ไอเอ็มเอฟชี้ ‘ความไม่เท่าเทียม-เงินเฟ้อ’ กระทบศก.ฟื้นตัวหลังโควิด

(แฟ้มภาพ) AFP

ไอเอ็มเอฟชี้ ‘ความไม่เท่าเทียม-เงินเฟ้อ’ กระทบศก.ฟื้นตัวหลังโควิด

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ระบุว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจากวิกฤตโควิด-19 อาจลดความเร็วลงในปีนี้ เนื่องจากประเทศต่างๆ เผชิญกับปัญหาราคาข้าวของที่สูงขึ้น ภาระหนี้สูง และการฟื้นตัวที่แตกต่างกันระหว่างประเทศยากจนที่ตามหลังประเทศที่ร่ำรวย

นางคริสตาลินา กอร์เกียว่า กรรมการผู้จัดการไอเอ็มเอฟ ระบุว่า ประเด็นปัญหาตั้งแต่การเพิ่มขึ้นของราคาอาหารไปจนถึงความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงวัคซีน ล้วนส่งผลกระทบกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกหลังโควิดทั้งสิ้น

“เรากำลังเผชิญกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงยุ่งเหยิงเนื่องจากการระบาดของโควิด รวมถึงผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาด ทำให้เราไม่สามารถที่จะก้าวเดินไปข้างหน้าได้อย่างเหมาะสม”กอร์เกียว่าระบุ

ไอเอ็มเอฟจะออกการคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจใหม่ในสัปดาห์หน้า ซึ่งกอร์เกียว่าเตือนว่า ไอเอ็มเอฟคาดว่าการเติบโตจะลดลงเล็กน้อยในปีนี้ จากเดิมที่มีการคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไว้ที่ 6% ในเดือนกรกฎาคม ขณะที่ความเสี่ยงและอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของโลกอย่างสมสมดุลเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งรวมถึงความแตกต่างที่ถ่างกว้างขึ้นระหว่างประเทศที่ร่ำรวยและประเทศยากจนในวิถีของการฟื้นตัวจากการระบาดใหญ่

Advertisement

กอร์เกียว่าคาดว่า ผลผลิตทางเศรษฐกิจในประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจจะกลับสู่แนวโน้มก่อนเกิดโรคระบาดภายในปี 2565 แต่สำหรับประเทศเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่จะใช้เวลาอีกหลายปีกว่าที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัว ซึ่งการฟื้นตัวที่ล่าช้าเช่นนี้จะทำให้ยากยิ่งขึ้นที่จะหลีกเลี่ยงปัญหาเศรษฐกิจในระยะยาว รวมถึงจากการสูญเสียตำแหน่งงาน ซึ่งส่งผลกระทบคนหนุ่มสาว ผู้หญิง และแรงงานนอกระบบอย่างหนัก

กรรมการผู้จัดการไอเอ็มเอฟเปรียบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นเหมือน “การเดินที่มีก้อนหินอยู่ในรองเท้าของเรา” และมันสามารถออกนอกเส้นทางได้ ปัจจุบันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสำหรับประเทศในยุโรปเร่งความเร็วขึ้น แต่ยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจของโลกอย่างสหรัฐอเมริกาและจีนกำลังเผชิญกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจแบบชะลอตัว

“ในทางตรงกันข้าม ในหลายประเทศการเติบโตยังคงแย่ลงเรื่อยๆ เนื่องจากการเข้าถึงวัคซีนอยู่ในระดับต่ำ และการตอบสนองต่อนโยบายที่จำกัด สะท้อนให้ห็นว่าความเหลื่อมล้ำทางความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจยังคงอยู่อย่างยาวนาน”กอร์เกียว่ากล่าว

Advertisement

กอร์เกียว่ากล่าวด้วยว่า หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นทั่วโลก มาจากราคาอาหารทีเพิ่มขึ้นมากกว่า 30% ในปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกับราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นด้วยเช่นกัน แม้ไอเอ็มเอฟจะคาดว่าสภาวะดังกล่าวจะลดลงในปีหน้า แต่ในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาสถานการณ์เงินเฟ้อจะยังคงดำรงอยู่ต่อไป

ผู้บริหารไอเอ็มเอฟยังประเมินว่าหนี้สาธารณะทั่วโลกจะแตะถึงเกือบ 100% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) โดยเธอได้ขอให้เจ้าหนี้เอกชนเข้าร่วมในโครงการระงับหนี้สำหรับประเทศยากจนของกลุ่ม G20 พร้อมกับเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ แสดงความโปร่งใสเกี่ยวกับหนี้ของตน

กอร์เกียน่าย้ำว่า เราไม่สามารถอยู่ในสถานการณ์ที่เราเห็นเพียงส่วนปลายของภูเขาน้ำแข็งได้ ซึ่งการปิดช่องว่างเหล่านี้จะต้องมีมาตรการต่างๆ รวมถึงการเพิ่มการเข้าถึงวัคซีนป้องกันโควิด-19 ซึ่งถือเป็นการผลักดันที่ใหญ่กว่า และเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของไอเอ็มเอฟและธนาคารโลกที่ตั้งเป้าให้มีการฉีดวัคซีนให้ได้ 40% ทั่วโลกภายในสิ้นปีนี้ และ 70% ในครึ่งปีแรกของปีหน้า

กอร์เกียน่ากล่าวว่า ประเทศต่างๆ ยังควรคว้าโอกาสในการปฏิรูปเศรษฐกิจ โดยมุ่งเป้าไปที่การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน สร้างโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และกำหนดภาษีขั้นต่ำทั่วโลก

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image