จับตาก้าวต่อไปของ สันติภาพบนคาบสมุทรเกาหลี

Korea Summit Press Pool/Pool via Reuters

ไม่ว่าผลลัพธ์ของการหารือสุดยอดระหว่างผู้นำ 2 เกาหลี ระหว่าง คิม จองอึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือกับ มุน แจอิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ในวันที่ 27 เมษายนจะลงเอยต่อไปอย่างไรในอนาคต

สิ่งหนึ่งซึ่งผู้เชี่ยวชาญกิจการระหว่างประเทศและนักสังเกตการณ์ทั่วไปเห็นตรงกันประการหนึ่งก็คือ เหตุการณ์ทั้งหมดในวันประวัติศาสตร์ของชาวเกาหลีวันนั้น ถือเป็น “สุดยอดในการแสดงออกทางการทูต”

ครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ เป็นการแสดงออกทางการเมืองระหว่างประเทศที่ยอดเยี่ยม ผ่านการเตรียมการเป็นอย่างดีและกำหนดจังหวะเวลาได้เหมาะเหม็ง

กิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ทั้งหลายลื่นไหล เป็นธรรมชาติและสร้างบรรยากาศอบอุ่นพลิกผันจากความตึงเครียดที่เข้มข้นก่อนหน้านี้แบบหักมุมอย่างเหลือเชื่อ ตัวเอกอย่าง คิม จองอึน ก็อาศัยความเชื่อมั่นและอาการผ่อนคลายที่แสดงออกตลอดเวลา พลิกภาพลักษณ์ไปจากผู้นำเผด็จการที่เหินห่าง แข็งกร้าว ไร้มนุษยธรรม กลายเป็นผู้นำที่อบอุ่น เป็นรัฐบุรุษที่เป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งได้ดียิ่ง

Advertisement

เช่นเดียวกับ มุน แจอิน เองก็พิสูจน์ให้เห็นถึงความรู้ความสามารถว่าควรแสดงออกอย่างไร ในจังหวะไหน สอดคล้องไปได้อย่างแนบเนียน

ตั้งแต่การยอมทำตามคำขอ เดินข้ามแดนกลับไปยังเกาหลีเหนือ เรื่อยไปจนถึงการชวนกันเดินไปคุยไปแล้วไปนั่งสนทนาวิสาสะกันเป็นการส่วนตัวนอกสถานสองต่อสองนานร่วมครึ่งชั่วโมง ถือเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่ยอดเยี่ยม ในท่ามกลางการจับตามองจากทั่วโลก

ผู้นำทั้งสองทำเหมือนกับเป็นการพบหน้ากันอีกครั้งของเพื่อนเก่าที่สนิทสนมกันมานานปี ไม่ใช่คู่กรณีที่ก่อให้เกิดความตึงเครียดไปทั้งภูมิภาคและทั่วโลกเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

Advertisement

พลังที่สะท้อนออกมาจากการพบกันในครั้งนี้จึงสูงยิ่ง เมื่อรวมกับเป้าหมายสำคัญทั้งหลายที่ปรากฏอยู่ใน ปฏิญญาปันมุนจอม แทบทำให้ทุกคนสัมผัสได้ถึงเจตนารมณ์ร่วมกันในอันที่จะกำหนดชะตากรรมตัวเองของคนเกาหลี ที่ซื้อใจเกาหลีได้ทั้งประเทศ

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ นี่ไม่ใช่การพบกันเป็นครั้งแรกของผู้นำเกาหลีเหนือ-ใต้ ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ เนื้อหาของปฏิญญาปันมุนจอม ในครั้งนี้ก็ดำเนินไปในแนวทางเดียวกับแถลงการณ์ร่วมจากการพบกันทั้ง 2 ครั้งที่ผ่านมา ในยุคของประธานาธิบดี คิม แดจุงและประธานาธิบดี โนห์ มูฮยอน กับ คิม จองอิล ผู้นำเกาหลีเหนือผู้ล่วงลับ

เป็นการกำหนดเป้าหมายที่ใหญ่โตอลังการไว้ก่อน แล้วค่อยดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ว่านั้น
คำถามก็คือแล้วการพบหารือครั้งนี้จะลงเอยเป็นความล้มเหลวเหมือนสองครั้งที่ผ่านมาหรือไม่?

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจก็คือ ผู้นำทั้งสองเองดูเหมือนจะตระหนักดีในเรื่องนี้ ดังนั้นสิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงไปจากความตกลงร่วมที่เคยทำกันเมื่อ 2 ครั้งที่ผ่านมา ก็คือในหลายๆ มาตรการเพื่อสร้างความเชื่อมั่นซึ่งกันและกันระหว่างเกาหลีเหนือ-ใต้ในคราวนี้ มีกำหนดระยะเวลาเอาไว้ด้วยอย่างชัดเจน

ตัวอย่างเช่นการยุติ “พฤติกรรมที่เป็นปฏิปักษ์ทั้งหมด” ถูกกำหนดไว้ให้ทำภายใน 1 พฤษภาคม ซึ่งดำเนินไปแล้วจากทั้งสองฝ่าย, กำหนดให้มีการเจรจาทวิภาคีของกองทัพทั้งสองประเทศภายในเดือนพฤษภาคมนี้, กำหนดให้มีการรวมคณะนักกีฬาของทั้งสองประเทศในการแข่งขันเอเชียนเกมส์ ที่อินโดนีเซียในวันที่ 18 สิงหาคมนี้, กำหนดให้มีการรวมญาติกันภายใน 15 สิงหาคมนี้ และกำหนดการเยือนเป็นการตอบแทนของประธานาธิบดีมูน แจอินไว้ว่าจะมีขึ้นในหน้าใบไม้ร่วงก่อนสิ้นปีนี้

ทั้งยังกำหนดเอาไว้ด้วยว่า ให้มีการเจรจา “ว่าด้วยสนธิสัญญาสันติภาพ” ซึ่งนอกจาก 2 เกาหลีจะมีส่วนร่วมแล้ว ยังจำเป็นต้องมี สหรัฐอเมริกา หรือ จีน หรือทั้งสองประเทศร่วมอยู่ด้วย ในอนาคตอันใกล้

การดึงเอาจีนและสหรัฐอเมริกา เข้ามาร่วมในการเจรจาสนธิสัญญาสันติภาพในอนาคตนั้น ไม่เพียงสะท้อนการยอมรับความเป็นจริงถึงอิทธิพลของประเทศทั้งสองเท่านั้น ยังแสดงถึงความพยายาม “ลดความเสี่ยง” ที่จะ

เกิดความขัดแย้งในคาบสมุทรเกาหลีขึ้นมาอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากคนอย่างประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกาที่สามารถ “เป็นฟืนเป็นไฟ” ขึ้นมาได้ตลอดเวลา

การกำหนดเวลาในการดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายสันติภาพ และการเป็นคาบสมุทรเกาหลีที่ “ปลอดนิวเคลียร์” นั้น ยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงความรู้สึก “เร่งด่วน” และ “จำเป็นต้องเกิดขึ้นให้ได้” ในทัศนะของสองผู้นำเกาหลีได้อย่างชัดเจน

ส่วนที่เหลือที่ต้องจับตามองกันต่อไป ก็คือ ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ จะทำอย่างไรในการรับมือกับเจตนารมณ์สันติภาพที่แสดงออกมาครั้งนี้

เมื่อพบปะกันแบบเผชิญหน้ากับ คิม จองอึน ภายในเดือนพฤษภาคมนี้ หรืออย่างช้าที่สุด ก็เป็นต้นเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้นั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image