ศาลรธน.เยอรมนีตัดสิน โครงการกู้วิกฤตการเงินของ‘อีซีบี’ไม่ขัดกม.ในประเทศ

AFP PHOTO / Uli Deck

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า ศาลรัฐธรรมนูญเยอรมนี พิพากษาเมื่อวันที่ 21 มิถุนายนว่า เครื่องมือสำคัญที่ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ใช้ในการต่อสู้กับวิกฤตการเงิน สอดคล้องกับกฎหมายของเยอรมนี เป็นการยกคำร้องคัดค้านของกลุ่มเคลื่อนไหวที่มีแนวคิดต่อต้านการรวมตัวเป็นสหภาพยุโรป (อียู)

ศาลรัฐธรรมนูญซึ่งถือเป็นศาลสูงสุดของเยอรมนีตัดสินว่า แผนการกระตุ้นเศรษฐกิจของอีซีบีเมื่อปี 2555 ที่เรียกว่า โอเอ็มที หรือมาตรการเข้าซื้อพันธบัตรหรือตราสารหนี้ระยะสั้น ระยะเวลา 1-3 ปี ของกลุ่มประเทศสมาชิกอียูชอบด้วยกฎหมายภายใต้รัฐธรรมนูญเยอรมนี และอยู่ภายใต้ขอบเขตอำนาจของอีซีบีที่กระทำได้

แม้ว่าจะยังไม่เคยถูกนำมาใช้จริงก็ตาม แต่โอเอ็มทีเป็นส่วนหนึ่งของคำมั่นสัญญาประวัติศาสตร์ของนายมาริโอ ดรากี ประธานอีซีบีที่จะ “ทำทุกอย่างเท่าที่จะทำได้” เพื่อช่วยรักษาค่าเงินยูโรที่บอบช้ำในช่วงร้ายแรงที่สุดของวิกฤตเมื่อปี 2555

คำมั่นสัญญาดังกล่าวซึ่งได้รับแรงหนุนจากการประกาศโครงการโอเอ็มที ช่วยลดต้นทุนการกู้ยืมของหลายๆ ประเทศที่เผชิญกับภาระหนี้สินและให้สัญญาว่าจะปฏิรูป อาทิ อิตาลี สเปนและโปรตุเกส

Advertisement

ทั้งนี้ ฝั่งที่วิพากษ์วิจารณ์บอกว่า มาตรการนี้เหมือนอีซีบีพิมพ์เงินให้ชาติสมาชิกอียูใช้อย่างฟุ่มเฟือย ส่งผลให้ผู้เสียภาษีเผชิญกับความเสี่ยงที่อาจต้องรับภาระในท้ายที่สุด

มีผู้สังเกตการณ์น้อยคนนักที่คาดว่า ศาลรัฐธรรมนูญเยอรมนีจะขัดขวางโครงการของอีซีบี โดยเมื่อเดือนมกราคม 2557 ศาลรัฐธรรมนูญได้แสดงความกังวลต่อโอเอ็มที แต่โยนคดีดังกล่าวให้ศาลยุติธรรมแห่งยุโรป (อีซีเจ) ในลักเซมเบิร์กเป็นผู้ตัดสิน โดยศาลสูงสุดของอียูพิพากษาสนับสนุนโอเอ็มทีโดยระบุว่า จุดประสงค์ของประธานอีซีบีก็เพื่อรักษาเสถียรภาพของค่าเงิน ซึ่งเป็นการสนับสนุนเป้าหมายด้านนโยบายเศรษฐกิจของอียู

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image