สงครามรัสเซีย-ยูเครน สู่ ‘วิกฤตอาหาร’ ป่วนโลก

สงครามรัสเซีย-ยูเครน สู่ ‘วิกฤตอาหาร’ ป่วนโลก

วิกฤตสงครามในยูเครนซึ่งเกิดขึ้นนับตั้งแต่รัสเซียนำกำลังรุกรานยูเครนตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ไม่ได้ส่งผลให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของทั้งสองฝ่ายเท่านั้น แต่ยังสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลกด้วย โดยเฉพาะมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียจากชาติตะวันตก ที่ส่งผลให้ราคาพลังงานเพิ่มสูงขึ้นและเกิดภาวะเงินเฟ้อรุนแรงลุกลามไปทั่วโลก

ประเด็นที่น่าห่วงและหลายฝ่ายออกมาเตือนอย่างพร้อมเพรียงกันก็คือ เรื่อง “วิกฤตอาหารโลก” ที่ไม่ใช่เรื่องของการขาดแคลนอาหาร หรือราคาอาหารเพิ่มสูงขึ้นเท่านั้น แต่อาจนำไปสู่ความรุนแรงในระดับจลาจลในหลายประเทศก็เป็นไปได้

วิกฤตการณ์อาหารครั้งนี้สาเหตุไม่ได้มาจากมาตรการคว่ำบาตรพลังงานที่ทำให้เกิดเงินเฟ้อเพียงอย่างเดียว แต่มีส่วนสำคัญมาจากข้อเท็จจริงที่ว่า “รัสเซีย” และ “ยูเครน” นั้นเป็นหนึ่งผู้ส่งออกอาหารอย่าง “น้ำมันดอกทานตะวัน” และ “ข้าวสาลี” รายใหญ่ที่สุดในโลกด้วย

ปัจจุบันแม้ว่าโลกกำลังพัฒนาในหลายๆ พื้นที่ทั่วโลกจะบริโภค “ข้าว” เป็นแหล่งพลังงานหลัก แต่ “ข้าวสาลี” และ “น้ำมันดอกทานตะวัน” ก็เป็นแหล่งพลังงานสำคัญที่เลี้ยงดูประชากรโลกจำนวนมากด้วยเช่นกัน

Advertisement

จากข้อมูลล่าสุดมีการประมาณการเอาไว้ว่า “ข้าวสาลี” ให้พลังงานกับประชากรโลกคิดเป็นสัดส่วนถึง 15 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่น้ำมันพืช มีน้ำมันดอกทานตะวัน ที่เป็นน้ำมัน 1 ใน 4
ชนิดหลักของโลก ให้พลังงานกับมนุษยชาติคิดเป็นสัดส่วนถึง 10 เปอร์เซ็นต์

สำหรับรัสเซียและยูเครน ทั้งสองประเทศมีบทบาทในฐานะผู้ส่งออก “น้ำมันดอกทานตะวัน” รวมกันคิดเป็นสัดส่วนถึง 53 เปอร์เซ็นต์ ของการส่งออกน้ำมันดอกทานตะวันทั่วโลก และยังเป็นผู้ส่งออก “ข้าวสาลี” รวมกันคิดเป็นสัดส่วนถึง 27 เปอร์เซ็นต์ของการส่งออกทั่วโลกด้วย

ด้วยภาวะสงครามทำให้ข้าวสาลีที่อยู่ในสต๊อกประเทศยูเครนจำนวนมากไม่สามารถส่งออกได้ ขณะที่บริษัทขนส่งทางเรือก็ไม่อยากเสี่ยงที่จะเข้าไปขนสินค้าในน่านน้ำที่รัสเซียปิดทางเข้าออกและเต็มไปด้วยทุ่นระเบิด

Advertisement

แน่นอนว่าความต้องการสินค้าทั้งสองชนิดในตลาดโลกจะไม่ลดลง สวนทางกับปริมาณสินค้าในตลาดที่ไม่เพียงพอกับความต้องการ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ราคาสินค้าทั้งสองชนิดจะเพิ่มสูงขึ้น

วิกฤตครั้งนี้ถูกซ้ำเติมให้หนักหนาสาหัสขึ้นไปอีกเมื่อผู้ผลิตอาหารรายใหญ่หลายชาติเริ่มใช้มาตรการ “กักตุนอาหาร” ไม่ว่าจะเป็น “อินเดีย” ที่ประกาศห้ามส่งออก “ข้าวสาลี” เมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา หลังจากเกิดคลื่นความร้อนส่งผลกระทบกับปริมาณผลผลิต

ขณะที่ “อินโดนีเซีย” ผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่สุดของโลกสั่งระงับการส่งออก “น้ำมันปาล์มดิบ” และสินค้าที่เกี่ยวข้องเมื่อเดือนเมษายน ขณะที่ “ฝรั่งเศส” ต้องเผชิญกับความแห้งแล้งและอุณหภูมิที่พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ในเดือนพฤษภาคม ส่งผลกระทบกับผลผลิตธัญพืชอย่างรุนแรง เหตุการณ์เหล่านี้ล้วนแล้วแต่จะทำให้วิกฤตการณ์ทางอาหารเลวร้ายลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ไม่เฉพาะแหล่งผลิตอาหารที่ได้รับผลกระทบเท่านั้น แต่ราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นก็ส่งผลกระทบให้ต้นทุนการผลิต “ปุ๋ย” ที่เป็นส่วนสำคัญสำหรับการผลิตพืชพันธุ์ธัญญาหารทั่วโลกเพิ่มสูงตามไปด้วย

โดยเฉพาะ “รัสเซีย” และชาติพันธมิตรอย่าง “เบลารุส” ซึ่งอยู่ภายใต้มาตรการคว่ำบาตร ก็เป็นผู้ผลิตโพแทช (Potash) แร่สำคัญในการผลิตปุ๋ย โดยทั้งสองชาติมีสัดส่วนการส่งออกโพแทชมากถึง 40% ของการส่งออกทั่วโลก ส่งผลราคาปุ๋ยเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญหลังเกิดสงครามเช่นกัน

ด้วยสาเหตุที่กล่าวมาทั้งหมดส่งผลให้ราคาข้าวสาลีพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ โดยขึ้นถึงจุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในช่วงเดือนมีนาคม และพุ่งขึ้นอีกครั้งเมื่อสัปดาห์ก่อน

ด้านราคาน้ำมันพืชพุ่งสูงขึ้นเช่นเดียวกัน โดย “สถาบันวิจัยนโยบายอาหารนานาชาติ” ระบุว่า ราคาน้ำมันพืชพุ่งสูงขึ้นอย่างมากหากเทียบกับก่อนเกิดสงคราม โดยล่าสุดราคาเพิ่มสูงขึ้นไปแล้ว โดยเฉลี่ยราว 30 เปอร์เซ็นต์

วิกฤตการณ์ด้านอาหารที่เกิดขึ้นไม่ได้ทำให้ราคาอาหารสูงขึ้นจนทำให้คนยากจนไม่สามารถเข้าถึงอาหารได้เท่านั้น แต่อาจทำให้เกิดความรุนแรงตามมาได้เช่นกัน โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดการณ์ถึงความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นจากราคาอาหารที่พุ่งสูงเอาไว้ ก่อนที่จะเกิดเหตุขึ้นจริงๆ ที่ประเทศศรีลังกา เมื่อประชาชนออกมารวมตัวประท้วงค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาอาหารพุ่งสูงขึ้นถึง 46.6 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกันกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ไม่เว้นแม้แต่อิหร่าน ที่มีรายงานว่าประชาชนออกมาประท้วงหลังจากราคาอาหารพุ่งสูงขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน

สถานการณ์ดังกล่าวตรงกันกับรายงานการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรืออังค์ถัด ที่ออกมาเตือนว่าความรุนแรงในช่วง 10 ปีล่าสุดนั้นมีรูปแบบที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับราคาอาหารที่พุ่งสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์จลาจลเนื่องจากการขาดแคลนอาหารในหลายประเทศระหว่างปี 2007-2008 เช่นเดียวกับเหตุอาหรับสปริงในปี 2011 และสถานการณ์รูปแบบเดียวกันนั้นกำลังจะเกิดขึ้นในเวลานี้ด้วยแล้ว

อังค์ถัดระบุด้วยว่า ประเทศใน “แอฟริกา” ที่มีถึง 25 ประเทศที่นำเข้าข้าวสาลีจากยูเครนและรัสเซียคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของการนำเข้าข้าวสาลีทั้งหมดจะได้รับผลกระทบจากวิกฤตในครั้งนี้มากที่สุด

แน่นอนว่าเสียงเรียกร้องจากนานาชาติ ไม่ว่าจากโครงการอาหารโลก (ดับเบิลยูเอฟพี) หรือ นายอันโตนิอู กุแตเรซ เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เรียกร้องให้นานาชาติหาทางออกของปัญหานี้ รวมถึงเรียกร้องไปยังรัสเซีย ผู้ก่อสงครามในครั้งนี้เปิดทางให้มีการส่งออกธัญพืชจากยูเครน หาแนวทางเปิดทางให้ผลผลิตด้านอาหารจากรัสเซียเข้าถึงตลาดโลก เพื่อลดผลกระทบด้านราคาอาหารทั่วโลกลง

อย่างไรก็ตาม รัสเซียยังคงยืนยันว่า จะยอมร่วมมือด้วยหากชาติตะวันตกยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียลง หนทางที่ไม่น่าจะเป็นทางเลือกที่ชาติตะวันตกจะยอมทำตามได้ง่ายๆ

ด้วยสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ตราบใดก็ตามที่นานาชาติยังไม่สามารถหาหนทางแก้ไขปัญหาร่วมกันได้ ขณะที่รัสเซียยังคงเดินหน้ารุกรานยูเครนต่อไป คงพอจะ

คาดการณ์ได้ว่า “วิกฤตอาหารโลก” ครั้งนี้จะยังคงดำเนินต่อไปและอาจรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างแน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image