ศาสนา ดนตรี และแม่ชีในศตวรรษที่ 16

ศาสนา ดนตรี และแม่ชีในศตวรรษที่ 16

ศาสนา ดนตรี และแม่ชีในศตวรรษที่ 16

ในรายการประกวดร้องเพลง The Voice ของประเทศอิตาลีเมื่อปี 2014 กรรมการหลายคนที่กดปุ่มหันเก้าอี้กลับด้านมายังผู้เข้าประกวดหลายคนถึงกับต้องปากอ้าตาค้าง เมื่อพบว่าหญิงสาวที่กำลังร้องเพลงอย่างสนุกสนานและมีพลังเสียงเป็นเยี่ยมนั้นอยู่ในชุดแม่ชีสีดำสนิทตลอดร่าง

หญิงสาวคือ แม่ชีคริสตินา หรือชื่อเต็มว่า Cristina Scuccia ขณะนั้นมีอายุ 26 ปี คลิปการแสดงของเธอมียอดวิวใน YouTube ถึงกว่า 70 ล้านครั้ง และได้รับการตัดสินให้เป็นผู้ชนะ อันสร้างความตื่นเต้นแปลกใจให้แก่ผู้ชมจำนวนมาก เมื่อเห็นว่าผู้อุทิศตนเพื่อศาสนากลับมีความสามารถทางดนตรียอดเยี่ยมถึงเพียงนี้

แต่ในทางประวัติศาสตร์ดนตรีแล้ว นี่ไม่นับเป็นเรื่องแปลก

ศีลธรรมแบบชนชั้นกลางกับอารามนางชี

ใน The Origin of the Family, Private Property and the State (1884) ฟรีดริช เองเงิลส์ อธิบายว่าลัทธิผัวเดียวเมียเดียว (monogamy) ของชนชั้นกลางในยุโรปมีรากฐานมาจากการกดขี่เพศหญิง

Advertisement

และหมายถึงการสถาปนาระบอบการปกครองแบบปิตาธิปไตยขึ้นแทนที่ระบอบมาตาธิปไตยเดิม ซึ่งมีปัจจัยสำคัญอยู่ที่การถือครอง “ทรัพย์สินส่วนบุคคล”

เพศชายถูกกำหนดให้เป็นผู้ปกครองและถือครองทรัพย์สิน ส่วนเพศหญิงก็ถูกทำให้กลายเป็นผู้ถูกปกครองซึ่งไม่มีสิทธิ์ในทรัพย์สิน และถูกจำกัดกิจกรรมอยู่ในอาณาบริเวณบ้านเท่านั้น

แต่เมื่อเพศหญิงไม่อาจครอบครองทรัพย์สิน ผลสืบเนื่องก็คือ ในการแต่งงาน บิดาของฝ่ายหญิงจะต้องแบ่งทรัพย์สมบัติของครอบครัวส่วนหนึ่งออกเป็นสินสมรส (dowry) มอบแก่ฝ่ายเจ้าบ่าว เพื่อเป็นหลักประกันว่าฝ่ายชายจะสามารถเลี้ยงดูบุตรสาวของตนได้อย่างสมเกียรติ

และในกรณีที่ชนชั้นสูงมีบุตรสาวหลายคน การแต่งงานของบุตรสาวย่อมส่งผลให้ทรัพย์สินส่วนรวมของตระกูลต้องลดจำนวนลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ (ดังนั้น การแต่งงานจึงมักถูกจัดขึ้นในระหว่างเครือญาติ เพื่อป้องกันไม่ให้ทรัพย์สินกระจัดกระจายไปยังบุคคลกลุ่มอื่น)

โดยเฉพาะในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 16 ในอิตาลี ที่เกิดปรากฏการณ์เงินเฟ้อ ส่งผลให้ชนชั้นสูงจำนวนมากเลือกที่จะจัดงานแต่งงานให้บุตรสาวบางคนเท่านั้น ส่วนบุตรสาวคนอื่นๆ ที่เหลือ จำเป็นต้องอยู่ในฐานะคนโสด ไม่สามารถแต่งงานตลอดชีวิต

แต่การไม่แต่งงานย่อมเป็นเรื่องที่ผิดธรรมชาติ และระบบศีลธรรมแบบผัวเดียวเมียเดียวของชนชั้นกลางนี้ก็ส่งผลให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา เช่น เกิดอาชญากรรมทางเพศ การคบชู้สู่ชาย การเลี้ยงเมียเก็บของฝ่ายบุรุษ (ที่ไม่อาจหาหญิงสาวมาแต่งงานด้วยได้) เกิดหญิงงามเมือง ซ่องโสเภณี ฯลฯ

ทางออกหนึ่งของชนชั้นสูง ที่จะป้องกันไม่ให้บุตรสาวผู้ไม่ได้รับอนุญาตให้แต่งงานประพฤตินอกลู่นอกทางเป็นที่เสื่อมเสียชื่อเสียงของวงศ์ตระกูล จึงเป็นการส่งบุตรสาวไปยังอารามนางชี (convent) นั่นเอง

และเมื่อหญิงสาวจำนวนมากจำต้องเป็นแม่ชีเพราะถูกบิดาบังคับ ในแง่นี้ อารามนางชีจึงถือได้ว่าเป็นสถานที่แห่งการกดขี่สตรีเพศ เป็นสถานที่ที่ใช้กักขังหญิงสาวจำนวนมากให้พ้นไปจากอิสรภาพในสังคมปกติ

นักประวัติศาสตร์ส่วนมากจึงมองหญิงสาวในอารามนางชีว่าเป็นสตรีที่ถูกกดทับด้วยศีลธรรมแบบเพศชายเป็นใหญ่ ไม่ให้มีสิทธิ์มีเสียง ตัวตนของพวกเธอถูกทำให้มลายหายไปจากสังคม กลายเป็นเหมือนสิ่งมีชีวิตที่ถูกทำให้ “เงียบ” ด้วยการจำขังไว้หลังกำแพงอาราม

แต่จากหลักฐานหลายๆ ประการ นักประวัติศาสตร์ดนตรีรุ่นใหม่เห็นว่าการมองเช่นนี้แม้จะไม่ผิด แต่ก็ไม่ถูกต้องตรงความเป็นจริงเสียทีเดียว

เสียงสวรรค์ในคอนแวนต์

ใน Women and Music : A History (พิมพ์ครั้งที่สอง Indiana University Press 2001) ผู้เขียนคือ Karin Anna Pendle อธิบายว่า ช่องทางสำคัญที่แม่ชีในอิตาลีสมัยนั้นใช้สื่อสารกับสังคมภายนอกคือเพลงดนตรี

ดังปรากฏหลักฐานว่า อารามของแม่ชีเหล่านี้มักแบ่งพื้นที่ออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกคือส่วนที่ศาสนิกชนสามารถเข้ามาปฏิบัติธรรม จัดเป็นพื้นที่ภายนอก

ขณะส่วนที่สองคืออารามส่วนในนั้นเป็นสถานที่ปิดเฉพาะสำหรับแม่ชีเท่านั้น

โดยในการประกอบศาสนกิจ แม่ชีจะเปล่งเสียงร้องเพลงดังมาจากอารามส่วนใน กังวานก้องออกไปยังพื้นที่ส่วนนอก ให้ศาสนิกชนทั้งหลายได้รับฟังเสียงดนตรีอันไพเราะ

เสียงเพลงของเหล่าแม่ชีนี้ได้รับการยกย่องชื่นชมเป็นอย่างมาก จนถึงกับถือเป็นหน้าเป็นตาและเกียรติยศของเมืองเลยทีเดียว

และที่สำคัญ ต้องไม่ลืมว่าหญิงสาวที่เป็นแม่ชีเหล่านี้ล้วนมีพื้นเพอยู่ในตระกูลสูง และอารามที่พวกนางพำนักก็ย่อมได้รับการสนับสนุนทางการเงินและให้การรับรองโดยกลุ่มชนชั้นสูงของเมืองมาตั้งแต่ต้น แม่ชีเหล่านี้จึงเรียกได้ว่า มีสิทธิ์พิเศษหรือสถานะบางอย่างที่ไม่ธรรมดา

ดังนั้น ในบางช่วงบางตอนของประวัติศาสตร์ เมื่อพระชั้นผู้ใหญ่บางรูปสั่งห้ามแม่ชีเล่นดนตรีในอาราม คำสั่งห้ามนั้นก็หาได้รับการแยแสสนใจที่จะปฏิบัติตามไม่

ดังตัวอย่างคำสั่งของศาสนจักรในปี 1584 ที่ระบุให้อารามนางชีทุกแห่งย้ายออร์แกนออกจากอาราม (ไม่ให้เล่น) ก็ไม่ได้รับการปฏิบัติตามแต่อย่างใด

และยังถึงกับมีหลักฐานว่าอารามนางชี Sant’ Omobono ไม่เพียงแต่ไม่ย้ายออร์แกนออกไปเท่านั้น แต่ยังจัดสร้างใหม่ให้มีขนาดใหญ่กว่าเดิมอีกด้วยในปี 1585

การเรียนการเล่นดนตรีในอาราม ยังไปไกลเกินกว่าเสียงร้อง ดังมีหลักฐานบันทึกถึงการบรรเลงดนตรีของเหล่าแม่ชีในอาราม San Vito แห่งเมืองเฟอร์ราราว่างดงามไพเราะมาก

และที่สำคัญ มีบันทึกว่าแม่ชีในอาราม San Vito นี้เล่นเครื่องดนตรีได้เกือบทุกประเภท ทั้งคีย์บอร์ด ทั้งเครื่องสาย รวมไปถึงกระทั่งเครื่องเป่า ซึ่งถือเป็นเครื่องดนตรีต้องห้ามสำหรับเพศหญิงในสมัยนั้น (เนื่องจากกิริยาการใช้ปากกับเครื่องดนตรีถูกถือเป็นความไม่สุภาพ)

นอกจากนั้น ยังมีหลักฐานว่าเพลงที่แม่ชีเหล่านี้ขับร้องในอารามไม่จำกัดอยู่เฉพาะแต่เพลงศาสนา แต่ยังรวมถึงบทเพลงทั่วไป (secular music) ที่ชาวบ้านขับร้องกันด้วย

เพลงชาวบ้านเหล่านี้ส่วนมากมีเนื้อหาเป็นเรื่องความรักระหว่างหนุ่มสาว

และมีเนื้อร้องเป็นภาษาพื้นเมืองที่พูดในชีวิตประจำวัน (vernacular) ตรงข้ามกับเพลงศาสนาที่ต้องใช้ภาษาละตินเป็นหลัก

แม่ชีเหล่านี้ยังมีบทบาทในการแต่งเพลงสรรเสริญพระเจ้าในรูปแบบใหม่ ทั้งที่ใช้ภาษาพื้นเมืองและละติน โดยเพลงแบบใหม่นี้แตกต่างออกไปจากเพลงศาสนาเดิมตรงที่ไม่จำเป็นต้องอ้างอิงถ้อยคำจากพระคัมภีร์ แต่ใช้การเขียนเนื้อร้องขึ้นใหม่ทั้งหมด

ซึ่งส่วนมากแล้วมักเป็นเนื้อหาว่าด้วยความรักความผูกพันระหว่างผู้ขับร้องกับพระเจ้าอย่างเป็นส่วนตัวมากขึ้น

การปฏิรูปศาสนาและบทบาทของสตรี

การเขียนเนื้อร้องแบบใหม่นี้ไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากกระบวนการปฏิรูปศาสนาที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 16 แล้ว

และที่จริงการเขียนเนื้อร้องลักษณะนี้ถูกเริ่มต้นขึ้นในหมู่ผู้ศรัทธาของนิกายคาทอลิกเองด้วยซ้ำ

โดยสตรีที่มีบทบาทสำคัญในกรณีนี้มีตัวอย่างเช่น Marguerite of Navarre (1492-1549) ผู้เป็นน้องสาวของพระเจ้าฟรานซิสที่ 1 แห่งฝรั่งเศส

Marguerite of Navarre ตีพิมพ์ชุดเพลง Chansons spirituelles ในปี 1547 โดยหลายเพลงในจำนวนนั้นถูกดัดแปลงมาจากเพลงร้องเล่นทั่วไปนั่นเอง คือมีการดัดแปลงเนื้อร้องเดิมที่ว่าด้วยความรักระหว่างหนุ่มสาว ให้กลายเป็นความรักระหว่างผู้ศรัทธากับพระเจ้า

ความเปลี่ยนแปลงหลังการปฏิรูปศาสนา คือการที่หลายประเทศในยุโรปหันมาสมาทานนิกายโปรเตสแตนต์ ยังส่งผลให้อารามนางชีหลายแห่งถูกยุบ แม่ชีจำนวนมากจึงกลายสถานะเป็นสตรีสามัญ และนำความรู้ความสามารถทางดนตรีไปสู่การเรียนการสอนบุคคลทั่วไปตามบ้านเรือน

ส่วนการเขียนเพลงศาสนาในนิกายโปรเตสแตนต์โดยสตรีก็ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นจนกลายเป็นเรื่องสามัญในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 มีหลักฐานว่าในช่วงนี้เอง ที่เนื้อหาของเพลงในนิกายโปรเตสแตนต์เริ่มเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

ที่เคยเต็มไปด้วยถ้อยคำรุนแรง การประกาศสงคราม การสละเลือดเนื้อ กลายมาเป็นเพลงที่มีเนื้อหาอ่อนโยน เน้นการแสดงอารมณ์ความรู้สึก ความศรัทธาต่อพระเจ้าอย่างในปัจจุบัน

จากทั้งหมดนี้ เห็นได้ชัดว่าสตรีและแม่ชีในศาสนาคริสต์ มีบทบาทสำคัญมากในการเรียนการเล่นดนตรีในสังคมตะวันตก จนในแง่หนึ่งอาจถือได้ว่า อารามแม่ชีนี้เอง ที่เป็นสถาบันทางดนตรีแห่งแรกๆ ในยุโรป หรืออย่างน้อยที่สุดก็ในอิตาลี

กรณีของแม่ชีคริสตินาแห่งรายการ The Voice ที่กล่าวถึงข้างต้น จึงถือว่าไม่ใช่เรื่องแปลก

แต่อย่างไรก็ตาม การปรากฏตัวของแม่ชีคริสตินาในฐานะนักร้องเพลงป๊อปย่อมสร้างความไม่สบายใจให้แก่คริสตศาสนิกชนอนุรักษนิยมจำนวนหนึ่ง ยิ่งเมื่อในปีเดียวกันนั้นเอง แม่ชีคริสตินายังปล่อย MV ที่เธอร้องเพลง Like a Virgin ของ Madonna ออกมาอีกด้วย

อันเป็นเพลงที่หลายคนมองว่ามีเนื้อหาล่อแหลมทางศีลธรรมเป็นอย่างมาก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image