ออท.ไทยประจำอียูพอใจ ไทยร่วมงาน Seafood Expo Global 2018

เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม มีการจัดงาน Seafood Expo Global 2018 ขึ้นซึ่งถือเป็นงานใหญ่ประจำปีของเบลเยียมและถือเป็นงานแสดงสินค้าด้านประมงงานใหญ่ที่สุดงานหนึ่งของโลก แม้ว่าจะไม่มีการซื้อขายสินค้าในงาน แต่ผู้ร่วมงานก็มีทั้งผู้นำเข้าและส่งออกสินค้าประมง ฝ่ายจัดซื้อของซุปเปอร์มาร์เก็ต สื่อมวลชน และองค์กรภาคประชาสังคมจากทั่วโลกมากกว่า 28,000 คน และมีบริษัทที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมประมงมานำเสนอทั้งผลิตภัณฑ์ อุปกรณ์ และเครื่องมือต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำประมงและสินค้าประมงแปรรูปประมงเป็นประจำทุกปี

นอกจากภาคเอกชนใหญ่ๆ ของไทยจะมาเข้าร่วมในงานแล้ว ในปีนี้ไทยยังจัดกิจกรรมสำคัญคือการจัดเสวนา “หนทางของไทยสู่การทำประมงที่ยั่งยืน” (Thailand’s Path to Sustainable Fisheries) โดยนายมนัสวี ศรีโสดาพล เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม และหัวหน้าคณะผู้แทนไทยประจำสหภาพยุโรป(อียู) ได้กล่าวถึงภาพรวมของความก้าวหน้าการแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมายของไทย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความจริงจังของรัฐบาลไทยต่อนโยบาย Zero Tolerance จนประชาคมระหว่างประเทศก็ยอมรับว่า ประเทศไทยได้ยกเครื่องการทำประมงทั้งระบบ จนมีระบบควบคุมที่ทันสมัยอันดับต้นๆ ของภูมิภาคเอเชีย และมีกรอบกฎหมายที่แข็งแรงและครอบคลุมมากที่สุด

นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ย้ำถึงกรอบกฎหมายและระบบควบคุมที่พัฒนาจนมีประสิทธิภาพ เพื่อมุ่งไปสู่การเป็นประเทศปลอดสัตว์น้ำและสินค้าประมงจากการทำการประมงผิดกฎหมาย (IUU-free Thailand)

ขณะที่นางเพชรรัตน์ สินอวย รองปลัดกระทรวงแรงงาน ได้ชี้แจงความก้าวหน้าการแก้ไขปัญหาแรงงานภาคประมงที่ดำเนินคู่ขนานไปกับการแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมาย ด้าน พ.ต.ท.รชตโชค สวยกลาง ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้นำเสนอข้อมูลความคืบหน้าในการดำเนินคดีเรือประมงผิดกฎหมายที่สำคัญๆ รวมถึงมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมาย

Advertisement
ออท.มนัสวีและอธิบดีกรมประมงหารือกับผู้เข้าร่วมงาน

นายชนินทร์ ชลิศราพงษ์ ประธานสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย ได้กล่าวถึงความมุ่งมั่นของสมาคมที่ได้ร่วมมือกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ในการส่งเสริมการทำประมงที่ยั่งยืนและมาตรฐานแรงงานที่ถูกจริยธรรมตลอดห่วงโซ่การผลิต โดยสมาคมได้รายงานการกำหนดมาตรฐานการปฏิบัติด้านแรงงานสำหรับสมาชิกสมาคม ต่อคณะทำงานด้านสิทธิมนุษยชนกับบรรษัทข้ามชาติและองค์กรธุรกิจอื่นๆ ของสหประชาชาติ ที่ได้เดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 26 มีนาคม ถึงวันที่ 4 เมษายนที่ผ่านมา

นางอภิญญา ทาจิตต์ รองผู้อำนวยการศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทางทะเล (Stella Maris) ในฐานะผู้แทนภาคประชาสังคมระบุว่า ไม่ได้กล่าวในนามรัฐบาลไทย แต่ต้องการสะท้อนภาพความเป็นจริงของการแก้ไขปัญหาแรงงานในภาคประมงของรัฐบาลไทยซึ่งดีขึ้นมากจากในอดีต เรื่องนี้เป็นความรับผิดชอบของทุกภาคส่วน ไม่ใช่รัฐบาลแต่เพียงอย่างเดียว ขณะนี้ภาคประชาสังคมได้เข้าร่วมทำงานแก้ไขปัญหากับภาครัฐในหลายเรื่อง และทุกฝ่ายควรมองปัจจุบันและอนาคตมากกว่าการใช้ข้อมูลเก่ามามุ่งบั่นทอนการทำงานของผู้ที่เกี่ยวข้อง

คณะผู้แทนไทยยังได้เข้าร่วมงานเสวนาเรื่อง “อียูและมิติทางสังคมในเรื่องการทำประมง” (The EU and the social dimension of fisheries) ซึ่งจัดโดยคณะกรรมาธิการยุโรป ในระหว่างการจัดงาน Seafood Expo Global 2018 โดยนายเคอเมนู เวลลา กรรมาธิการด้านสิ่งแวดล้อม กิจการทางทะเลและประมงสหภาพยุโรป ย้ำถึงความจำเป็นที่ประชาคมระหว่างประเทศต้องให้ความสำคัญกับการปรับปรุงสภาพการทำงาน และความปลอดภัยบนเรือประมงสำหรับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานบนเรือ นอกจากนี้ยังสนับสนุนให้ประเทศต่างๆ ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาไอแอลโอเพื่อคุ้มครองการปฏิบัติต่อแรงงานบนเรือประมงที่ไม่ถูกต้อง โดยนายเวลลาได้ยกไทยเป็นตัวอย่างที่มีความคืบหน้าด้านการแก้ไขปัญหาแรงงานในภาคประมงผ่านกลไกการหารือกับสหภาพยุโรปด้วย

Advertisement

ขณะที่อธิบดีกรมประมง ได้กล่าวเพิ่มเติมให้ผู้ร่วมงานทราบว่า ไทยกำลังอยู่ในระหว่างการยกร่างกฎหมายภายในประเทศเพื่อรองรับการให้สัตยาบันอนุสัญญาไอแอลโอฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานในภาคประมงทะเล (C188) และคาดว่าไทยจะสามารถให้การรับรองอนุสัญญาดังกล่าวได้ภายในปีนี้

ท่านทูตมนัสวีกล่าวถึงภาพรวมของการมาเข้าร่วมงาน Seafood Expo Global 2018 ของไทยว่า อยู่ในระดับที่ดี เพราะเป็นโอกาสที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย ไม่ว่ากรมประมง กระทรวงแรงงาน ภาคเอกชน และเอ็นจีโอ มาให้ข้อมูลจากมุมมองของภาคเอกชน เอ็นจีโอ และภาครัฐ ซึ่งครอบคลุมการบังคับใช้กฎหมาย การออกกฎหมาย การตรวจสอบควบคุมการประมงของไทย ครั้งนี้ถือว่าจัดได้ดี เพราะมีการนำเสนอมุมมองและข้อมูลที่สมบูรณ์ทุกมิติ โดยเฉพาะข้อมูลจากประสบการณ์ของเอ็นจีโอที่ทำงานร่วมมือกับภาครัฐ

นอกจากนี้ การที่มีคนถามคำถามเยอะพอสมควร ทำให้เห็นว่าผู้รับฟังก็ความสนใจเป็นอย่างดี โดยผู้ที่รับฟังมีทั้งผู้แทนจากซุปเปอร์มาร์เก็ต ผู้นำเข้า ผู้ที่สนใจทั่วไป และสื่อมวลชน แวดวงซื้อขายเป็นกลุ่มที่ต้องมีข้อมูลเพื่อสามารถตัดสินใว่าจะนำเข้าสินค้าหรือไม่ เพราะผู้บริโภคยุโรปมีค่านิยมที่จะหันมาซื้อสินค้าที่ถูกต้อง ปลอดภัย ไม่ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม ไม่ทำลายธรรมชาติ หรือละเมิดสิทธิมนุษยชน ค่านิยมยุโรปก็คือค่านิยมของผู้บริโภค ถ้ามีข้อกังวล คนไม่มั่นใจในสินค้าก็ขายไม่ได้ การจัดซื้อสินค้าที่นำมาจำหน่ายจึงต้องสะท้อนความคาดหวังผู้บริโภคด้วย

กลุ่มตัวแทนของซุปเปอร์มาร์เก็ตติดตามข่าวคราวต่างๆ อย่างใกล้ชิด เพราะเขามักจะซื้อล็อตใหญ่ ดังนั้นต้องมั่นใจว่าสินค้าที่อยู่ในร้านของเขาเป็นที่ยอมรับได้และได้มาตรฐาน เขาติดตามเรื่องการทำประมงของไทยและประเทศต่างๆ ที่นำเข้าสินค้ามาในยุโรป เขามีคำถามมากมาย และก็มีเสียงสะท้อนที่พอใจกับทิศทางและสิ่งต่างๆ ที่รัฐบาลไทยได้ทำมา

ท่านทูตมนัสวีกล่าวถึงความคืบหน้าในการประเมินใบเหลืองไอยูยูของไทยว่า หน่วยงานที่รับผิดชอบของอียูเพิ่งเดินทางเยือนไทยในเดือนเมษายนที่ผ่านมา เขาพอใจในความคืบหน้าที่ทางรัฐบาลได้ทำ และยังขอให้เราติดตามและอัพเดตข้อมูลรายละเอียดบางเรื่องให้เขาต่อไป ที่ผ่านมาสถานทูตเองก็อัพเดตข้อมูลเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย การดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด และข้อมูลอื่นๆ ให้สมาชิกรัฐสภาของยุโรปรับทราบอีกทางหนึ่ง นอกหนือจากที่จะชี้แจงและให้ข้อมูลไปที่คณะกรรมการด้านประมงที่เขาติดตามเรื่องพวกนี้ เพราะหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบการประเมินสถานะของประเทศต่างๆ เป็นเรื่องคณะกรรมาธิการยุโรป ซึ่งเราก็ส่งข้อมูลไปให้ด้วย รวมถึงสื่อมวลชนในยุโรปที่อยู่ในบรัสเซลส์ที่ติดตามเรื่องนี้ด้วย เรียกได้ว่าเราทำในทุกมิติ

ขั้นตอนตรวจสอบและรูปแบบของการตรวจสอบจะเป็นไปตามกฎหมายของอียู ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมาย บุคคลากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่ามีการแบ่งอำนาจในการควบคุมดูแลที่น่าเชื่อถือหรือไม่ ฉะนั้นมีสิ่งต่างๆ มากมายที่เขาต้องตรวสอบ สิ่งไหนที่ทำถูกทิศทางแต่อยากเห็นเราทำให้เข้มข้นขึ้นเขาก็จะแจ้งมา ซึ่งวิธีนี้เขาก็ทำกับประเทศในยุโรปมาก่อน เพราะเขาเริ่มจากการวางมาตรฐานภายในประเทศของตัวเองก่อนแล้วค่อยขยายไปทั่วโลก

ทางอียูก็ประเมินเป็นระยะตามข้อมูลที่เราให้ คงต้องรอดูต่อไป ฝ่ายอียูมีประชุมเป็นระยะๆ แต่ไม่มีกำหนดการประเมินตายตัวว่าจะมีการประกาศการปลดใบเหลืองหรือใบแดงของประเทศต่างๆ เมื่อไหร่ เพราะการทำงานขึ้บกับวาระงานของอียูเป็นสำคัญ ซึ่งปัจจุบันอียูได้ติดตามและประเมินข้อมูลของประเทศที่อยู่ในกลุ่มใบเหลือง 9 ประเทศ และใบแดง 3 ประเทศ ขณะที่ยังมีประเทศที่ร่วมมือกับอียูมากกว่า 30 ประเทศด้วย

ส่วนที่ว่าปีหน้าไทยจะจัดส่งคณะมาร่วมชี้แจงข้อเท็จจริงในเวที Seafood Expo Global 2019 ท่านทูตมนัสวีมองว่า การมาให้ข้อมูลต่อสาธารณชนเช่นนี้ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในยุโรปได้ จึงเป็นเรื่องที่ดี ทำต่อไปก็ไม่น่าเสียหาย แต่ก็ขึ้นกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยจะประเมินด้วยว่าจำเป็นต้องมาหรือไม่
การชี้แจงทำความเข้าใจกับสาธารณชนถึงความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาไอยูยูของไทยเป็นงานที่รัฐบาลกำลังเร่งแก้ไขเชิงรุก ซึ่งหวังว่าที่สุดแล้วผลการพิจารณาจะเป็นข่าวดีสำหรับชาวประมงไทยในเร็ววัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image