เงินเฟ้อสหรัฐทรุดหนักสุดในรอบกว่า 10 ปี

REUTERS/Marcos Brindicci/File Photo

สำนักข่าวรอยเตอร์ระบุว่า กระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกาเผยแพร่ตัวเลขบ่งชี้สภาวะเงินเฟ้อในประเทศออกมาเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคมนี้ แสดงให้เห็นว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (ซีพีไอ) ประจำเดือนเมษายนในสหรัฐอเมริกาลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่เกิดสถานการณ์เศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ขึ้นในปี 2008 อันเนื่องมาจากความต้องการน้ำมันลดฮวบ เช่นเดียวกับความต้องการจากภาคธุรกิจบริการเมื่อคนอเมริกันจำเป็นต้องอยู่กับบ้านตามมาตรการป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19

ดัชนีซีพีไอของสหรัฐลดลงอีก 0.8 เปอร์เซ็นต์ในเดือนเมษายน ถือเป็นการลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนธันวาคมปี 2008 ขณะที่เกิดเศรษฐกิจถดถอยขึ้นในประเทศ และเป็นการลดลงต่อเนื่องจากเดือนมีนาคมที่ลดลง 0.4 เปอร์เซ็นต์ โดยราคาน้ำมันลดลงมากที่สุด 20.6 เปอร์เซ็นต์ ต่อเนื่องจากการลด 10.5 เปอร์เซ็นต์ในเดือนมีนาคม กลบราคาอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้น 1.5 เปอร์เซ็นต์ในเดือนเดียวกัน

ดัชนีซีพีไอที่ทรุดตัวลงหนักมากในเดือนเมษายนส่งผลให้ ดัชนีซีพีไอของสหรัฐตลอด 12 เดือนจนถึงเมษายนนี้เพิ่มขึ้นเพียง 0.3 เปอร์เซ็นต์ ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2015 อีกด้วย

คอร์ซีพีไอ ซึ่งไม่รวมราคาน้ำมันและอาหารในเดือนเมษายนของสหรัฐอเมริกา ลดลง 0.4 เปอร์เซ็นต์ เป็นการลดลงลงมากที่สุดนับตั้งแต่เริ่มวัดดัชนีนี้ในปี 1957 และเป็นการลดลงต่อเนื่องจากการลด 0.1 เปอร์เซ็นต์ในเดือนมีนาคม ที่เป็นการลดลงต่อเนื่อง 2 เดือนติดเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1982

Advertisement

การลดลงของอัตราเงินเฟ้อ รวมทั้งการที่ตลอดเดือนเมษายนมีคนว่างงานมากถึง 20.5 ล้านคนทำให้ความเสี่ยงที่สหรัฐจะตกอยู่ในภาวะเงินฝืดหรือดีเฟลชันมีสูงมาก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image