150 ปี ความสัมพันธ์ไทย-สวีเดน

เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2411 หรือเมื่อ 150 ปีก่อน ราชอาณาจักรไทยกับราชอาณาจักรสวีเดนและนอร์เวย์ได้ตกลงทำสนธิสัญญามิตรภาพ การพาณิชย์ และการเดินเรือระหว่างกัน (Treaty of Friendship, Commerce and Navigation of 1868) ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับสวีเดนอย่างเป็นทางการ และโดยที่วันนี้เป็นวันครบรอบ 150 ปีของมิตรภาพระหว่างสองประเทศ จึงสมควรที่จะได้กล่าวถึงพัฒนาการของความสัมพันธ์อันดีที่มีมาช้านานโดยสังเขป

29 ปี หลังจากที่มีการลงนามในสนธิสัญญามิตรภาพดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ก็ได้เสด็จประพาสสวีเดน เมื่อปี 2440 ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของพระเจ้าออสการ์ที่ 2 กษัตริย์แห่งสวีเดนและนอร์เวย์ เพื่อทอดพระเนตรการแสดงนิทรรศการด้านอุตสาหกรรม และได้เสด็จฯเยือนทางตอนเหนือของสวีเดนเพื่อทอดพระเนตรอุตสาหกรรมป่าไม้ ซึ่งการที่มีพระมหากษัตริย์จากแดนไกลเสด็จฯเยือนหมู่บ้านเล็กๆ ในชนบทของสวีเดนได้สร้างความตื่นเต้นและความประทับใจให้กับประชาชนในพื้นที่ ซึ่งได้รอเฝ้าฯรับเสด็จตลอดเส้นทาง และกลายเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่คนในละแวกนั้นกล่าวถึง จนถึงกับมีการตั้งชื่อถนนที่พระองค์เสด็จฯผ่านว่า “ถนนจุฬาลงกรณ์ ( Kung Chulalongkorns väg)” ต่อมาเมื่อ 20 ปีที่แล้วก็มีคนไทยได้ร่วมกันระดมทุนสร้างพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่เมือง Ragunda เพื่อรำลึกถึงการเสด็จฯเยือนสวีเดนของหนึ่งในพระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นที่รักยิ่งของชาวไทย

มาถึงในยุคปัจจุบันก็ยังคงมีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างพระราชวงศ์ไทยและสวีเดนอย่างสม่ำเสมอ โดยสมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ลที่ 16 กุสตาฟ และสมเด็จพระราชินีซิลเวียแห่งสวีเดน ทรงเป็นหนึ่งในพระราชอาคันตุกะที่ใกล้ชิดของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 โดยทั้งสองพระองค์ได้เสด็จฯเยือนประเทศไทยหลายครั้ง ทั้งการเสด็จฯเยือนอย่างเป็นทางการและส่วนพระองค์ ซึ่งความเป็นกันเองและการปฏิบัติเฉกเช่นสามัญชนของทั้งสองพระองค์ได้สร้างความปลื้มปีติและความประทับใจแก่คนไทยเป็นอย่างดี อีกทั้งคนไทยยังรู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณที่สมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ลที่ 16 กุสตาฟ ได้ทรงช่วยเหลือชาวประมงไทยที่ตกทุกข์ได้ยากจากเหตุการณ์สึนามิที่จังหวัดพังงา-ภูเก็ต เมื่อปี 2547 โดยได้พระราชทานเรือที่ใช้แล้วและเครื่องยนต์เรือจำนวนหนึ่งแก่ชาวประมงที่สูญเสียเครื่องมือในการหารายได้จากเหตุภัยพิบัติดังกล่าว ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ก็ได้เคยพระราชทานช้างไทยให้แก่สมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ลที่ 16 กุสตาฟจำนวน 2 เชือก ชื่อ บัวและสาวน้อย ซึ่งต่อมาได้ให้กำเนิดทารกช้างเชือกใหม่ชื่อ น้ำใส ทั้งหมดนี้ยังคงอยู่ที่สวนสัตว์ Kolmården ทางตอนใต้ของกรุงสตอกโฮล์ม โดยที่ช้างเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองของไทยและมีความผูกพันกับชีวิตคนไทยมาช้านาน การพระราชทานช้างไทยจึงเป็นการแสดงออกถึงความสำคัญของมิตรภาพระหว่างไทย-สวีเดนที่จะอยู่คู่กันไปอีกนาน

ล่าสุดในช่วงที่มีพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2560 สำนักพระราชวังสวีเดนก็ได้จัดพิธีอัญเชิญพระราชลัญจกรพิเศษ (ตราครุฑพ่าห์) เพื่อถวายพระเกียรติสูงสุดแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชจากพระราชวังกรุงสตอกโฮล์มไปยังโบสถ์ริดด้าร์โฮล์ม ซึ่งมีคนไทยนับพันคนไปร่วมพระราชพิธีและเป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งในประวัติศาสตร์ที่สะท้อนถึงความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยกับสวีเดน

Advertisement


ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสวีเดนในด้านอื่นๆ ก็พัฒนาขึ้นตามลำดับ โดยไทยมีความร่วมมือด้านกลาโหมกับสวีเดน และเป็นประเทศหนึ่งที่สั่งซื้อเครื่องบินขับไล่ Gripen จำนวน 12 ลำจากสวีเดนเมื่อปี 2550 นอกจากนี้ยังมีคณะผู้แทนจากภาครัฐและเอกชนของไทยเดินทางมาศึกษาดูงานด้านนวัตกรรม การดูแลสิ่งแวดล้อม พลังงานหมุนเวียน เมืองอัจฉริยะ และการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของสวีเดนอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำความรู้เหล่านี้กลับไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาประเทศไทย

ในด้านการค้าและการลงทุน ไทยเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญประเทศหนึ่งของสวีเดนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในปี 2560 มูลค่าการค้ารวมระหว่างไทย-สวีเดนประมาณ 24,000 ล้านบาท ไทยส่งออกสินค้าไปยังสวีเดนประมาณ 16,000 ล้านบาท และนำเข้าจากสวีเดน 7,200 ล้านบาท ประเทศไทยยังเป็นหนึ่งในประเทศที่สวีเดนให้ความสนใจมาลงทุน เนื่องจากไทยตั้งอยู่ในตำแหน่งที่เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคแหลมทอง ปัจจุบันมีบริษัทของสวีเดนมาประกอบธุรกิจในไทยมากกว่า 70 บริษัท ธุรกิจชั้นนำที่เข้ามาลงทุนและตั้งฐานการผลิตในไทยแล้ว อาทิ Ericsson, Volvo, Tetra Pak, Electrolux และ IKEA

ความสัมพันธ์อีกด้านหนึ่งที่แนบแน่นไม่น้อยไปกว่าด้านอื่นคือ ความสัมพันธ์ระดับประชาชน ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ชาวสวีเดนชื่นชอบและเดินทางมาท่องเที่ยวหรือใช้ชีวิตหลังเกษียณ ปัจจุบันมีชาวสวีเดนเดินทางไปท่องเที่ยวเมืองไทยปีละกว่า 300,000 คน ทำให้มีการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้แก่ประเทศไทย ทุกวันนี้ชาวสวีเดนก็ยังคงประทับใจในความโอบอ้อมอารีและการช่วยเหลือนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงที่เกิดเหตุภัยพิบัติสึนามิ เมื่อปี 2547 ซึ่งมีชาวสวีเดนเสียชีวิตถึง 543 ราย คำพูดหนึ่งที่มักได้ยินจากชาวสวีเดนเกี่ยวกับประเทศไทยคือ “Thailand has a special place in the heart of Swedes”

Advertisement

ในขณะเดียวกันก็มีชาวไทยที่อาศัยอยู่ในสวีเดนกว่า 40,000 คน หลายคนแต่งงานกับชาวสวีเดนและมีครอบครัวเชื้อสายไทย คนไทยมองว่าคนสวีเดนเป็นคนที่มีน้ำใจ เช่น เคยมีดาราที่มีชื่อเสียงของสวีเดนใช้ทุนทรัพย์ส่วนตัวซื้อสระว่ายน้ำเคลื่อนที่และเดินทางไปยังจังหวัดต่างๆ ของไทยเพื่อสอนเด็กไทยให้ว่ายน้ำเป็นโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เพราะต้องการช่วยลดปัญหาเด็กไทยเสียชีวิตจากการจมน้ำ มีชาวสวีเดนที่สูญเสียสมาชิกในครอบครัวจากเหตุภัยพิบัติสึนามิ เมื่อปี 2547 ได้ก่อตั้งสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าที่ภูเก็ตเพื่อช่วยเหลือเด็กกำพร้าในพื้นที่ และมีหนุ่มสาวชาวสวีเดนปั่นจักรยานรอบโลกเพื่อรวบรวมเงินบริจาคให้สถานเลี้ยงเด็กกำพร้าในไทย ทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างมิตรภาพที่ดีๆ ที่คนไทยและคนสวีเดนมีให้กัน

ในวันที่ 13-14 กรกฎาคม 2561 สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงสตอกโฮล์ม จะจัดงานเทศกาลไทยชื่อว่า “Thailand@Kungsträdgården” ที่สวนสาธารณะใจกลางกรุงสตอกโฮล์ม และจะถือโอกาสดังกล่าวเป็นการเฉลิมฉลองครบรอบ 150 ปีแห่งความสัมพันธ์ไทย-สวีเดนด้วย

สุนทร ชัยยินดีภูมิ
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image