‘อียู-ผู้ดี-กีวี-ออสซี่’ ชี้ยุบพรรคก้าวไกล เป็นความถดถอยของความหลากหลายทางการเมือง
ผู้สื่อข่าวมติชนรายงานว่า หลังการยุบพรรคก้าวไกล รัฐบาลหลายประเทศได้ออกมาแสดงท่าทีในเรื่องดังกล่าว โดยสหภาพยุโรป (อียู) ออกแถลงการณ์ว่า การตัดสินใจของศาลรัฐธรรมนูญในการยุบพรรคก้าวไกล ซึ่งถือเป็นพรรคการเมืองชั้นนำที่ได้รับการเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคม 2023 ด้วยคะแนนเสียงถึง 14 ล้านเสียง จากจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง 39 ล้านเสียง ถือเป็นความถดถอยของความหลากหลายทางการเมืองในประเทศไทย
ทั้งนี้ ไม่มีระบอบประชาธิปไตยที่สามารถทำงานได้โดยไม่มีความหลากหลายของพรรคการเมืองและผู้สมัครจำนวนมาก ข้อจำกัดใดๆ ต่อการใช้เสรีภาพในการรวมตัวและการแสดงออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านการจัดกิจกรรมและการจัดตั้งพรรคการเมือง จะต้องสอดคล้องกับบทบัญญัติและหลักการที่เกี่ยวข้องกับตราสารระหว่างประเทศ รวมถึงกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง
สิ่งสำคัญคือทางการจะต้องแน่ใจว่าสมาชิกรัฐสภาที่ได้รับเลือกตั้งโดยชอบธรรมทุกคนยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ในรัฐสภาต่อไปได้ โดยไม่คำนึงถึงพรรคการเมืองที่พวกเขาได้รับเลือกมา
อียูพร้อมที่จะเพิ่มพูนการมีส่วนร่วมกับไทยภายใต้ความตกลงความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือที่ลงนามเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2022 รวมถึงประเด็นของความหลกาหลายทางประชาธิปไตย เสรีภาพขั้นพื้นฐาน และสิทธิมนุษยชน
ด้านโฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักรออกแถลงการณ์ต่อกรณีการยุบพรรคก้าวไกลว่า “ความหลากหลายทางความคิดและเสรีภาพในการแสดงออกเป็นหลักการสำคัญในระบอบประชาธิปไตย การตัดสินคดียุบพรรคการเมืองใหญ่ในประเทศไทยอีกพรรคหนึ่งจึงเป็นความถดถอยของหลักการเหล่านี้ รัฐบาลสหราชอาณาจักรขอสนับสนุนให้พรรคการเมืองทุกพรรคยึดมั่นในเรื่องสิทธิตามระบอบประชาธิปไตยและการเป็นตัวแทนของประชาชน”
ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศและการค้านิวซีแลนด์ ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 8 สิงหาคมว่า “จากกรณีที่ศาลไทยมีมติยุบพรรคก้าวไกลและเพิกถอนสิทธิกรรมการผู้บริหารพรรคทางการเมืองเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม นิวซีแลนด์สนับสนุนการปกครองในระบอบประชาธิปไตยและสิทธิตามระบอบประชาธิปไตยทั่วโลก รวมถึงสิทธิของผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่จะเลือกสมาชิกผู้แทนราษฎรตามเสรีภาพที่ตนพึงมี
นิวซีแลนด์ตระหนักว่า พรรคก้าวไกลเป็นพรรคฝ่ายค้านที่ใหญ่ที่สุดในรัฐสภาไทย และพรรคฝ่ายค้านมีบทบาทสำคัญในการบริหารตามระบอบประชาธิปไตย เนื่องจากเป็นตัวแทนของประชาชนที่ใช้สิทธิของตนในการลงคะแนนเสียงเลือกผู้แทน”
ด้านกระทรวงต่างประเทศและการค้าของออสเตรเลีย เผยแพร่ถ้อยแถลงว่า ออสเตรเลียรับทราบคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญไทยเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม ให้ยุบพรรคก้าวไกล และตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรคทั้งในปัจจุบันและอดีตทั้ง 11 คน ออสเตรเลียเชื่อว่าการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย แนวคิดพหุนิยม และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นหลักประชาธิปไตยที่สำคัญ หลักการเหล่านี้ไม่ได้รับการสนับสนุนจากการยุบพรรคก้าวไกล
ประชาชนชาวไทยให้การสนับสนุนกระบวนการเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคม 2566 อย่างล้นหลาม โดยมีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งสูงเป็นประวัติการณ์ที่ร้อยละ 75.22 พรรคก้าวไกลชนะคะแนนเสียงกว่า 14 ล้านเสียง ในฐานะเพื่อนและพันธมิตร ออสเตรเลียสนับสนุนให้ประเทศไทยยึดมั่นในการมีส่วนร่วมทางการเมืองที่ครอบคลุม ซึ่งสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชน
ส่วนฮิวแมนไรท์วอทช์ระบุว่า การยุบพรรคก้าวไกลถือเป็นการละเมิดสิทธิของสมาชิกพรรคในการแสดงออก การสมาคม การชุมนุมโดยสงบ และการมีส่วนร่วมตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งได้รับการรับรองภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งประเทศไทยให้สัตยาบันในปี 2539