ธนาคารโลกเผย ‘โควิด’ ทำศก.โลกพังทลายหนักรอบ 150 ปี

ธนาคารโลกออกมาระบุว่าการแพร่ระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ส่งผลให้เกิดภาวะช็อกครั้งใหญ่ในทันที ซึ่งนำไปสู่การล่มสลายของเศรษฐกิจโลกเป็นวงกว้างที่สุดนับตั้งแต่ปี 1870 แม้ว่ารัฐบาลประเทศต่างๆ จะประกาศสารพัดมาตรการชนิดที่ไม่เคยมีมาก่อนเพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจก็ตาม

ในรายงานการคาดการณ์เศรษฐกิจโลกล่าสุด ธนาคารโลกประเมินว่าเศรษฐกิจโลกจะหดตัวลง 5.2% ในปีนี้ ซึ่งถือเป็นการถดถอยครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบ 80 ปี อย่างไรก็ดีสำหรับประเทศจำนวนหนึ่งผลกระทบจากความสูญเสียทางเศรษฐกิจดังกล่าวจะถือว่าเลวร้ายที่สุดในรอบ 150 ปี

ความเลวร้ายของวิกฤตการณ์ดังกล่าวจะทำให้ผู้คน 70-100 ล้านคนตกอยู่ในสภาพยากจนถึงขีดสุด ซึ่งมากกว่าตัวเลขที่เคยมีการประเมินก่อนหน้านี้ที่ 60 ล้านคน

แม้ธนาคารโลกจะประเมินว่า เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวกลับมาในปี 2564 ที่ราว 4.2% แต่ความเสี่ยงที่จะเกิดการแพร่ระบาดระลอก 2 อาจส่งผลกระทบกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และยังทำให้วิกฤติเศรษฐกิจที่ย่ำแย่หนักอยู่แล้วเลวร้ายลงไปอีก ขณะที่ในหลายประเทศ การถดถอยครั้งใหญ่ซึ่งเกิดขึ้นเพราะโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปหลังจากนี้อีกนานหลายปี

Advertisement

นักเศรษฐศาสตร์ยังคงไม่สามารถที่จะประเมินผลกระทบที่แท้จริงของวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นได้ เนื่องจากผลกระทบปรากฎอยู่ในหลายมิติและในประเทศจำนวนมาก ซึ่งในกรณีที่เลวร้ายที่สุดการถดถอยของเศรษฐกิจโลกจะทำให้เศรษฐกิจหดตัวลงถึง 8%

จีนเกือบจะเป็นประเทศเดียวในปีนี้ที่เศรษฐกิจอาจจะเติบโตปานกลาง อย่างไรก็ดีธนาคารโลกเตือนว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกอาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย โดยเฉพาะประเทศที่ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์เป็นหลัก

ธนาคารโลกประเมินว่าเศรษฐกิจจีนจะเติบโตเพียง 1% ในปีนี้ ขณะที่ประเทศอื่นๆ จะประสบกับภาวะเศรษฐกิจติดลบ โดยสหรัฐ -6.1% ยูโรโซน -9.1% ญี่ปุ่น -6.1% บราซิล -8% เม็กซิโก -7.5% และอินเดีย -3.2%

ธนาคารโลกเตือนว่า สถานการณ์ทุกอย่างสามารถเลวร้ายลงได้อีก ซึ่งหมายความว่าจะต้องมีการปรับลดการประมาณการทางเศรษฐกิจให้ต่ำลงไปกว่าตัวเลขล่าสุดนี้ด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ดีตัวเลขการประมาณการทางเศรษฐกิจดังกล่าวยังถือว่าน้อยกว่าการหดตัวของเศรษฐกิจโลกเมื่อครั้งเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งเศรษฐกิจโลกได้หดตัวลงไปถึง 14.5%

เนื่องจากการแพร่ระบาดใหญ่ยังคงถือว่ามีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะหากโควิด-19 ยังดำรงคงอยู่ และรัฐบาลประเทศต่างๆ ต้องกลับมาใช้มาตรการคุมเข้มอีกครั้งหนึ่ง ก็อาจทำให้ตัวเลขการหดตัวของเศรษฐกิจโลกต่ำกว่า 8%

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image