IMF ปรับลดการเติบโต ‘สหรัฐ-จีน’ ปีนี้ ศก.โลกชะลอตัวเหลือ 4.4%

REUTERS

IMF ปรับลดการเติบโต ‘สหรัฐ-จีน’ ปีนี้ ศก.โลกชะลอตัวเหลือ 4.4%

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เผยแพร่รายงานการคาดการณ์เศรษฐกิจโลก “เวิลด์ อีโคโนมิค รีพอร์ต” ซึ่งแสดงให้เห็นว่า สหรัฐอเมริกาและจีน สองชาติที่มีเขตเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกกำลังเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวอย่างมีนัยสำคัญในปี 2565

การคาดการณ์ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ไม่สดใสนักเกิดขึ้นในทุกภูมิภาคของโลก ซึ่งจะฉุดการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในภาพรวมให้ลดลง อันเป็นผลมาจากเงินเฟ้อที่พุ่งสูง ปัญหาที่ยังแก้ไขไม่ได้ในเรื่องซัพพลายเชน การปิดกิจการเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงการขาดแคลนแรงงาน ที่ส่งผลกระทบกับประเทศร่ำรวยและยากจนไม่ต่างกัน

ไอเอ็มเอฟระบุว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2565 อยู่ในจุดที่อ่อนแอมากกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ พร้อมกับปรับลดประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจโลกลงเหลือ 4.4% จากที่เคยระบุไว้เดิมที่ 4.9% เมื่อ 3 เดือนก่อนหน้านี้

สำหรับประเทศสหรัฐ ไอเอ็มเอฟชี้ว่าการที่ธนาคารกลางสหรัฐหันมาใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น รวมกับความล้มเหลวในการผลักดันงบประมาณมูลค่า 2.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อโครงสร้างพื้นฐานและนโยบายทางสังคมของรัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจ ไบเดน เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้มีการปรับลดการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐในปีนี้ลง 1.2% มาอยู่ที่ 4%

Advertisement

ขณะที่ในส่วนของจีน ซึ่งถือเป็นกลไกหลักที่ขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ไอเอ็มเอฟระบุว่า การล่มสลายของภาคอสังหาริมทรัพย์และนโยบายคุมโควิดเป็น 0 ที่ควบคุมการเดินทางอย่างเข้มงวด ทำให้ธุรกิจต่างๆ ต้องปิดตัวและมีการลดปริมาณการบริโภคลง ทำให้มีการปรับลดการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนลง 0.8% มาอยู่ที่ 4.8% ในปีนี้

อย่างไรก็ดีไอเอ็มเอฟย้ำว่า การคาดการณ์ตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนสูงมาก ไม่ว่าจะจากปัจจัยเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ภัยธรรมชาติอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ปัญหาด้านซัพพลายเชน รวมถึงการเพิ่มขึ้นของความตึงเครียดทางการเมือง โดยเฉพาะกรณียูเครน

เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ย่างเข้าสู่ปีที่ 3 แล้ว กิตา โกปินาธ รองกรรมการผู้จัดการคนที่ 1 ของไอเอ็มเอฟ กล่าวว่า ความเสี่ยงโดยรวมจากโควิด-19 ถือว่าอยู่ในช่วงขาลง โดยความสูญเสียทางเศรษฐกิจทั่วโลกจากการแพร่ระบาดจะอยู่ที่ราว 13.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ นับจนถึงสิ้นปี 2564

สภาพเศรษฐกิจที่ไม่สดใสนักยังเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่รัฐบาลของประเทศต่างๆ มีสภาพคล่องน้อยลงในการใช้จ่ายเงิน ขณะที่ระดับหนี้เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เพราะรัฐบาลต้องใช้เงินไปกับการรับมือกับวิกฤตด้านสาธารสุขและการให้ความช่วยเหลือประชาชนในประเทศ ทำให้ในอนาคตการใช้จ่ายภาครัฐไม่น่าจะสูงถึงในระดับเดียวกับที่ผ่านมา

นอกจากนี้ประเทศต่างๆ ยังต้องเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งทำให้ค่าเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าในประเทศส่วนใหญ่ของยุโรป และยังทำให้ผู้คนในอีกหลายพื้นที่ของโลก อาทิ ในซับซาฮาราและบราซิล ไม่มีเงินเพียงพอที่จะซื้ออาหารมาประทังชีวิต อีกทั้งสถานการณ์เช่นนี้กินเวลานานกว่าที่คาดการณ์ไว้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image