ธนาคารโลก หั่นจีดีพีไทยปี’65 โตเหลือ 2.9% อย่างแย่ 2.6% ชี้สงครามยูเครนกระทบราคาพลังงาน

ธนาคารโลก หั่นจีดีพีไทยปี’65 โตเหลือ 2.9% อย่างแย่ 2.6% ชี้สงครามยูเครนกระทบราคาพลังงาน

ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อวันที่ 5 เมษายน ระบุว่า ธนาคารโลกแถลงก่อนการเผยแพร่รายงาน ตามติดเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ฉบับเดือนเมษายน 2565 โดยปรับลดคาดการณ์การเติบโตของจีดีพี ปี 2565 นี้ลงเหลือ 2.9 เปอร์เซ็นต์ หรืออย่างแย่ที่สุดอยู่ที่ 2.6 เปอร์เซ็นต์ ลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ 3.9 เปอร์เซ็นต์ ผลจากสงครามในยูเครนที่ส่งผลให้ราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่ภาวะเงินเฟ้อ อยู่ที่ 5.3 เปอร์เซ็นต์ สูงกว่าที่คาดหมาย ขณะที่หนี้สาธารณะ อยู่ที่ 62 เปอร์เซ็นต์ต่อจีดีพี คาดนักท่องเที่ยวเข้าไทยปีนี้ 6.2 ล้านคน ช่วยการท่องเที่ยวกระเตื้อง

วรันธร ภู่ทอง นักเศรษฐศาสตร์ธนาคารโลก ระบุว่า ธนาคารโลกปรับประมาณการจีดีพีไทยลงเหลือ 2.9 เปอร์เซ็นต์ ลดลงค่อนข้างมากจากที่เคยประเมินไว้ที่ 3.9 เปอร์เซ็นต์ ประเด็นสำคัญมาจากความเสี่ยงในต่างประเทศโดยเฉพาะสงครามยูเครนที่ส่งผลต่อราคาพลังงาน โดยไทยได้รับผลกระทบมากเพราะนำเข้าพลังงานเป็นสัดส่วนถึง 4.5 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี นั่นส่งผลให้ต้นทุนสูงขึ้น กระทบกับการบริโภคในประเทศ การลงทุน และการส่งออกที่อ่อนแอลง

อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยบวกที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัว นั่นก็คือการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว โดยธนาคารโลกคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวเข้าไทยในปีนี้ที่ 6.2 ล้านคน อย่างไรก็ตาม ยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับช่วงเวลาก่อนโควิด นอกจากนี้ยังมีปัจจัยบวกจากการผ่อนคลายล็อกดาวน์ที่ทำให้การบริโภคในประเทศฟื้นตัวขึ้น

อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงเรื่องราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ประเทศคู่ค้ามีเศรษฐกิจอ่อนแอลง ส่วนนี้หากรุนแรงขึ้นอาจส่งผลให้จีดีพีไทยต่ำลงกว่าการประเมินตามมาตรฐานจาก 2.9 เปอร์เซ็นต์ไปอยู่ที่ 2.6 เปอร์เซ็นต์ได้ การคาดการณ์นี้อยู่ในสมมุติฐาน เช่น สงครามยูเครนส่งผลกระทบกับตลาดการเงิน มาตรการการคลังที่ส่งผลบวกกับเศรษฐกิจน้อยกว่าที่ประเมิน

Advertisement

ในส่วนของนโยบายการเงินของไทย วรันธรระบุว่า ธนาคารโลกประเมินว่าดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะยังคงอยู่ที่ 0.5 ภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังคงเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่แม้จะเติบโตมากกว่าช่วงก่อนโควิด-19 แล้ว แต่ภาคการท่องเที่ยวนั้นยังคงอ่อนแอ อยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด 40 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น แนวโน้มของเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างอ่อนแอ ธนาคารแห่งประเทศไทยคงต้องดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายเพื่อสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ

ในส่วนของเงินเฟ้อในไทยเป็นแรงกดดันจากห่วงโซ่อุปทานเป็นส่วนใหญ่ แรงกดดันสำคัญคือราคาพลังงาน อย่างไรก็ตาม แรงกดดันนี้จะมีเพียงชั่วคราว ด้านแรงกดดันภายนอกกับค่าจ้างแรงงานยังจำกัดเนื่องจากเศรษฐกิจยังฟื้นตัวค่อนข้างต่ำ

ในส่วนของนโยบายการคลังจะเริ่มลดลงเนื่องจากเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้นหลังจากการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ เช่นเดียวกับการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวมากขึ้นทำให้ภาคการท่องเที่ยวดีขึ้น เพราะฉะนั้น การคาดการณ์ดุลการคลังมีแนวโน้มขาดดุลลดลง จากปี 2021 ทำให้หนี้สาธารณะไม่ได้ปรับขึ้นมาก อยู่ที่ 62 เปอร์เซ็นต์ต่อจีดีพี และจะทรงตัวในปีต่อๆไป

Advertisement

ในเรื่องเสถียรภาพหนี้สาธารณะในสกุลเงินต่างประเทศยังอยู่ในระดับต่ำมาก ความเปราะบางภาคหนี้สาธารณะจากการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐยังไม่ส่งผลกระทบกับหนี้สาธารณะของไทยเท่าใดนัก

ในส่วนของนโยบายภาครัฐในการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบได้อย่างตรงจุด เช่น นโยบายคนละครึ่ง ช่วยสนับสนุนร้านค้าต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด สนับสนุนให้การใช้จ่ายคึกคักมากขึ้น ถือเป็นนโยบายเหมาะสม โดยเฉพาะในช่วงที่ราคาน้ำมันพุ่งสูง ทำให้ภาคครัวเรือนรับผลกระทบมากเพราะมีค่าใช้จ่ายด้านอาหารและพลังงานสูงถึง 50 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ ดังนั้น นโยบายต่างๆ ของภาครัฐนับเป็นการลดภาระการใช้จ่ายได้ และตรงจุด โดยธนาคารโลกประเมินว่านโยบายเหล่านี้ทำได้อย่างเหมาะสม

ในส่วนของหนี้ครัวเรือน วรันธรระบุว่า ที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมาตรการไกล่เกลี่ยหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ โดยมีเป้าหมายที่หนี้ครัวเรือน สามารถผ่อนคลายภาระหนี้ครัวเรือน ช่วยเพิ่มช่องว่างการใช้จ่าย นอกจากนี้ยังมีการปรับภาระดอกเบี้ยให้ต่ำลง เป็นอีกมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย

โดยธนาคารโลกประเมินว่า มาตรการปรับโครงสร้างหนี้เพิ่มเติมก็ยังคงมีความจำเป็น แต่ปัจจุบันภาระหนี้ยังคงสูงอยู่เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การกู้ยืมสูงขึ้น และแม้โครงการต่างๆ ในการช่วยลูกหนี้ยังคงช่วยได้ แต่หนี้ครัวเรือนที่จะปรับตัวลงมานั้นต้องใช้เวลา และเรื่องนี้ยังคงเป็นแรงกดดันกับการบริโภคในประเทศในระยะยาวต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image