สื่อนอกพร้อมใจตีข่าว ศาลสั่งยุบพรรคก้าวไกล ชี้ผลกระทบจำกัด ลุ้นคดีเศรษฐาต่อสัปดาห์หน้า หวั่นทำการเมืองไทยป่วน
สำนักข่าวต่างประเทศหลักๆ ทั้งเอพี เอเอฟพี รอยเตอร์ และบีบีซี ต่างพากันนำเสนอข่าวศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกล และตัดสิทธิคณะกรรมการบริหารพรรค 11 คน โดยรอยเตอร์ระบุว่า การยุบพรรคก้าวไกลที่ชนะการเลือกตั้งในปี 2566 ถือเป็นความพ่ายแพ้ครั้งล่าสุดของพรรคการเมืองหลักของไทย ที่ยังคงพัวพันกับการต่อสู้แย่งชิงอำนาจมาอย่างยาวนานกว่า 2 ทศวรรษ กับกลุ่มผู้มีอิทธิพลอย่างกลุ่มอำนาจเก่า กลุ่มเศรษฐีเก่า และกลุ่มนายพล
การตัดสินคดียุบพรรคมีขึ้น 6 เดือนหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญได้สั่งให้พรรคก้าวไกลยกเลิกแผนปฏิรูปที่เกี่ยวเนื่องกับสถาบัน ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญและเสี่ยงที่จะทำลายระบอบการปกครอง แต่พรรคก้าวไกลปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว
รอยเตอร์ชี้ว่า แม้การยุบพรรคก้าวไกลจะทำให้ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งที่เป็นเยาวชนและคนเมืองหลายล้านคนที่สนับสนุนพรรคก้าวไกล และนโยบายของพรรคไม่พอใจ แต่คาดว่าผลกระทบจากการตัดสิทธิดังกล่าวจะมีอยู่อย่างจำกัด โดยมีเพียงผู้บริหารระดับสูงของพรรคและอดีตสมาชิกพรรค 11 คนที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 10 ปี
ขณะที่สมาชิกรัฐสภาของพรรคก้าวไกล 143 คนของพรรคก้าวไกลในสภาจะยังคงรักษาที่นั่งของพวกเขาเอาไว้ได้ต่อไป และคาดว่าคงจะมีการรวบรวมกันภายใต้พรรคใหม่เช่นเดียวกับที่เคยทำในปี 2562 เมื่อพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบจากการละเมิดกฎหมายเกี่ยวกับการจัดหาเงินทุนในการรณรงค์หาเสียง
คำตัดสินของศาลยังเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่มีความสำคัญของการเมืองไทย จากรอยร้าวที่ปรากฏขึ้นระหว่างกลุ่มอนุรักษนิยมกับพรรคการเมืองที่เป็นศัตรูกันยาวนานอย่างพรรคเพื่อไทย ที่ในสัปดาห์หน้า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะต้องฟังคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญในคดีที่สมาชิกวุฒิสภาฝ่ายอนุรักษนิยม ได้ยื่นฟ้องให้ปลดนายเศรษฐาออกจากตำแหน่ง จากการแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน ที่เคยต้องโทษจำคุกให้ดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี ซึ่งนายเศรษฐาปฏิเสธจะยืนยันว่าการแต่งตั้งดังกล่าวเป็นไปโดยสุจริตใจ
คดีของนายเศรษฐาเป็นอีกหนึ่งในปัจจัยที่เพิ่มความไม่แน่นอนทางการเมือง และทำให้ตลาดการเงินปั่นป่วน และมีแนวโน้มว่าการเมืองไทยจะวุ่นวายยิ่งขึ้นหากนายเศรษฐาถูกตัดสินให้พ้นจากตำแหน่ง เพราะการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ต้องทำโดยการลงคะแนนเสียงในรัฐสภา ซึ่งอาจทำให้พรรคเพื่อไทยต้องเผชิญหน้ากับพรรคที่เป็นพันธมิตรร่วมรัฐบาลในปัจจุบัน ซึ่งอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพรรคร่วมรัฐบาล รวมถึงการปรับโครงสร้างคณะรัฐมนตรีและนโยบายต่างๆ ในอนาคต
ด้านเอเอฟพีพาดหัวข่าวที่มุ่งเน้นไปที่คำตัดสินยุบพรรคก้าวไกลของศาลรัฐธรรมนูญและการตัดสิทธิกรรมการบริหารของพรรคก้าวไกลเป็นเวลา 10 ปี โดยเฉพาะนายนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่เอเอฟพีชี้ว่าเป็นนักการเมืองที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของไทยที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง โดยเอเอฟพีระบุว่าความนิยมของนายพิธาเพิ่มสูงขึ้นก่อนการเลือกตั้ง ในขณะที่เขาเป็นที่โดนใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งรุ่นเยาว์และผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเมืองด้วยการให้คำมั่นว่าจะปฏิรูปกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แต่การได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีหลังนายพิธานำพรรคก้าวไกลชนะการเลือกตั้ง กลับถูกสกัดจากกลุ่มอนุรักษ์นิยมในวุฒิสภา และเส้นทางการเมืองของนายพิธาต้องสั่นคลอนอีกครั้งในเดือนมีนาคมเมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้มีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกล เนื่องจากมีพฤติการณ์อันเป็นการล้มล้างการปกครองดังที่มีคำตัดสินข้างต้น
เอพีรายงานโดยอ้างคำให้สัมภาษณ์ของเอมี สมิธ ผู้อำนวยการบริหารองค์กรสิทธิมนุษยชน Fortify Rights กล่าวก่อนคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญว่า ความพยายามในการยุบพรรคก้าวไกลถือเป็นการโจมตีหลักการประชาธิปไตยโดยตรง ซึ่งบั่นทอนพันธกรณีของประเทศไทยต่อสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง
ด้านซีเอ็นเอ็นวิเคราะห์ว่า จากการสัมภาษณ์คนรุ่นใหม่ในไทยก่อนหน้านี้ พวกเขารู้สึกว่าพวกเขาเป็น “คนรุ่นที่ถูกลืม” ที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหารมานานกว่า 9 ปี ทั้งยังมีอุปสรรคในการหางานหรือซื้อบ้าน และมองไม่เห็นอนาคตในไทย ดังนั้นการตัดสินของศาลในคดียุบพรรคก้าวไกลมีแนวโน้มที่จะทำให้คนรุ่นใหม่รู้สึกผิดหวังมากกว่าเดิม เนื่องจากพวกเขามีความหวังเพียงน้อยนิดที่จะเปลี่ยนแปลงการเมืองไทยได้