คอลัมน์ โกลบอลโฟัส : สงครามเย็นจากรัสเซีย

ยูเลีย สกรีปาล (Yulia Skripal/Facebook via AP)

สงครามเย็น เคยทวีความตึงเครียดถึงขีดสุดในช่วงทศวรรษ 70 และ 80 บรรยากาศการขับเคี่ยวกันระหว่างโลกตะวันตกที่นำโดยสหรัฐอเมริกา ฝ่ายหนึ่ง กับฝ่ายตะวันออกภายใต้การนำของสหภาพโซเวียต เข้มข้น ถึงเลือดถึงเนื้อ แข่งขันและช่วงชิงกันในทุกทาง ทุกแบบ แม้จะไม่ลุกลามขยายตัวเป็นสงครามเต็มรูปแบบก็ตามที

การแข่งกันสั่งสมอาวุธ รวมทั้งอาวุธมหาประลัยอย่าง นิวเคลียร์ เป็นเรื่องปกติ ปฏิบัติการจารกรรมและต่อต้านการจารกรรมระหว่าง เคจีบี กับ ซีไอเอ เกิดบ่อยครั้งจนกลายเป็นเรื่องสามัญ การเสียชีวิตกะทันหันและเหลือเชื่อของจารชนของทั้งสองฝ่าย ปรากฏจนเป็นเรื่องปกติสามัญเช่นเดียวกัน

ภาวะตึงเครียดและการขับเคี่ยวกันด้วยปฏิบัติการลับดังกล่าวนั้น คลี่คลายไปในทางที่ดีเมื่อถึงยุคสมัยของ โรนัลด์ เรแกนและมิกฮาอิล กอร์บาชอฟ

การช่วงชิง แข่งขันซึ่งกันและกัน เปลี่ยนแปลงกลับกลายเป็นความร่วมมือกันในหลายๆ ด้าน ไม่เว้นแม้แต่การตกลงร่วมมือกัน ลดอาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธศาสตร์ของทั้งสองฝ่ายลง

Advertisement

ในตอนแรก ทุกอย่างเริ่มต้นด้วยความร่วมมือซึ่งกันและกัน อย่างเสมอภาคและเท่าเทียม แต่สถานการณ์ภายในค่ายตะวันออกทำลายความเท่าเทียมกันลงอย่างรวดเร็ว การล่มสลายของโลกคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออก การแตกทำลายลงเป็นชาติเล็กชาติน้อยของสหภาพโซเวียต ไม่เพียงทำให้ฝ่ายหนึ่งอ่อนแอลงอย่างมากเท่านั้น ยังส่งเสริมอานุภาพและอิทธิพลของอีกฝ่ายหนึ่งขึ้นมาได้สูงสุด

สหรัฐผงาดขึ้นมากลายเป็น มหาอำนาจ ของโลกเพียงลำพัง

บรรยากาศของสงครามเย็นค่อยๆ มลายหายไปมากขึ้นเรื่อยๆ ความกังวลเรื่องการก่อการร้ายจากกลุ่มหัวรุนแรงนิยมลัทธิความเชื่อทางศาสนาที่ตีความจนสุดโต่งไปในด้านความรุนแรงเข้ามาแทนที่

จนกระทั่ง วลาดิมีร์ ปูติน อดีตเจ้าหน้าที่เคจีบี ก้าวขึ้นครองอำนาจทางการเมืองในรัสเซีย ค่อยๆ สร้างฐานอำนาจ ถักทอระบบที่เอื้อต่อการอยู่ในอำนาจสูงสุดอย่างต่อเนื่อง

เมื่อทุกอย่างมั่นคงเข้าที่แล้ว ปูติน ก็เริ่มแสดงออกถึงอิทธิพลในเวทีโลกของรัสเซียอีกครั้ง อย่างที่หลายคนโหยหา

จู่ๆ ทั่วโลกพลันหวนคิดถึงบรรยากาศในช่วงสงครามเย็นขึ้นมาแบบไม่คาดหมาย

เกิดเหตุ “ไม่ปกติ” หลายๆ เหตุการณ์ขึ้นที่ชวนให้รำลึกถึงอดีตดังกล่าว สงครามกลางเมืองในซีเรีย เปิดโอกาสให้ รัสเซีย แสดงออกถึงอิทธิพลใหม่ของตนในระดับนานาชาติ ขณะที่โลกตะวันตกพยายามผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในอดีตรัฐโซเวียตทั้งหลาย รัสเซียก็พยายามอย่างยิ่งเช่นเดียวกันเพื่อให้การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศเหล่านั้น เอื้อประโยชน์ต่อการขยายอำนาจอิทธิพลของตนเอง

ขณะที่ทุกคนกำลังเผลอไผล รัสเซียของปูตินก็เข้ายึดครองและผนวกคาบสมุทรไครเมียเป็นผลสำเร็จ เมื่อต้นปี 2014 ทั้งยังสนับสนุนกบฏทางตะวันออกของยูเครน จนทำให้ความขัดแย้งที่นั่นกลายเป็นการสู้รบที่รอมชอมไม่ได้ และยุติไม่ได้มาจนถึงขณะนี้

ในช่วงเวลาระหว่างนั้นเกิดกรณีหลายกรณีที่ยิ่งขับเน้นให้เห็นถึงสภาวะของ สงครามเย็นรอบใหม่

มีทั้ง คดีลอบสังหาร อเล็กซานเดอร์ ลิตวิเนนโก อดีตสายลับเคจีบี ด้วยสารกัมมันตภาพรังสี “โพโลเนียม-210” ในประเทศอังกฤษ, การยิงเครื่องบินโดยสารสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์ส เอ็มเอส 17 เหนือท้องฟ้ายูเครนตะวันออก เรื่อยมาจนถึง การเข้าแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีในสหรัฐ เมื่อปี 2016, การลอบเจาะระบบเพื่อทดสอบและเตรียมการสำหรับการทำลาย เครือข่ายสาธารณูปโภคในสหรัฐ เรื่อยไปจนถึงการล่วงล้ำน่านฟ้าของเครื่องบินทหารของรัสเซียทางตอนเหนือของสหรัฐ หลายต่อหลายครั้ง

ล่าสุด กรณีวางยาพิษ เพื่อหวังสังหาร เซอร์เก สกรีปาล อดีตเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองทหาร (จีอาร์ยู) เกษียณอายุในซอลส์บิวรี ยิ่งตอกย้ำบรรยากาศสงครามเย็นได้เป็นอย่างดี

เซอร์เก สกรีปาล วัย 66 ปี เคยถูกทางการรัสเซียจับกุมและถูกพิพากษาว่าทำความผิดจริง ด้วยการส่งผ่านข้อมูลที่เปิดเผยตัวตนของเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองของรัสเซีย ที่ทำงานลับภายใต้หน้าฉากบังหน้าอยู่ในพื้นที่ยุโรปจำนวนหนึ่งให้กับ เอ็มไอ 6 หน่วยข่าวกรองสำหรับการปฏิบัติงานข่าวกรองภายนอกประเทศของอังกฤษ

สกรีปาล ถูกตัดสินจำคุก 13 ปีในรัสเซีย เมื่อปี 2006 แต่ถูกปล่อยตัวเป็นอิสระในปี 2010 ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงแลกเปลี่ยนกับอิสรภาพของจารชนรัสเซีย 10 คนที่ถูกจับกุมโดย เจ้าหน้าที่สำนักงานสอบสวนกลาง (เอฟบีไอ) ในสหรัฐ

สกรีปาล ใช้ชีวิตหลังจากเป็นอิสระเดินทางไปๆ มาๆ ระหว่างอังกฤษกับรัสเซียอยู่บ่อยครั้ง ในอังกฤษ สกรีปาลใช้ชีวิตอยู่กับ ยูเลีย สกรีปาล บุตรีวัย 33 ปี ในซอลส์บิวรี เมืองเล็กๆ ในเขต วิลท์ไชร์ ทางตอนใต้ของประเทศอังกฤษ

เมื่อวันที่ 4 มีนาคมที่ผ่านมา มีผู้พบ ทั้งเซอร์เก และยูเลีย หมดสติอยู่บนม้านั่งในสวนธารณะใจกลางซอลส์บิวรี ใกล้ที่พัก

หลังนำตัวส่งโรงพยาบาล เจ้าหน้าที่อังกฤษพบว่า ทั้งคู่ไม่ได้ล้มป่วย หากแต่ถูกวางยา เมื่อตรวจสอบเพิ่มเติมก็พบร่องรอยของยาพิษที่เป็นสารเคมีชนิดดูดซึมเข้าทางผิวหนัง ในบริเวณมือจับประตูด้านหน้าที่พักของคนทั้ง 2 เช่นเดียวกับที่พบร่องรอยของสารเคมีชนิดเดียวกันในภัตตาคารแห่งหนึ่งที่ทั้งคู่เดินทางไปรับประทานอาหารกลางวัน รวมทั้งในบริเวณสวนสาธารณะ

จากการตรวจสอบอย่างละเอียดของ ห้องปฏิบัติการกลาโหมทางเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ (ดีเอสทีแอล) ของอังกฤษที่ พอร์ตันดาวน์ พบว่า สารเคมีดังกล่าว คือ “โนวิโชค” เป็นหนึ่งในอาวุธเคมีที่ผลิตขึ้นมาเพื่อใช้งานในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2

เมื่อนำสารเคมีที่ได้มาตรวจสอบด้วยกระบวนการ “แมส สเปคโตรเมทรี อนาไลซิส” พบว่า สารที่ใช้เป็นโนวิโชคที่เป็น “ของเหลว” ซึ่งรู้จักกันในชื่อรหัส “เอ-234”

เป็น “เอ-234” ที่ผลิตขึ้นมาใช้ “เพื่อการทหาร” เท่านั้น นั่นหมายความว่า อาวุธเคมีที่พบในที่เกิดเหตุ “มีความเข้มข้นสูงเป็นพิเศษ”

อย่างไรก็ตาม การตรวจสอบสารเคมีดังกล่าวด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ไม่สามารถ “ระบุ” ถึงที่มาของโนวิโชคที่ใช้ได้ สาเหตุสำคัญนั้นเนื่องจาก ตัวอย่างที่เก็บได้จากที่เกิดเหตุ “มีน้อยเกินไป” และในเวลาเดียวกัน ตัวอย่างที่นำมาเทียบเคียงเพื่อบ่งชี้ถึงชนิดของอาวุธเคมีที่ใช้ก็ “น้อยเกินไป”

นั่นเป็นเพราะ นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงเรื่อยมา นี่เป็นครั้งแรกที่มีการนำเอาอาวุธเคมีชนิดนี้มาใช้

การที่ไม่สามารถระบุที่มาของสารเคมีที่ถูกนำมาใช้เป็นอาวุธเพื่อลอบสังหารครั้งนี้ได้ ไม่ได้ทำให้ทางการอังกฤษลังเลเท่าใดนัก ในการออกมาระบุว่า ผู้ที่อยู่เบื้องหลังการลงมือครั้งนี้คือรัฐบาลรัสเซีย เบน วอลเลซ รัฐมนตรีความมั่นคงและอาชญากรรมทางเศรษฐกิจของอังกฤษ ระบุเอาไว้ชัดเจนในการให้สัมภาษณ์กับบีบีซีที่สอบถามถึงผู้ที่น่าจะเป็นคนออกคำสั่งว่า

“เราสามารถบอกได้ว่า เส้นทางทุกสายนำไปสู่รัสเซีย เรามีสิ่งบ่งชี้เหนือความเคลือบแคลงสงสัยใดๆ ว่ารัฐรัสเซียอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์นี้”

ข้อเท็จจริงที่ชัดเจนประการหนึ่งก็คือ “โนวิโชค” ไม่ใช่อาวุธเคมีที่หาได้ทั่วไป มันเป็นหนึ่งในกลุ่มสารเคมีที่พัฒนาขึ้นมาชนิด “ลับสุดยอด” ในยุคสหภาพโซเวียต ผลิตกันที่เมือง ชิคคานี ริมฝั่งแม่น้ำโวลกา เพื่อใช้ในการรบในสงครามโลกครั้งที่ 2 กว่าโลกจะรับรู้กันว่ามีอาวุธเคมีชนิดนี้อยู่ก็ต่อเมือง วิล มีร์ซายานอฟ นักวิทยาศาสตร์โซเวียตตีพิมพ์ข้อมูลเกี่ยวกับมันออกมาในปี 1992

การใช้ “โนวิโชค” จึงเป็นการบ่งบอกกลายๆ ว่านี่เป็นฝีมือของผู้ใด

ในเวลาเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธเคมีของ ดีเอสทีแอล บอกตรงกันว่า “โนวิโชค” ที่พบในที่เกิดเหตุ “มีความบริสุทธิ์สูงมาก” ซึ่ง “นั่นหมายความว่า คุณไม่มีทางผสมสารเคมีนี้ในระดับเดียวกันนั้นขึ้นมาได้ในบ้านตัวเอง” ซึ่งหมายถึงผู้ลงมือปฏิบัติการครั้งนี้ ได้ “อาวุธสังหาร” ชนิดนี้มาจากหน่วยงานของ “รัฐ” ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจาก “ระดับสูง” ด้วยเช่นเดียวกัน

แหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องกับการสอบสวนเหตุการณ์ครั้งนี้ บอกกับนิวยอร์ก ไทม์ส เอาไว้ว่า ปฏิบัติการครั้งนี้ ทั้ง “ละเอียดอ่อน” และ “สุ่มเสี่ยง” มากเป็นพิเศษ “จนเป็นไปไม่ได้ที่จะดำเนินการโดยที่ไม่ได้รับความเห็นชอบจากทางการเครมลิน” เนื่องจาก มีเพียง “มืออาชีพ” ที่ผ่านการฝึกมาเป็นอย่างดีเท่านั้นที่สามารถจะจัดการกับอาวุธเคมีชนิดนี้ได้ และ จัดการทามันเข้ากับมือจับประตูในแบบที่ “แน่ใจได้ในระดับหนึ่ง” ว่ามันจะส่งผลร้ายต่อเป้าหมายของตน

ประเด็นที่น่าสนใจในเหตุการณ์ครั้งนี้ก็คือ เป้าหมายที่ถูกหมายชีวิต ยังคงไม่เสียชีวิต ยูเลีย สกรีปาล เพิ่งถูกปล่อยตัวจากโรงพยาบาลเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ในขณะที่ เซอร์เก สกรีปาล แม้จะยังต้องรับการรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล แต่พ้นขีดอันตรายที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตแล้ว

สาเหตุสำคัญก็คือ การวางยาพิษครั้งนี้ แตกต่างจากการวางยาพิษในกรณี อเล็กซานเดอร์ ลิตวิเนนโก ครั้งนี้เป็นการให้ “สัมผัส” ไม่ใช่ให้ “กิน” เข้าไปภายในร่างกาย

การดูดซึมผ่านผิวหนัง ทำให้มีโอกาสที่เป้าหมายจะรอดชีวิตมีสูงกว่ามาก

ทีมสอบสวนของอังกฤษ เชื่อว่า การเลือกใช้อาวุธเคมีก็ดี เลือกวิธีการที่ใช้ก็ดี ล้วนบ่งชี้ถึงการลงมือของเจ้าหน้าที่ของรัฐจากรัสเซีย

เป้าหมายครั้งนี้ ไม่ได้เป็นการสังหาร แต่เพื่อ “ส่งสาร” เตือนไปถึง ใครก็ตามที่คิดจะแปรพักตร์อีกในอนาคตให้ได้รับรู้โดยทั่วกันว่า โทษทัณฑ์คือ “ความตาย”

กรณีสกรีปาล ส่งผลให้เกิดปฏิบัติการ “ขับทูต” รัสเซีย ครั้งใหญ่ของชาติตะวันออกไม่น้อยกว่า 20 ประเทศ เพื่อแสดงถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับอังกฤษ ถึงแม้ว่า ผู้เชี่ยวชาญหลายคนจะยืนยันว่า มี “หลักฐานโดยตรง” บ่งชี้ถึงรัสเซียน้อยมากก็ตามที ผู้เชี่ยวชาญด้านการต่างประเทศหลายคนประหลาดใจด้วยซ้ำไปว่า การแสดงเพียง “หลักฐานแวดล้อม” ของอังกฤษ สามารถโน้มน้าวให้หลายประเทศปฏิบัติการขับทูตรัสเซียตามได้มากถึงขนาดนี้

แต่นักวิชาการบางคนชี้ว่า นี่เป็นอีกครั้งหนึ่งซึ่งแสดงให้เห็นถึงบรรยากาศในยุคสงครามเย็นที่ทวีความเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ ในเวลานี้

แม้ว่ารัสเซีย จะสามารถหลุดรอดจากกรณีนี้ ที่ไม่มีหลักฐานชี้ชัด ไม่สามารถ “จับให้มั่นคั้นให้ตาย” ได้ในที่สุด

แต่ก็แสดงให้เห็นว่า ความไม่พอใจต่อแนวนโยบายต่างประเทศและวิธีการของรัสเซียนับวันจะมีเพิ่มมากขึ้นทุกทีแล้วเช่นกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image