ดุลยภาค ปรีชารัชช : 1 ปี รัฐประหารพม่า 3 ก๊กอำนาจ สู่รัฐแสนยานุภาพ

ดุลยภาค ปรีชารัชช : 1 ปี รัฐประหารพม่า 3 ก๊กอำนาจ สู่รัฐแสนยานุภาพ

1 กุมภาพันธ์ 2564  พล.อ.อาวุโส มินอ่องลาย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดพม่า เข้ายึดอำนาจรัฐบาลพลเรือน จับกุมตัว นางอองซานซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ ประธานพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) และแกนนำพรรคหลายราย ประกาศสภาวะฉุกเฉิน 1 ปี อ้างเหตุทุจริตจากผลการเลือกตั้ง 8 พฤศจิกายน 2563 ที่เอ็นแอลดีของอองซานซูจี ชนะถล่มทลายกวาดที่นั่ง 396 จาก 476 ที่นั่ง

เสียงความไม่พอใจของประชาชนพม่าทั้งในและนอกประเทศ ลุกขึ้นมาประท้วง เคาะหม้อ กระทะ บีบแตรไล่เผด็จการทันทีอย่างไม่ทันข้ามวัน ประชาชนลุกขึ้นมาประท้วง ชู 3 นิ้ว คลาคล่ำไปตามท้องถนน ไม่เว้นแม้แต่คนดังที่ลุกขึ้นมาแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เรียกร้องประชาธิปไตยบนเวทีระดับนานาชาติ ทั้งนางงาม ดารา กระทั่งผู้แทนทูตของพม่า ที่ชู 3 นิ้ว บนเวทีสหประชาชาติจนถูกลอบสังหาร

เสียงลุกฮือของประชาชน ดังกระหึ่มไปพร้อมๆกับเสียงกรีดร้องของประชาชน ที่ถูกกองทัพสังหาร นับแต่รัฐประหารมีพลเมืองกว่า 1,300 คนที่เสียชีวิต เด็กและเยาวชนจำนวนไม่น้อย ถูกยิงเสียชีวิตจากการลุกขึ้นมาเรียกร้องประชาธิปไตย อีกนับหมื่นคนถูกจับกุมตัว และมีจำนวนไม่น้อยที่ถูกตัดสินประหารชีวิต

ยังไม่รวมประชาชนอีกจำนวนไม่น้อยที่ลุกขึ้นมาจับอาวุธ เข้าร่วมกองกำลังชาติพันธุ์เพื่อสู้กับทหารพม่า ที่กองทัพโต้ตอบด้วยการส่งเครื่องบินรบถล่มค่าย กระทั่งชาวเมืองพม่าหลายร้อยคน อพยพหนีภัยข้ามชายแดนเข้าประเทศไทย

Advertisement

1 ปีหลัง รัฐประหารพม่า การเมืองภายในและภายนอกภายใต้อุ้งมือทหาร ยังคงระส่ำระส่ายและยังมองไม่เห็นทางออก ผศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช รองผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา และ อาจารย์โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญการเมืองพม่าร่วมสมัย ได้ร่วมฉายภาพปัจจุบัน และมุมมองต่ออนาคตของพม่าจากนี้

1 ปีแห่งความระส่ำระส่าย สงครามกลางเมืองในเมียนมา

“1 ปีที่ผ่านมา พม่ามีความรุนแรง ระส่ำระส่าย วิถีชีวิตผู้คนบ้านแตกสาแหรกขาด สาธารณสุขล้มเหลว เศรษฐกิจพัง หลายคนมองว่าเข้าขั้นสงครามกลางเมือง ก็ไม่ผิดนัก เพราะอัตราการสูญเสีย กับการใช้ความรุนแรงเข้มข้นและชัดแจ้งมากขึ้นทุกที นี่ไม่ใช่เรื่องแปลกในพัฒนาการการเมืองพม่า เพราะหลังได้รับเอกราชแล้ว พม่าก็กระโจนเข้าสู่สงครามกลางเมือง ผู้คนพม่า ชนชั้นนำทหาร คุ้นชินกับเรื่องสงครามกลางเมือง แตกแยก และใช้ความรุนแรงเยอะในพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ ทหารพม่าเชี่ยวชาญในการใช้ความรุนแรงสร้างรัฐ ผ่านยุทธสงคราม จึงมีทั้งประสบการณ์และความชินชา ที่กองทัพใช้ความรุนแรงขจัดประชาชน และศัตรูแห่งรัฐ”

ผศ.ดร.ดุลยภาค เปิดบทสนทนา ก่อนขยายภาพการเมืองในพม่าที่ถูกแบ่งออกเป็น 2 ขั้วอำนาจไว้ว่า การเมืองพม่าขณะนี้ หลักๆเป็นการชิงการเป็นรัฏฐาธิปัตย์ของขั้วอำนาจ 2 ฝ่าย

Advertisement

ฝั่งหนึ่งได้แก่ ขั้วที่คุมอำนาจอย่างเป็นทางการ คือขั้วอำนาจของมินอ่องลาย คณะรัฐประหารที่กรุงเนปยีดอ มี SAC หรือ สภาบริหารปกครองแห่งรัฐ และมีกองทัพหลายแสนนายค้ำยันอำนาจ ผสานกับกองกำลังทหารบ้าน กองกำลังพิทักษ์ชายแดน และมีกลุ่มประชาชนเครือข่ายพรรค USDP

และอีกขั้วอำนาจหนึ่ง คือฝ่ายต่อต้านไม่เอาเผด็จการทหาร โดยมีรัฐบาล NUG หรือ รัฐบาลพลัดถิ่น ที่มีฐานกำลังเคลื่อนไหวอยู่นอกประเทศ มีกลุ่มที่เรียกว่า CDM เป็นกระบวนการเคลื่อนไหวของ Civil Society และ PDF หรือกลุ่มกองทัพป้องกันของประชาชน ที่มีกลุ่มกองทัพชาติพันธุ์บางกลุ่มที่เข้าร่วม คอยถ่ายทอดเทคนิค กลยุทธ์ในการต่อสู้ในป่าให้ ขณะที่บางฝ่ายก็ยังคงใช้วิธี  Wait and See เพื่อคอยดูสถานการณ์ว่าจะเข้าร่วมกับฝั่งใด

ขณะเดียวกัน แนวร่วมพันธมิตรที่เป็นมหาอำนาจการเมืองโลกหรือรัฐต่างประเทศอื่นๆ ก็มีการแบ่งขั้วเหมือนกัน ขั้วที่กระฉับกระเฉงในการกดดันรัฐบาลทหารพม่า หรือเอนไปทาง NUG ในอาเซียนก็เห็นเค้าลางของรัฐที่เป็นภาคพื้นสมุทรอย่าง อินโดนีเซีย รวมทั้งสหรัฐ สหภาพยุโรป ชาติตะวันตกบางประเทศ ที่เห็นอกเห็นใจฝั่งประชาธิปไตยที่ถูกโค่นล้มอำนาจ ก็จะมีท่าทีให้กำลังใจรัฐบาล NUG เป็นพิเศษ

อีกฟากหนึ่ง มหาอำนาจในเอเชียอย่างจีน ไปจนถึงรัสเซีย ก็ต้องรักษาความสัมพันธ์กับรัฐบาลทหารที่กรุงเนปยีดอ ด้วยผลประโยชน์ที่มีไม่น้อย หรือท่าทีของกัมพูชา ที่เริ่มปูทางญาติดีกับมินอ่องลาย

พลเอกอาวุโส มินอ่องลาย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดพม่า  REUTERS/Stringer/File Photo

พม่าบนทางแพร่ง รัฐเผด็จการเสนาธิปัตย์ – สหพันธรัฐประชาธิปไตย

ในช่วงที่รัฐพม่ามีความเปราะบาง อ่อนแอ แต่ละฝ่ายต่างรอการเพลี่ยงพล้ำในมุมมองของ ผศ.ดร.ดุลยภาคนี้ รัฐบาลเผด็จการทหารพม่า และ ฝ่ายต่อต้าน ก็ต่างมีโรดแมป ยึดอำนาจในการก้าวไปเป็นรัฏฐาธิปัตย์

เส้นทางเปลี่ยนผ่านทางการเมืองใต้พลังของมินอ่องลายนั้น ออกมาเป็นรูปเป็นรอยเผด็จการเสนาธิปัตย์ กองทัพครองอำนาจ และไม่ว่าจะประเทศจะเป็นแบบใด ทหารจะต้องมีบทบาทเป็นผู้นำในการเมืองระดับประเทศ คณะรัฐประหารวางกลยุทธ์ทำลายกำจัดคู่แข่งทางการเมือง สกัดกั้นไม่ให้ประชาธิปไตยได้สยายปีก ด้วยคดีความต่างๆที่อองซานซูจี และคีย์แมนคนสำคัญของ NLD โดน ก็หมดพลังจะต่อกรกับพรรคการเมืองพลเรือนพรรคใหม่ที่โปรกองทัพ หมดอำนาจต่อสู้ในระบบการเมืองปกติ

ผศ.ดร.ดุลยภาค กล่าวต่อว่า หากกองทัพฝั่งรัฐประหารเป็นผู้ชนะ พม่าจะกลับไปปกครองคล้ายกับระบอบทหารในทศวรรษ 1990 นำโดยพล.อ.อาวุโส ตัน ฉ่วย ทหารพม่าอาจคุมประเทศได้ไม่หมด ได้แต่เขต heartland แต่ฝ่ายตรงข้ามก็จะไม่ทำให้ระบอบทหารระส่ำระส่ายมากนัก หรือหากกองทัพได้คุมอำนาจได้แล้ว ก็อาจมีการเปลี่ยนผ่านจัดให้มีการเลือกตั้งลดแรงกดดันจากนานาชาติในปี 2023 ซึ่งจะเป็นระบบไฮบริด เป็นประชาธิปไตยที่มีระเบียบวินัยเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในช่วง 10 ปีที่แล้ว ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีทางได้เห็น ประชาธิปไตยเต็มใบ

ฟากฝ่ายตรงข้ามกองทัพของ NUG นั้น ผศ.ดร.ดุลยภาค อธิบายไว้ว่า ธงนำในการต่อสู้เรียกว่า “การปฏิวัติสหพันธรัฐประชาธิปไตย” ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในพม่า หรือในหลายๆประเทศ ซึ่งคือการเปลี่ยนรูปแบบรัฐ เรียกร้องสหพันธรัฐ ไม่ให้พม่าเป็นรัฐเดี่ยวแบบรวมศูนย์ เปิดที่ทางให้กองทัพชาติพันธุ์หรือคนพม่าในหลายๆพื้นที่ได้มีการคิดเรื่องการแชร์อำนาจ หรือ ออกแบบรัฐธรรมนูญใหม่ให้สอดคล้องกับรัฐบาล หรือ สภา อย่างน้อย 2 ระดับขึ้นไป คือระดับกลางและมลรัฐ อย่าง แคนาดา หรือสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย

“2 แรงปฏิวัตินี้รวมพลังกัน จากคนแนวคิดไม่ตรงกันแต่อยากสู้กับมินอ่องลาย ฝ่ายแรกคือ ประชาธิปไตยภิวัตน์ มีคนพม่าไม่เอาเผด็จการเป็นแนวร่วมสำคัญ อีกพลังคือ สหพันธ์ภิวัตน์ ซึ่งกองทัพชาติพันธ์ ก็จะสนใจกับการได้สหพันธรัฐ ฝั่ง NUG ได้ออกกฎบัตรมาแล้ว ใช้ชื่อว่า Charter of Democratic Federation นี่คือปรากฏการณ์ใหม่ของขบวนการปฏิวัติ ที่ได้แนวร่วมที่ไมได้มีแค่คนพม่าอย่างเดียว แต่เป็นชนขาติพันธุ์ด้วย ซึ่งการปฏิวัติพูดตรงๆ ก็ต้องใช้ความรุนแรง พวกนี้เป็นกองกำลังติดอาวุธแล้ว มี NDF กองทัพป้องกันประชาชน มี EAO  องค์กรติดอาวุธชาติพันธ์เข้ามาร่วม มีทั้งอหิงสาและความรุนแรง”

ผู้เชี่ยวชาญด้านพม่า มองว่า หากฝั่งนี้พลิกชนะ จะมีการสถาปนาสหพันธรัฐประชาธิปไตย คำถามคือ จะมีการเกลี่ยประสานผลประโยชน์ระหว่างเขตที่เป็นชนชั้นพม่าแท้ กับเขตชาติพันธุ์อย่างไร ไม่มีสิ่งใดรับประกันว่าจะไม่แยกตัวออกจากสหภาพ เมื่อโครงสร้างรัฐหลวม หลายๆเคส สหพันธรัฐก็เป็นบันได ให้กองกลังติดอาวุธในบางดินแดนทำสงครามกลางเมืองต่อเพื่อแยกตัวออกมา หรือกระทั่ง ทำประชามติ ลงคะแนนแยกตัวเหมือนอย่างใน กาตาลุญญา

อย่างไร ในสนามที่ทั้ง 2 ขั้ววัดพลังอำนาจนี้ ผศ.ดร.ดุลยภาค มองว่า ทหารพม่ายังคงได้เปรียบ และยากที่ฝ่ายหลังจะมีชัยชนะเหนือกองทัพ ได้เพียงยื้อ เพราะกลุ่มนี้ ไม่มีศักยภาพในการยึดครองฐานที่มั่น จุดยุทธศาสตร์ต่างๆในระยะยาว

ขยายสู่ 3 ก๊กอำนาจ และจุดเสี่ยงเมื่อกองทัพชาติพันธุ์ไร้เอกภาพ

“ไม่มีมิตรแท้ศัตรูถาวรทางการเมือง” คือหลักทางรัฐศาสตร์ที่นักวิชาการด้านพม่า ยกขึ้นมาอธิบายภาพขององค์กรทางชาติพันธุ์ที่มีกองกำลังติดอาวุธนับสิบๆกลุ่ม มีกลุ่มขั้วอำนาจทางการเมืองทับซ้อน ขาดเอกภาพ

ผศ.ดร.ดุลยภาค กล่าวว่า อย่างรัฐกะเหรี่ยง เราดูโครงสร้างอำนาจของ KNU ซึ่งเคยรุ่งเรืองมากในเรื่องค่ายมาเนอปลอ ของนายพลโบเมียะ ที่วันหนึ่งทัพกะเหรี่ยงที่เคยเป็นที่พึ่งของกลุ่มต่อต้านทหารพม่านี้ก็แตก สาเหตุจากการไม่ลงรอยระหว่างกะเหรี่ยงคริสต์และพุทธ ซึ่งฝั่งหลังไปร่วมมือกับทหารพม่า ใน 10 ปีที่ผ่านมา มีความขัดแย้งระหว่างประธาน KNU คือ มูตู เซพอ ที่ไปเจรจาหยุดยิงกับรัฐบาลพม่ากรุงเนปยีดอ แต่กลุ่มสุดโต่งที่ยังอยากรบ นำโดยรองประธาน ซิโพร่า เส่ง และนายพลบ่อจอแฉ ที่คุมกองพล 5 ก็ไม่พอใจ ซึ่งที่ผ่านมาทหารพม่าโจมตีหนักกระทั่ง KNU ประกาศว่าไม่ว่าจะกลุ่มไหน ก็ขอให้จับมือกันสู้เต็มที่ ถามว่าเมื่อเวลาผ่านไป เอกภาพเฉพาะกิจเช่นนี้ จะมีรอยปริอีกเมื่อใด

REUTERS/Stringer/File Photo

มรดก ตานฉ่วยถึงมินอ่องลาย ทหารผสานรัฐ ทำทหารได้เปรียบ

“ทหารพม่ามองว่า ความมั่นคงของกองทัพและอธิปไตย เป็นสิ่งที่แยกขาดจากกันไม่ได้ หากประชาชนเป็นศัตรูล้มทหาร ก็ถือว่าล้มความมั่นคงของรัฐ ทำให้รัฐระส่ำระส่าย ทหารพม่ากลัวประชาชนร่วมมือกับต่างชาติ แล้วเป็นอย่างกรณี สโลโบดัน มิโลเซวิคในยูโกสลาเวีย หรือซัดดัม ฮุดเซน ถูกจับจากใต้ดินลากขึ้นศาล สิ่งที่เขาระวังคือข้อหาอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ ที่เปิดทางให้ต่างชาติเข้ามา”

“ซึ่งมินอ่องลาย และ ผบ.ทบ.มีความกลัวสิ่งนี้ร่วมกัน”

แม้ว่า หลายคนจะมองว่า กองทัพพม่ามีรอยปริ มีทหารหนีทัพเพราะรับไม่ได้กับการที่ประชาชนถูกสังหารก็ตาม ผศ.ดร.ดุลยภาค กล่าวว่า เมื่ออยู่ในสถานการณ์หลังผิงฝา จำเป็นต้องรบ วัฒนธรรมกองทัพพม่าคือต้องเชื่อฟังสายบังคับบัญชา และระเบียบวินัยกองทัพ อยู่ที่การฟังคำสั่งจากหน่วยเหนือ ที่หากขัดขืนอาจต้องออกจากราชการหรือประหารชีวิต

“อีกหนึ่งจุดแข็งที่ทำให้ทหารได้เปรียบ คือการมี facility ทางการทหารที่คอยหนุนนำ ด้วยเมืองเนปยีดอถูกแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนของประชาชน รัฐบาลพลเรือน รัฐสภา และ กองทัพ ซึ่งมีอุโมงค์ คลังสรรพาวุธ ไฟเบอร์ออปติก ท่อใยแก้วนำแสง ปูทางไว้ตั้งแต่รัฐบาลพล.อ.อาวุโส ตานฉ่วย ที่ออกแบบผังเมืองไว้พร้อมสำหรับศึกภายในและนอก ประชาชนที่จะลุกฮือในเมืองเนปยีดอจึงทำได้ยาก อาจได้เพียงก่อวินาศกรรมเล็กๆน้อยๆ ยิ่งกองกำลังทหารต่างชาติที่เรียกร้องให้บุกล้มระบอบทหาร ยิ่งไม่ง่าย เพราะเขาวาดภาพฉากทัศน์ไว้แล้ว ว่าหากเจอกองกำลังสะเทินน้ำสะเทินบก หรือเรือรบของสหรัฐ เขาจะป้องกันอย่างไร”

มากไปกว่านั้น ผศ.ดร.ดุลยภาค กล่าวว่า ทหารพม่าฉลาดพอ มีข้อมูลอัพเดตว่าทหารพม่าฟื้นกองกำลังทหารบ้านขึ้นมา เป็นกลุ่มประชาชนติดอาวุธ ที่เข้าไปค้นหาทำลายประชาชนที่เป็นผู้ต้องสงสัยว่าต้านเผด็จการ และสังหารโหด ชื่อ ทัพปะยูซอที เมื่อฟื้นขึ้นมาแล้ว เหมือนประชาชนฆ่ากันเอง ประชาชนแต่ละฝ่ายจะติดอาวุธ นี่เป็นความน่าสะพรึงกลัว เพราะไม่ว่าฝ่ายไหนจะชนะ ประเทศชาติจะเละ เพราะมีแต่ศพ ฆาตกรรมสังหารหมู่

นอกจากเมืองและการวางแผนกองกำลังเพื่อรับมือกับฝ่ายปฏิปักษ์ล้มทหารแล้วนั้น นักวิชาการด้านพม่า กล่าวว่า ทหารพม่ายังรู้ดีว่าหากมีสงครามกลางเมือง สู้รบกัน สถาบันการเงิน การธนาคารจะชะงักงัน ซึ่งพม่ามีศักยภาพในการพึ่งตนเอง อย่างน้อยก็ในระยะหนึ่ง ด้วยวิสาหกิจของกองทัพที่คุมเครือข่ายธุรกิจมหาเศรษฐีหลายๆคน ทหารพม่าพยายามควบคุมพื้นที่ ทรัพยากรธรรมชาติที่ทรงคุณค่าหลายๆอย่าง ทั้งเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้า เมกะโปรเจกต์จากจีน หรือเหมืองหยกในคะฉิ่น ทหารรู้ว่าจุดยุทธศาสตร์ใดจะทำเม็ดเงินหล่อเลี้ยงกองทัพได้

“อย่างไรก็ตาม ในแง่จิตวิทยา กองทัพอยู่ลำบากในเชิงจิตวิทยา เขาอยู่ด้วยความหวาดระแวง เห็นได้จากพฤติกรรมของมินอ่องลาย ที่เดินสายทำบุญ สะเดาะเคราะห์ให้ดวงดีขึ้น เพราะให้ทหารไปฆ่าคนเยอะ นี่เป็นพฤติกรรมที่ทหารพม่าอย่าง นายพลตันฉ่วยก็เคยทำ เมื่อสังหารประชาชนแล้วมายกฉัตร จับช้างเผือก แต่วันดีคืนดีหากมีพระรูปไหนประท้วง ก็บอกว่านี่คือกลุ่มวัยรุ่นที่ทำให้ศาสนาเสื่อมเสีย สร้างความชอบธรรมในการจัดการกับพระที่ออกมาประท้วง ทหารพม่าเชี่ยวชาญเรื่องอุบายมารยา มีเคล็ดลับต่างๆ ที่ทำให้เวลาฆ่าคน สังหารคน เขาสบายใจขึ้น มีศาสนาคุ้มกัน”

แฟ้มภาพ พลเอกอาวุโสสูงสุด ตาน ฉ่วย อดีตผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา (REUTERS)

ต้นทุนภูมิศาสตร์ – ไพ่ผลประโยชน์ อาวุธสกัดอำนาจภายนอกแทรกแซง

“พม่าเป็นรัฐที่มีความหลากหลาย ผสมแตกร้าวทางชาติพันธุ์เยอะ และกลุ่มต่างๆใช้ความรุนแรง มีความซับซ้อนของหน่วยดินแดนประชากร นักรัฐศาสตร์บางคนเปรียบพม่ากับอดีตยูโกสลาเวียกับอดีตสหภาพโซเวียต แต่พม่ายังไม่ล่มสลาย เป็นสิ่งที่น่าคิดว่าเพราะอะไร” อาจารย์ด้านพม่ากล่าว ก่อนระบุว่า หนึ่งก็คือ พม่าจะทำทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้มีการแทรกแซงอย่างลึกซึ้งจากมหาอำนาจ จนทำให้พวกกบฏข้างใน พวกทัพชาติพันธุ์ มีแรงหนุนเขย่าอำนาจส่วนกลางได้

สิ่งที่พม่าใช้ในการเล่นเกมทางการเมืองระหว่างประเทศที่ผ่านมา นั่นก็คือ ต้นทุนทางภูมิรัฐศาสตร์

ผศ.ดร.ดุลยภาค กล่าวว่า ผู้นำพม่าเมื่อถึงเวลาที่ถูกกดดัน เขาจะใช้ไพ่ภูมิรัฐศาสตร์แจกจ่ายไปสู่มหาอำนาจ เมื่อคุมสำรับได้ เขาแจกไพ่ ผลประโยชน์ต่างๆก็ช่วยเขา พม่า นับเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญสำหรับจีนในการเป็นประตูสู่อ่าวเบงกอล มหาสมุทรอินเดีย เราเห็นเรื่องระเบียงเศรษฐกิจพม่า ที่จีนมีความพยายามในการคุมแม่น้ำอิระวดีโดยไม่ต้องอ้อมช่องแคบมะละกา รวมไปถึงเป็นออพชั่นในเวทีการเมืองระหว่างอเมริกากับจีน

ขณะที่ อินเดีย ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก ก็ไม่ได้กระตือรือร้นที่จะผลักดันพม่าไปสู่ประชาธิปไตย ด้วยเหตุที่ว่า หากไม่สนับสนุนกองทัพทหารพม่า จีนก็จะส่งเสริมกองทัพพม่า ให้การช่วยเหลือ กระทั่งเข้ามาคุมได้ทั้งหมด อินเดียย่อมไร้ทางเลือกต้องสนับสนุนอาวุธให้กับทหารพม่า เพื่อกลายเป็นรัฐกันชน

“นั่นทำให้เมื่อถามว่า การจะส่งกองทัพเข้ามาตีพม่านั้น จะส่งอะไร หากเป็นสหประชาชาติ จีนกับรัสเซีย ก็มีสิทธิวีโต้ในคณะมนตรีความมั่นคงได้ หรือหากใช้ลัทธิเอกภาคีนิยม เหมือนที่เคยเกิดขึ้นที่อิรัก อัฟกานิสถาน หรือกองกำลัง NATO เข้ามาจัดการ อาจเป็นไปได้ แต่ผลประโยชน์ก็ยังไม่สุกงอมพอ ทั้งสถานการณ์ก็ยังไม่ปั่นปั่นสุดๆ เช่นยูโกสลาเวีย เพราะแม้จะมีแนวโน้มเช่นนั้น แต่ก็ยังไปไม่ถึงจุดนั้น”

“ชาติที่บอกว่ากดดันพม่าอย่างเต็มกำลังนี้ บางช่วงก็คิดว่าอาจไม่ได้แรงขนาดนั้น เพราะมีเรื่องการเล่นเกมทางภูมิรัฐศาสตร์ซ่อนมาอยู่ด้วย” ผศ.ดร.ดุลยภาค กล่าว

ถอดรหัสเกมการเมืองฮุนเซนเยือนพม่า อีโก้ และโฉบเดี่ยว

เปิดปี 2565 ได้เพียง 7 วัน สมเด็จฯฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา เดินทางถึงกรุงเนปยีดอ หลังเข้ารับตำแหน่งประธานอาเซียน นับเป็นผู้นำประเทศคนแรกที่เดินทางไปเยือนเมียนมา หลังรัฐประหาร ที่ก่อให้เกิดทั้งเสียงค้านและแรงสนับสนุน ที่ผศ.ดร.ดุลยภาคมองว่า เป็นการทูตในแบบ “อีโก้ และโฉบเดี่ยว” เกินไป

แรงขับดันของการเดินทางเยือนเมียนมาครั้งนี้ นักวิชาการรายนี้ มองว่า เป็นความต้องการของกัมพูชา ที่กำลังต้องทำผลงานชิ้นโบแดงก่อนการเลือกตั้ง ซึ่งในกิจการระหว่างประเทศนั้น สมเด็จฯฮุน เซน มองว่าจังหวะสบช่องสบโอกาส เนื่องจากกัมพูชาเพิ่งรับไม้ต่อประธานอาเซียนอีกครั้ง

เขาเอง ผ่านยุคสงครามกลางเมือง การสู้รบกับเขมรแดง สังหารประชาชน รัฐบาลเฮงสัมริน และฮุนเซนที่เข้ามาไล่เขมรแดง ทั้งอยู่ในช่วงกระบวนการสันติภาพ มีสหประชาชาติเข้ามา มีการเลือกตั้ง หรือกระทั่งช่วงการชิงรัฎฐาธิปัตย์กัน 2 ขั้วอำนาจ ด้วยสิ่งเหล่านี้ที่มีในตัวสมเด็จฯ ฮุนเซนทั้งหมด ทำให้เขาคิดว่า ประสบการณ์จะช่วย contribute อะไรให้กับรัฐบาลพม่าได้

“แต่ด้วยความเป็นอัตตานิยมของสมเด็จฯ ฮุนเซน รัฐบาลอาเซียน จึงเล่นเกมว่า สิ่งที่กัมพูชาทำลงไปเป็นเพียงความสัมพันธ์แบบทวิภาคี ไม่ได้หมายถึงมาเลเซีย อินโดนีเซีย ซึ่งฟีดแบ็กที่ได้กลับมานั้นไม่ค่อยดี แต่โดยธรรมชาติของผู้นำ และธรรมชาติของกัมพูชา ที่เป็นประเทศเล็กแต่ถูกห้อมล้อมโดยมหาอำนาจ เขามีศิลปะทางการทูตที่จะทำให้กัมพูชาได้รับผลประโยชน์มากขึ้น ซึ่งเมื่อผลประโยชน์เปลี่ยน เขาก็พร้อมพลิกพลิ้วไหวแบบรวดเร็วมาก”

สมเด็จฯฮุน เซน ผู้นำกัมพูชา เดินทางไปเยือนพม่าเป็นชาติแรก หลังรัฐประหาร (An Khoun SamAun/National Television of Cambodia via AP)

ทิศทางไทย บนเวทีการเมืองเรื่องพม่า

ในแง่การดำเนินนโยบายต่างประเทศของไทยต่อกรณีพม่านั้น นักวิชาการด้านพม่า มองว่าไทยไม่มีความโดดเด่นในเรื่องกิจการพม่าในภูมิภาคนี้ หลังจากโดนบรูไน และอินโดนีเซีย มีบทบาทนำในปีก่อน ในปีนี้ กัมพูชา ก็ถือว่ามีบทบาทนำขึ้นมา ในแง่ความสัมพันธ์แบบทวิภาคีที่ไทยได้ดำเนินมากับรัฐบาลเนปยีดอนั้น หากให้มองแล้ว ไทยสามารถมีความสัมพันธ์ระดับผู้นำ หรือ Secret Diplomacy ที่ต่อสายถึงกันได้ หากมินอ่องลายยังอยู่ ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับพม่าในระดับทางการอาจไม่ร้าวฉานมาก แต่มันขาดองค์ประกอบของประชาชนพม่าที่ต่อต้านเผด็จการอยู่ ซึ่งเขาอาจตั้งคำถาม หรือบางสถานการณ์ที่เขาพลิกมาเป็นฝ่ายได้เปรียบ ไทยจะทำเช่นไร

“อย่างน้อยไทยจะทำได้ คือต้องเตรียมสร้างแพลตฟอร์ม ว่าไม่ว่าความสัมพันธ์จะเป็นแบบทวิภาคีหรือแบบใด ก็ต้องเปิดช่องให้คู่ขัดแย้งสามารถคุยกันได้ แต่ไทยเอง จะนำอำนาจใดไปโน้มน้าวมินอ่องลาย การจะนำคู่ขัดแย้งมาพูดคุยกันภายใต้แนวทางการทูตก็ยิ่งยาก เพราะพม่ามีหุ้นส่วนเยอะ ทั้งจีน สหรัฐ และองค์กรต่างประเทศ”

“สิ่งที่ไทยทำได้ คือการหนุนให้ทุกๆฝ่ายหยุดยิง นี่คือสิ่งที่ไทยทำได้ เพราเป็นประเทศที่มีชายแดนทางบก 2,401 กิโลเมตรติดกับพม่า และเราได้รับผลกระทบจากการรบ ซึ่งเวลาที่มีปฏิบัติการทหารพม่าโจมตีกะเหรี่ยง KNU นั้น หากกองกำลังหนีเข้าไทยยังพอควบคุมได้ แต่หัวใจสำคัญคือ ถ้ามีกระสุนตก แนวรบทางอากาศบินมาน่านฟ้าของไทย หรือพม่ายกพลข้ามมาแล้วปักหลักระยะยาว เราจะแก้ไขเรื่องนี้อย่างไร นี่คือสิ่งที่เรา สามารถประกาศเขตหยุดยิง อย่ากระทบอธิปไตยหรือเขตแดนที่ไม่ชัดเจน ก็จะช่วยประคับประครองไปได้”

กลุ่มผู้ลี้ภัยที่หลบหนีการต่อสู้รบ ได้รับความช่วยเหลือจากฝั่งชายแดนไทย ที่แม่น้ำเมย REUTERS/Athit Perawongmetha

พม่าหลังชนฝา จากรัฐเสนาธิปัตย์ สู่รัฐแสนยานุภาพ

1 ปีรัฐประหาร หลายฝ่ายต่างจับตาก้าวต่อไปของคณะรัฐประหารพม่านั้น ผศ.ดร.ดุลยภาค ออกตัวเลยว่า ขอมองโลกในแง่ร้าย โดยขอเสนอสมมติฐานที่ว่า รัฐพม่าน่าจะเคลื่อนตัวจากรัฐเสนาธิปัตย์ สู่ รัฐแสนยานุภาพ

กล่าวคือ พม่าจากรัฐที่มีสถานการณ์ภายในประเทศ ที่เปิดโอกาสให้ทหารไต่ระดับแทรกแซงทางการเมือง กระทั่งยึดอำนาจครองตัวเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ความมีศัตรูภายในและภายนอกเยอะ หนทางเดียวที่จะอยู่รอดคือต้องสร้างสมแสนยานุภาพ ใช้ความรุนแรง อาวุธยุทโธปกรณ์เพื่อจัดการความขัดแย้งในประเทศ

ขณะเดียวกันก็กลัวการรุกรานของต่างชาติ ต้องซื้อยุทโธปกรณ์ ขีปนาวุธยุทธศาสตร์ เรือดำน้ำ ขุดอุโมงค์ใต้ดิน ทำโครงข่ายป้องกันการโจมตีทางอากาศ

“ภัยคุกคามสารพัดทั้งในและนอก บีบคั้นให้ทหารพม่าต้องคิดถึงการสร้างรัฐแสนยานุภาพ ให้เข้มแข็งขึ้นมา เราจะเห็นพฤติกรรมของพม่าที่กำลังทำอยู่ เช่น เรือดำน้ำ ตอนนี้ได้มือสองจากจีนเพิ่มขึ้นเป็น 2 ลำ หรือวันสวนสนามกองทัพพม่า โชว์จรวดหลายลำกล้อง ยิงได้หลายกิโลเมตร พม่าสะสมอาวุธมากขึ้น สิ่งนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วสมัยรัฐบาล SPDC ของพล.อ.ตานฉ่วย ถูกสหรัฐกล่าวว่าเป็นด่านหน้าแห่งทรราช มีแกนอักษะเชื่อมโยงกับเกาหลีเหนือ และอิหร่าน”

“เมื่อหลังชนฝา พม่าก็ต้องเป็นรัฐแสนยานุภาพ ซึ่งสิ่งที่จะคุกคาม mindset ของนักการทหารไทยอย่างอัตโนมัติ ว่าจะต้องมีบ้าง ต้องซื้อเครื่องบินขับไล่ จรวด กระทั่งเรือดำน้ำ

เพราะนี่เป็น Security Dilemma ที่ไม่มีหลักประกัน” ผศ.ดร.ดุลยภาค ทิ้งท้าย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image