ครั้งแรกของโลก! แพทย์มะกันปลูกถ่าย ‘หัวใจหมู’ ในร่างคนไข้

ครั้งแรกของโลก! แพทย์มะกันปลูกถ่าย ‘หัวใจหมู’ ในร่างคนไข้

ทีมแพทย์สหรัฐอเมริกาในโรงพยาบาลแมริแลนด์ได้ทำการปลูกถ่ายหัวใจหมูให้กับคนไข้ชายวัย 57 ภายใต้ความพยายามที่จะยื้อชีวิตของผู้ป่วย โดยหลังการผ่าตัดผ่านไป 3 วัน ชายผู้ซึ่งได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะดังกล่าวยังคงแข็งแรงดี

การทดลองปลูกถ่ายอวัยวะสัตว์ให้กับมนุษย์ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกในโลก อย่างไรก็ดีขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่าการปลูกถ่ายอวัยวะข้ามสายพันธุ์ดังกล่าวจะมีผลอย่างไร แต่ถือเป็นก้าวแรกของการทดลองที่เคยมีการพูดถึงกันมาหลายสิบปีว่า ในวันหนึ่งข้างหน้าเราอาจสามารถใช้อวัยวะของสัตว์มาช่วยต่อชีวิตของมนุษย์ได้

ทีมแพทย์จากศูนย์การแพทย์ของมหาวิทยาลัยแมริแลนด์ระบุว่า การผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าหัวใจซึ่งมาจากสัตว์ที่ผ่านการตัดต่อทางพันธุกรรม สามารถทำงานในร่างกายมนุษย์ได้โดยปราศจากการต่อต้านในทันที

ขณะที่นายเดวิด เบนเน็ต คนไข้รายนี้ตระหนักดีว่า การทดลองดังกล่าวไม่สามารถรับประกันได้ว่าจะเป็นไปด้วยดีหรือไม่ แต่เขากำลังจะตายและไม่อยู่ในข่ายที่มีคุณสมบัติจะได้รับการปลูกถ่ายหัวใจมนุษย์ ดังนั้นเขาจึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากวิธีนี้

Advertisement

“ผมมีทางเลือกแค่สองอย่างคือตายหรือเข้าร่วมการปลูกถ่ายอวัยวะนี้ และผมอยากจะมีชีวิตอยู่ ผมรู้ว่ามันอาจมีความหวังน้อย แต่มันก็เป็นทางเลือกสุดท้ายที่ผมมี” เบนเน็ตระบุผ่านแถลงการณ์ที่มหาวิทยาลัยแมริแลนด์นำมาเผยแพร่ก่อนเข้ารับการผ่าตัด

ล่าสุดเบนเน็ตสามารถหายใจได้เองแต่ยังคงใช้เครื่องช่วยกระตุ้นหัวใจและปอดเพื่อช่วยการทำงานของหัวใจใหม่ ช่วงเวลาสำคัญอยู่ที่หลายสัปดาห์ข้างหน้าขณะที่เขาจะฟื้นตัวจากการผ่าตัด และทีมแพทย์จะสังเกตอาการการทำงานของหัวใจใหม่ของเขาอย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ การขาดแคลนการบริจาคอวัยวะเพื่อใช้ปลูกถ่ายให้กับมนุษย์กลายเป็นปัญหาใหญ่ ทำให้นักวิทยาศาสตร์พยายามหาทางออกว่าจะทำอย่างไรเพื่อนำเอาอวัยวะของสัตว์มาใช้ทดแทน

Advertisement

ดร.โมฮัมหมัด โมฮุดดิน ผู้อำนวยการด้านวิทยาศาสตร์ในโครงการปลูกถ่ายอวัยวะสัตว์สู่มนุษย์ของมหาวิทยาลัยแมริแลนด์ กล่าวว่า หากโครงการนี้เกิดขึ้นได้จริง เราก็จะมีอวัยวะมากมายให้กับผู้ป่วยที่กำลังทนทุกข์ทรมาน

ในอดีตที่ผ่านมาความพยายามในการปลูกถ่ายอวัยวะข้ามสายพันธุ์ดังกล่าวประสบความล้มเหลว ส่วนใหญ่เนื่องมาจากร่างกายของมนุษย์ปฏิเสธอวัยวะของสัตว์ แต่ในครั้งนี้ทีมแพทย์จากมหาวิทยาลัยแมริแลนด์ได้ใช้หัวใจของหมูที่ผ่านการตัดแต่งทางพันธุกรรม โดยนำน้ำตาลที่อยู่ในเซลล์ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ร่างกายมนุษย์ปฏิเสธอวัยวะของสัตว์ออกไป

ปัจจุบันบริษัทไบโอเทคโนโลยีหลายแห่งกำลังพัฒนาอวัยวะของหมูสำหรับการปลูกถ่ายในร่างกายมนุษย์ โดยหัวใจหมูที่ถูกใช้ในการผ่าตัดเมื่อวันศุกร์ที่ 7 มกราคมที่ผ่านมา มาจากบริษัท Revivicor ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ United Therapeutics

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image