คอลัมน์ People In Focus: แซร์โจ มัตตาเรลลา จากจุดเปลี่ยนอันโหดร้ายสู่ผู้นำอิตาลี

แซร์โจ มัตตาเรลลา ประธานาธิบดีอิตาลี ตัดสินใจใช้สิทธิ “วีโต้” รายชื่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ของนายจุสเซปเป คอนเต นายกรัฐมนตรีอิตาลี ส่งผลให้การเมืองอิตาลียังคงความโกลาหลต่อไป
การตัดสินใจอันเด็ดเดี่ยวของ มัตตาเรลลา เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้คอนเต ในฐานะนายกรัฐมนตรีตัวแทนพรรคพันธมิตรประชานิยมตัดสินใจลาออกจากตำแหน่ง

ประธานาธิบดีวัย 75 ปี ระบุว่า ตนทำทุกสิ่งที่เป็นไปได้เพื่อช่วยให้คณะรัฐมนตรีเกิดขึ้น แต่ตนจะไม่ยอม “ก้มหัว” ให้กับสิ่งที่จะขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศ และนั่นหมายความถึงการแต่งตั้งรัฐมนตรีเศรษฐกิจที่เป็นผู้มีแนวคิด “ต่อต้านสหภาพยุโรป”

มัตตาเรลลา ชายใส่แว่นตามีบุคลิกในแบบที่นักวิชาการควรเป็น มากกว่าบุคลิกในแบบนักการเมือง ตัดสินใจก้าวเข้าสู่สนามการเมืองด้วยจุดเปลี่ยนอันน่าเศร้า

ในปี 1980 เพียซานติ มัตตาเรลลา พี่ชายผู้ประสบความสำเร็จทางการเมืองจนก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีแคว้นปกครองตนเองซิซิลี เกาะตอนใต้ของอิตาลี ถูกลอบยิงอย่างเลือดเย็นโดยกลุ่มมาเฟีย “โคซา นอสตรา”

Advertisement

ลูกชายของ “เบอร์นาโด มัตตาเรลลา” นักการเมืองผู้โด่งดังแห่งซิซิชี จากพรรคคริสเตียน เดโมแครต ตัดสินใจที่จะตัดความสัมพันธ์ระหว่างพรรคกลางขวาของตนกับกลุ่มอาชญากรในเงามืด และนั่นแลกมาด้วยชีวิต

เพียซานติ ถูกมือปืนยิงขณะนั่งในรถเมื่อวันที่ 6 มกราคม 1980 และแซร์โจ น้องชายเป็น คนแรกๆที่ไปถึงที่เกิดเหตุและเป็นคนอุ้มพี่ชายส่งโรงพยาบาล ทว่า เพียซานติ เสียชีวิตลงระหว่างทาง

มัตตาเรลลา จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยซาปิเอนซาแห่งกรุงโรม ในปี 1964 ก่อนที่ในอีกไม่กี่ปีต่อมาจะสามารถเข้าทำงานเป็นอาจารย์สอนวิชากระบวนการรัฐสภา ที่มหาวิทยาลัยปาแลร์โม และเข้าสู่วงการเมืองอย่างเต็มตัวในปี 1983

Advertisement

มัตตาเรลลา สามารถไต่เต้าทางการเมืองได้ถึงตำแหน่งรัฐมนตรีศึกษาธิการ รัฐมนตรีกลาโหม รองนายกรัฐมนตรี ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลรัฐธรรมนูญ ก่อนก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีในที่สุด

“เขาเป็นตัวแทนของซิซิลีที่ขาวสะอาด เป็นผู้ที่ต้องสูญเสียอย่างโหดร้ายเพื่อแลกมาซึ่งเกาะซิซิลีที่หลุดพ้นจากแก๊งมาเฟีย” โรซาริโอ โครเซตตา ประธานาธิบดีซิซิลีคนปัจจุบันกล่าวถึงมัตตาเรลลา

ชื่อเสียงของมัตตาเรลลา ในฐานะผู้ที่มีความเชื่อมั่นและซื่อสัตย์ ส่งผลให้เขาก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งระดับสูงทางการเมืองอย่างรวดเร็วในรัฐบาลพรรคพันธมิตรปีกขวา ทว่ามัตตาเรลลา ผู้มีมุมมองทางการเมืองเอียงซ้ายหันหลังให้พรรคปีกขวาในปี 1990 ในฐานะ 1 ใน 5 รัฐมนตรีที่ประกาศลาออกเพื่อประท้วงกฎหมายควบคุมสื่อที่เอื้อต่อผลประโยชน์กลุ่มทุนสื่อของ “ซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี”มหาเศรษฐีนักธุรกิจชื่อดังที่กลายมาเป็นนายกรัฐมนตรีอิตาลีในเวลาต่อมา

เวลานี้ มัตตาเรลลา ต้องเผชิญกับความท้าทายในการประคับประคองอิตาลีไปสู่การเลือกตั้งในปลายปีนี้ การเลือกตั้งที่หลายฝ่ายมองว่าอาจเป็นการลงประชามติของประชาชนว่าต้องการให้อิตาลีอยู่กับอียูต่อไปหรือไม่!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image