จีนเอาด้วย เปิดโครงการศึกษาคลื่นแรงโน้มถ่วง 3 แห่ง ทั้งภาคพื้นดินและอวกาศ

สื่อท้องถิ่นของประเทศจีนรายงานเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ระบุว่า นักวิทยาศาสตร์จีนได้เปิดตัวโครงการศึกษาคลื่นแรงโน้มถ่วงแล้ว 3 แห่ง โดยการเปิดโครงการดังกล่าวมีขึ้นหลังทีมนักวิทยาศาสตร์สหรัฐคนพบคลื่นแรงโน้มถ่วง สามารถพิสูจน์ทฤษฎีของไอน์ สไตน์ นักวิทยาศาสตร์ชื่อก้องโลกเมื่อ 100 ปีก่อนได้เป็นครั้งแรกของโลก

รายงานระบุว่า โครงการศึกษาแรงโน้มถ่วงของจีนที่มีแผนที่จะเปิดดำเนินการแห่งแรกเป็นโครงการของ ไชนีสอะคาเดมีออฟไซน์ส (ซีเอเอส) โครงการที่จะศึกษาคลื่นแรงโน้มถ่วงโดยมีฐานปฏิบัติการอยู่ในอวกาศ มีชื่อโครงการว่า “ไท่จี๋” โดยจะส่งดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศเพื่อใช้ตรวจสอบคลื่นแรงโน้มถ่วง เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยซุน ยัตเซ็น โครงการแห่งที่สอง ที่มีแผนส่งดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศเพื่อวัตถุประสงค์เดียวกัน ขณะที่โครงการแห่งที่ 3 เป็นโครงการของสถาบันไฮเอเนอร์จี หน่วยงานของซีเอเอส เตรียมสร้างสถานีศึกษาคลื่นแรงโน้มถ่วงโดยมีฐานปฏิบัติการอยู่บนพื้นโลก

อย่างไรก็ตาม รายงานข่าวระบุว่าทั้งสามโครงการยังไม่ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลจีน ขณะที่หนังสือพิมพ์พีเพิลส์เดลี กระบอกเสียงของทางการจีนอ้างคำสัมภาษณ์ของนาย หู เหวินรุ่ย นักฟิสิกส์ชาวจีนระบุว่า หากจีนสามารถส่งดาวเทียมของตัวเองขึ้นสู่อวกาศได้ จีนจะมีโอกาสเป็นผู้นำของโลกในการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับคลื่นแรงโน้มถ่วง

ทั้งนี้ เมื่อสัปดาห์ก่อนนักวิทยาศาสตร์ในโครงการ Laser Interferometer Gravitational-wave Observatory (ไลโก) ของสหรัฐ ประสบความสำเร็จในการค้นพบคลื่นแรงโน้มถ่วงที่ถูกส่งออกมาจากการชนกันของหลุมดำสองหลุมที่อยู่ห่างจากโลกราว 1.3 ล้านปีแสง นับเป็นการพิสูจน์ทฤษฎีที่ไอน์ สไตน์ เคยทำนายเอาไว้และเปรียบได้กับการก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ของการสำรวจอวกาศ เช่นเดียวกับที่กาลิเลโอที่ใช้กล้องโทรทรรศน์สำรวจอวกาศเป็นครั้งแรก

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image