ธ.โลกชี้โควิด-19ทำคนจนเพิ่ม ศก.วูบถึงปีหน้า

(แฟ้มภาพ) AFP

ธนาคารโลก หรือเวิร์ลด์แบงก์ เผยแพร่รายงานประเมินสภาวะผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เผยแพร่ที่กรุงวอชิงตันเมื่อวันที่ 30 มีนาคมที่ผ่านมา ระบุว่า การแพร่ระบาดจะส่งผลให้ ผู้ที่คาดว่าจะก้าวพ้นจากขีดความยากจน ไม่สามารถยกสถานะของตนเองได้ ยังคงตกอยู่ในสภาพยากจนมากถึง 24 ล้านคน ในขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดคนยากจนขึ้นมาใหม่อีก 11 ล้านคน รวมแล้วโควิด-19 จะทำให้เกิดคนยากจนในเอเชียเพิ่มขึ้นมากถึง 35 ล้านคน จากการประเมินสถานการณ์ไปในทางเลวร้ายที่สุด โดย 25 ล้านคนในจำนวนนี้อยู่ในประเทศจีน

ทั้งนี้ ธนาคารโลก กำหนดเส้นแบ่งความยากจนเอาไว้ว่า เป็นผู้ที่มีรายได้ต่อวันไม่ถึง 5.50 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 180 บาท

รายงานฉบับนี้ยังระบุด้วยว่า การแพร่ระบาดครั้งนี้มีแนวโน้มจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการผลิตมากเป็นพิเศษ ดังนั้นจึงก่อให้เกิดความเสี่ยงสูงมากกว่ากับครัวเรือนในหลายประเทศ ที่ต้องพึ่งพาอุตสาหกรรมนี้มากเป็นพิเศษ อย่างเช่นในไทย, หมู่เกาะต่างๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิก, ผู้ที่ต้องพึ่งพาอุตสาหกรรมการผลิตในเวียดนามและกัมพูชา และคนที่พึ่งพารายได้จากการว่าจ้างแรงงานอย่างไม่เป็นทางการในประเทศต่างๆ เหล่านี้

ในการประเมินของธนาคารโลก เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกจะขยายตัวต่ำลงมาก โดยในการประเมินพื้นฐาน ในกรณีที่สถานการณ์อยู่ในสถานะปานกลาง เศรษฐกิจจะขยายตัวเพียง 2.1 เปอร์เซ็นต์ในปี 2020 แต่ในกรณีแย่ที่สุด เศรษฐกิจของเอเชียแปซิฟิกจะขยายตัวติดลบ 0.5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งลดลงต่ำมากเมื่อเทียบกับการขยายตัวเมื่อปี 2019 ซึ่งอยู่ที่ 5.8 เปอร์เซ็นต์

Advertisement

เศรษฐกิจจีนจะขยายตัวลดลงเหลือเพียง 2.3 เปอร์เซ็นต์ในกรณีฐาน แต่ในกรณีที่แย่ที่สุด จีนจะขยายตัวเพียง 0.1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นในปีนี้ เทียบกับปีที่ผ่านมาซึ่งขยายตัวอยู่ที่ 6.1 เปอร์เซ็นต์

ธนาคารโลกเรียกร้องให้ทั้งภูมิภาค เร่งลงทุนเพื่อขยายกิจการในกลุ่มบริการด้านสาธารณสุขและการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ พร้อมกับดำเนินมาตรการใหม่ๆ อย่างเช่นการเปลี่ยนเตียงพยาบาลทั่วไปในโรงพยาบาลให้เป็นเตียงพยาบาลผู้ป่วยหนัก (ไอซียู) และเร่งการฝึกอบรมประชากรให้เรียนรู้การดูแลสุขภาพพื้นฐานและการช่วยเหลือแบบกำหนดเป้าหมาย เช่นการอุดหนุนทางการเงินให้ผู้ป่วยสามารถรับเงินเดือนได้หรือ ซิค เพย์ ซึ่งช่วยทั้งในการควบคุมโรคและช่วยเหลือครัวเรือนอีกด้วย

ธนาคารโลกยังเสนอให้ทุกประเทศใช้มาตรการผ่อนปรนสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือครัวเรือนให้สามารถบริโภคได้ราบรื่นและช่วยบริษัทธุรกิจให้อยู่รอด แต่จำเป็นต้องมีการกำกับดูแลอย่างมีประสิทธิภาพด้วย

Advertisement

ธนาคารโลกระบุว่า การควบคุมการระบาดจะช่วยให้แต่ละประเทศเริ่มฟื้นฟูได้ แต่ความเสี่ยงในแง่จากภาวะตึงเครียดทางการเงินจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องไปเกินปี 2020 นี้ ทำให้ประเทศที่มีหนี้สูง, พึ่งพาการส่งออก การท่องเที่ยวและสินค้าโภคภัณฑ์ และพึ่งพาการไหลเข้าของเงินทุนจะมีความเสี่ยงสูงสุดเมื่อเทียบกับประเทศทั่วๆ ไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image