นักวิทย์ พัฒนา ‘นิวเคลียร์ฟิวชั่น’ สำเร็จอีกขั้น เปิดประตูสู่พลังงานสะอาดไร้ขีดจำกัด

นักวิทย์ พัฒนา ‘นิวเคลียร์ฟิวชั่น’ สำเร็จอีกขั้น เปิดประตูสู่พลังงานสะอาดไร้ขีดจำกัด

การพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ฟิวชั่น ก้าวเข้าไปใกล้กับความสำเร็จไปอีกขั้นเมื่อนักวิทยาศาสตร์ร่วมในภูมิภาคยุโรป พัฒนาเครื่องให้กำเนิดพลังงานด้วยนิวเคลียร์ฟิวชั่นที่ให้ความร้อนได้ยาวนานขึ้นถึง 2 เท่า เปิดประตูแห่งความหวังที่จะนำไปสู่การกำเนิดพลังงานสะอาดที่ไร้ขีดจำกัดในอนาคต

สำนักข่าวเอพีระบุว่าสำนักงานพลังงานปรมาณูอังกฤษ ระบุ เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า นักวิจัยที่โครงการทดลอง จอยต์ยูโรเปียนทอรัส (Joint European Torus) ใกล้กับเมืองอ็อกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ประสบความสำเร็จในการสร้างพลังงานความร้อนด้วยนิวเคลียร์ฟิวชั่นได้ที่ได้พลังงานมากและยาวนานทำสถิติที่ 59 เมกะจูล ยาวนาน 5 วินาที ก่อนที่เครื่องจะถึงขีดจำกัด โดยผลลัพท์ดังกล่าวทำได้มากกว่าสถิติเดิมที่ทำเอาไว้ได้ในปี 1997 ถึง 2 เท่า

ภาพแกนกลางของเครื่องโทคาแม็ค (EUROfusion)

ห้องปฏิบัติการที่ดำเนินการโครงการดังกล่าว หรือที่รู้จักกันในชื่อ “เจ็ต” (JET) เป็นห้องปฏิบัติการที่ตั้งของอุปกรณ์ที่เรียกว่า “โทคาแม็ค” หรืออุปกรณ์สนามแม่แหล็กรูปโดนัทเพื่อก่อปฏิกิริยาฟิวชั่นที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยวิธีการดังกล่าวถูกมองว่าเป็นหนึ่งในวิธีการที่ได้ผลดีในการสร้างปฏิกิริยาฟิวชั่นที่ควบคุมได้

โดยเครื่องโทคาแม็ค จะใช้สนามแม่เหล็กในการสร้างอุณหภูมิที่สูงขึ้นเพื่อก่อกำเนิดกระบวนการฟิวชั่น อาจมีอุณหภูมิสูงถึง 150 ล้านองศาเซลเซียส หรือร้อนกว่าศูนย์กลางของดวงอาทิตย์ถึง 10 เท่า

Advertisement
ภาพปฏิกิริยาฟิวชั่นที่เกิดขึ้นภายในเครื่องโทคาแม็ค (EUROfusion)

ทั้งนี “พลังงานนิวเคลียร์” ในปัจจุบันนั้นเป็นปฏิกิริยาสร้างพลังงานที่เรียกว่า “ฟิชชั่น” เป็นการแตกตัวของอะตอม ต่างจาก “ปฏิกิริยาฟิวชั่น” ที่เป็นการรวมตัวกันของอะตอม โดยปฏิกิริยานิวเคลียร์ จะทำให้เกิดของเสียจากกระบวนการจำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือ “กัมมันตภาพรังสี” ที่เป็นอันตรายและใช้เวลาสลายตัวนานหลายหมื่นปี

ขณะที่พลังงานจากการฟิวชั่นนั้น ปลอดภัยกว่าและมีของเสียจากกระบวนการที่ต่ำกว่ามาก และใช้แหล่งกำเนิดพลังงานที่น้อยกว่าและสามารถหาได้จากธรรมชาติเช่นสารที่สามารถสกัดได้จาก “น้ำทะเล” ที่มีอยู่อย่างไม่จำกัด วิธีการนี้จึงเป็นทางเลือกสำหรับโลกที่ต้องการเลิกใช้พลังงานจากฟอสซิลที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน

ภาพกว้างของห้องปฏิบัติการเจ็ต ในโครงการจอยต์ยูโรเปียนทอรัส ที่ตั้งของเครื่องโทคาแม็ค (EUROfusion)

ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกใช้เวลาศึกษาวิจัยหาวิธีใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ฟิวชั่น ด้วยวิธีต่างๆกัน โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการผลิตพลังงานแบบเดียวกันกับที่ดวงอาทิตย์ทำได้ ด้วยการผสานรวมอะตอมไฮโดรเจนให้ใกล้กันมากที่สุดจนรวมตัวกันเป็นฮีเลียม ซึ่งจะปลดปล่อยกระแสพลังงานความร้อนออกมาอย่างมหาศาล

Advertisement

สำนักงานพลังงานปรมาณูอังกฤษ ระบุว่า ผลการทดลองดังกล่าวแสดงให้เห็นความเป็นไปได้ที่พลังงานฟิวชั่นจะสามารถให้พลังงานคาร์บอนต่ำที่ปลอดภัยและยั่งยืนได้ในอนาคต

ภาพเจ้าชายวิลเลียม แห่งราชวงศ์อังกฤษ เสด็จเยือน ศูนย์วิทยาศาสตร์คัลแฮม ประเทศอังกฤษ หลังการสร้างเครื่องโทคาแม็คที่พัฒนาขึ้นใหม่เสร็จสมบูรณ์ เมื่อปี 2018 (เอพี)

โทนี ดอนน์ ผู้จัดการโครงการยูโรฟิวชั่น ระบุว่า หากเราสามารถคงปฏิกิริยาฟิวชั่นเอาไว้ได้ 5 วินาที ดังนั้นเราก็จะสามารถทำให้ยาวนานขึ้นเป็น 5 นาที หรือ 5 ชั่วโมง ได้หากเราเพิ่มขนาดของเครื่องจักรต่อไปในอนาคต

ทั้งนี้นักวิทยาศาสตร์หลายคนให้ความเห็นว่าผลการทดลองดังกล่าวนั้นเป็นเรื่องน่าสนใจมาก นับเป็นอีกก้าวสำคัญสำหรับเทคโนโลยีนิวเคลียร์ฟิวชั่น และเวลานี้ก็ขึ้นอยู่กับวิศวกรในการเปลี่ยนพลังงานดังกล่าวให้เป็นพลังงานไฟฟ้าที่ปราศจากการปล่อยคาร์บอน และเชื่อว่าอีก 10-20 ปีอาจสามารถผลิตพลังงานออกใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ โดยไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงจากพลังงานนิวเคลียร์แบบในปัจจุบัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image