่างประเทศจากชาติสมาชิกอียู 3 ประเทศนี้ เป็นเพียงระลอกแรก เชื่อได้เลยว่าหลังจากนี้ไปเราจะได้เห็นการเยือนของรัฐมนตรีจากชาติสมาชิกอียูมายังไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงโอกาสแห่งการสานสัมพันธ์ที่กลับมาเปิดกว้างอีกครั้ง และดูจะเป็นการทำลายปราการด่านสุดท้ายในแง่ของการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลปัจจุบันของไทยกับภูมิภาคต่างๆ ในโลก

แน่นอนว่าเราจะได้เห็นการดำเนินนโยบายต่างประเทศเชิงรุกของไทยต่ออียูตามมา เพื่อรื้อฟื้นโอกาสที่ขาดหายไปนานกว่า 3 ปี แต่หากจะหวังผลให้การฟื้นสัมพันธ์ระหว่างไทย-อียูได้ผลดี ย่อมต้องอยู่ที่การเมืองในประเทศที่ต้องมีพัฒนาการเชิงบวกซึ่งแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลกำลังเดินหน้าตามโรดแมปและมุ่งมั่นที่จะฟื้นคืนประชาธิปไตยด้วยการจัดให้มีการเลือกตั้งตามที่ได้ประกาศไว้

ทุกคนตระหนักดีว่าเราไม่อาจอยู่บนโลกอย่างโดดเดี่ยวได้ และเหตุผลบางอย่างจะรับฟังขึ้นก็เมื่อไม่ใช้อย่างพร่ำเพรื่อเท่านั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image