วิกฤตยูเครนทำราคาน้ำมันดิบพุ่งกระฉูดอีก 9% แม้ไออีเอ ตกลงปล่อยน้ำมันสำรองสู่ตลาด

วิกฤตยูเครนทำราคาน้ำมันดิบพุ่งกระฉูดอีก 9% ทะลุ $105 ต่อบาร์เรล แม้ไออีเอ ตกลงปล่อยน้ำมันสำรองสู่ตลาด

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานเมื่อวันที่ 2 มีนาคม ระบุว่าราคาน้ำมันดิบพุ่งสูงขึ้นอีกถึง 9 เปอร์เซ็นต์ แม้ว่าองค์กรพลังงานระหว่างประเทศ หรือ ไออีเอ จะเห็นชอบให้มีการปล่อยน้ำมันสำรองออกสู่ตลาดเพื่อลดความกังวลเกี่ยวกับการติดขัดของห่วงโซ่อุปทานน้ำมัน ผลจากรัสเซียเปิดฉากรุกรานยูเครน แต่กลับกลายเป็นการเน้นย้ำให้เห็นถึงความกังวลที่มีมากขึ้น

รายงานระบุว่ากลุ่มไออีเอ ซึ่งมีสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น เป็นสมาชิกเห็นชอบให้มีการนำน้ำมันสำรองจำนวน 60 ล้านบาร์เรล ออกสู่ตลาดเพื่อแก้ปัญหาราคาน้ำมันดิบที่พุ่งขึ้นสูงโดยราคาอ้างอิงหลักพุ่งเกิน 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ไปแล้วก่อนหน้านี้

อย่างไรก็ตาม การปล่อยน้ำมันสำรองจำนวนดังกล่าวซึ่งยังเทียบไม่ได้กับปริมาณการบริโภคน้ำมันทั่วโลกใน 1 วันกลับกลายเป็นการเน้นย้ำให้เห็นความกังวลของตลาดที่มีต่อปริมาณน้ำมันที่อาจไม่สามารถแก้ปัญหาการติดขัดของห่วงโซ่อุปทานได้

ล่าสุดราคาน้ำมันเบรนต์พุ่งขึ้น 9 เปอร์เซ็นต์ เพิ่มขึ้น 8.80 ดอลลาร์สหรัฐ ไปอยู่ที่ 106.77 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเมื่อเวลา 23.43น. ตามเวลาประเทศไทย ใกล้ระดับราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นในรอบวันที่ทำสถิติมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคมปีก่อน

Advertisement

ด้านน้ำมันดับเวสต์เท็กซัส ปรับตัวสูงขึ้น 9.89 ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 10.3 เปอร์เซ็นต์ไปอยู่ที่ 105.61 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล นับเป็นสัดส่วนราคาที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบวันนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปี 2020

โดยราคาน้ำมันเบรนต์ทำราคาสูงสุดนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปี 2014 ขณะที่ เวสต์เท็กซัสทำสถิติสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนมิถุนายนปี 2014

ทั้งนี้มาตรการคว่ำบาตรที่มีขึ้นต่อรัสเซียส่วนใหญ่ไม่ได้พุ่งเป้าไปที่ภาคส่วนพลังงานโดยตรง แต่บรรดาผู้ค้าต่างหลีกเลี่ยงที่จะซื้อขายกับบริษัทผู้ผลิตน้ำมันรัสเซีย ส่งผลให้อุปทานน้ำมันดิบจากส่วนอื่นๆเริ่มติดขัด ทั้งนี้รัสเซียส่งออกน้ำมันดิบราว 4-5 ล้านบาร์เรลต่อวัน และส่งออกน้ำมันที่ผ่านการกลั่นแล้ว 2-3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่ผู้ซื้อน้ำมันรัสเซียก็เจอปัญหาการชำระเงินให้รัสเซีย ส่วนบริษัทขนส่ง เรือบรรทุกน้ำมันหลายแห่งก็จำเป็นต้องยกเลิกการบรรทุกน้ำมันให้รัสเซียเนื่องจากมาตรการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตก

Advertisement

ด้านองค์กรร่วมประเทศผู้ผลิตน้ำมันเพื่อการส่งออก และพันธมิตรซึ่งรวมไปถึงรัสเซีย หรือ โอเปคพลัส ยังคงไม่ได้ส่งสัญญาณแสดงความต้องการเพิ่มกำลังการผลิต แม่ว่าสหรัฐอเมริกาและหลายชาติจะร้องขอไปก่อนหน้านี้ก็ตาม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image