เกษตรต่างแดน : ข้าวกัมพูชา…เส้นทางยังอีกยาวไกล

Cambodian farmers grow rice in a field in Kampong Speu province, some 60 kilometers south of Phnom Penh on August 8, 2010. Cambodia's parliament approved a five-year national development plan on May 31 aimed at achieving annual growth of six percent, helped by billions of dollars in foreign aid. TOPSHOTS AFP PHOTO / TANG CHHIN SOTHY

 

กัมพูชา เป็นประเทศเล็ก มีพื้นที่ราว 178,520 ตารางกิโลเมตร หรือราวครึ่งหนึ่งของไทย ในจำนวนนี้มีที่ดินที่สามารถเพาะปลูกได้ราว 22 เปอร์เซ็นต์ พื้นที่ตอนกลางของประเทศเป็นที่ราบลุ่ม ใกล้ทะเลสาบใหญ่อย่างโตนเลสาบ ซึ่งเป็นทะเลสาบใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กินพื้นที่ใหญ่กว่ากรุงเทพฯ รวมกับเมืองนนท์

พื้นที่ตอนกลางนี่แหละที่เป็นพื้นที่ผลิตข้าวสำคัญ ส่วนทางตอนตะวันออกเฉียงเหนือ และตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจะเป็นภูเขาเสียเยอะ

กัมพูชา มีพรมแดนติดไทย ลาว และเวียดนาม อากาศก็เป็นแบบมรสุมเหมือนบ้านเรา มีหน้าฝนไม่ยาวเท่าหน้าแล้ง

Advertisement

ประชากรกัมพูชามีราว 15 ล้านคน เมื่อ 4-5 ปีก่อน แต่เพิ่มอย่างรวดเร็ว เพราะการคุมกำเนิดยังไม่ทั่วถึง และคนยังยากจน ไม่สามารถเข้าถึงระบบการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพได้

ประชากรกัมพูชาอยู่ภาคเกษตรกรรมถึง 66% ผลผลิตสำคัญคือ ข้าว ยางพารา ข้าวโพด ผัก ถั่วลิสง มันสำปะหลัง และหม่อนไหม

รายได้จากภาคเกษตรนับเป็น 1 ใน 3 ของรายได้ประชาชาติในปี 2554 แต่พักหลังนี้ภาคการลงทุน ภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการผลิตเครื่องนุ่งห่ม ภาคก่อสร้างและภาคบริการเข้ามามีส่วนสำคัญ เพราะกัมพูชาเป็นเมืองท่องเที่ยว มีนครวัดเป็นแม่เหล็กสำคัญ

Advertisement

กัมพูชามีน้ำมันและแร่ธาตุมีค่า ที่ยังอยู่ระหว่างสำรวจขุดเจาะอีกมาก ถ้าได้จริงขึ้นมา เราจะได้เห็นประเทศร่ำรวยขนาดใกล้เคียงกับบรูไนเกิดขึ้นมาอีกประเทศหนึ่ง

3

ความอดอยากขาดแคลนในช่วงการปกครองของเขมรแดงทำให้คนกัมพูชาต้องขอดกินข้าวทุกเมล็ด จนไม่เหลือไว้ทำพันธุ์ การทำนาก็ไม่ได้ผล เพราะสงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อยาวนาน ในช่วงเขมรแดงนายิ่งย่ำแย่ ประชาชนไม่มีแรงจูงใจ เพราะผลผลิตตกเป็นของรัฐ ประชาชนเป็นเพียงแรงงานทาส

จนหลายปีให้หลังเมื่อกัมพูชาหลุดพ้นจากระบบเขมรแดง และประเทศเผชิญปัญหาความยากจนและเสียขวัญอย่างหนัก สถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ หรือ IRRI (International Rice Research Institute) เข้าไปช่วยเหลือ โดยขนเอาเมล็ดข้าวท้องถิ่นของกัมพูชาที่สถาบันเก็บไว้มาให้และขยายพันธุ์ ตรงนี้ต้องชื่นชม IRRI ที่คิดเรื่องการเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวท้องถิ่นไว้ในคลังของสถาบัน ตั้งแต่ช่วงคริสต์ทศวรรษ 1960

IRRI ยังเข้ามาช่วยพัฒนาพันธุ์ แนะนำวิธีการปลูก หลังจากใช้เวลากันอยู่หลายปี กัมพูชาจึงเริ่มมีข้าวพอกิน โดยไม่ต้องขอความช่วยเหลือจากใครอีกในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1990

เป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี ที่ไม่ต้องขอข้าวใครกิน

นับจาก ปี 1994 เป็นต้นมา ผลผลิตข้าวต่อไร่ของกัมพูชาดีขึ้นเรื่อยๆ เฉลี่ยปีละ 5.4 เปอร์เซ็นต์ จาก 1.6 ตัน ต่อเฮกตาร์ (ราว 6 ไร่ครึ่ง) มาเป็น 3 ตันต่อเฮกตาร์ หรือไร่ละครึ่งตัน ในช่วงปี 2553 ผลผลิตข้าวหน้าแล้งจะดีกว่าหน้าฝนมาก แต่เขาก็นิยมปลูกข้าวหน้าฝน เรียกว่าราว 75 เปอร์เซ็นต์ ของทั้งหมดเป็นนาหน้าฝน ที่เหลือก็ปลูกหน้าแล้งเพิ่ม

กัมพูชาเพิ่มส่งออกข้าวได้ในคริสต์ทศวรรษที่ 1990 เริ่มจากเตาะแตะแค่ 6,000 ตัน ในปี 2543 มาเป็น 51,000 ตัน ในปี 2553 แต่อย่างไรก็ตาม กัมพูชายังนำเข้าข้าวมากกว่าส่งออก คือนำเข้าเฉลี่ยปีละ 30,000-80,000 ตัน เรื่อยมา ตรงนี้ยังเถียงกันอยู่ บ้างว่ากัมพูชาส่งออกข้าวอย่างเดียว ไม่ได้นำเข้า แต่ที่จริงยังมีตัวเลขการนำเข้าข้าว โดยเฉพาะข้าวชั้นดีอย่างข้าวหอมมะลิจากไทย เข้าใจว่าคนมีฐานะคงต้องการ

พื้นที่ปลูกข้าวของกัมพูชามีราว 3 ล้านเฮกตาร์ ในจำนวนนี้ 1 ใน 4 อยู่ในเขตชลประทาน ที่เหลือพึ่งน้ำฟ้า ส่วนที่ดีหน่อยจะอยู่โดยรอบโตนเลสาบ แม่น้ำโตนเลบาซัค และแม่น้ำโขง ข้าวในพื้นที่ลุ่มน้ำนี้เป็นข้าวเบา ปลูกในพื้นที่น้ำท่วมได้

ปัญหาของข้าวกัมพูชาก็อยู่ที่ยังได้ผลผลิตต่อไร่ต่ำมาก และคุณภาพของผลผลิตยังต่ำ เพราะมีการพัฒนาน้อยมาก ชาวนาส่วนใหญ่ยังทำนาปีละครั้งและยังทำแบบดั้งเดิม ไม่ได้อาศัยเทคโนโลยีใดๆ เข้าช่วย เพราะขาดต้นทุน และความรู้ ชาวนาส่วนใหญ่ยังยากจน ไม่มีอำนาจต่อรองในการซื้อขายผลผลิตของตนเอง บางรายไม่มีเงินแม้แต่จะจ้างโรงสีให้สีข้าวให้

4

ระบบการจัดเก็บ การสี ของกัมพูชายังมีปัญหาต่อเนื่องทั้งระบบ นอกจากนั้น ระบบสาธารณูปโภคที่ยังต้องพัฒนาอีกมากก็เป็นอุปสรรคหนัก ทั้งถนนหนทาง รถไฟ ที่จะใช้ในการขนส่งผลผลิตทางการเกษตร ยังต้องการการพัฒนาอย่างหนัก จึงจะเท่ากับประเทศเพื่อนบ้าน

ข้าวกัมพูชายังสู้กับคู่แข่งในตลาดรายอื่นๆ อย่าง ไทย หรือเวียดนาม หรือกระทั่งพม่าไม่ได้ แม้กัมพูชาจะพยายามอย่างเต็มที่ เช่น การพัฒนาข้าว Angkor Malis ขึ้นเพื่อแข่งกับข้าวหอมมะลิของไทย แต่ก็ยังสู้ไม่ได้ทั้งคุณภาพและราคา ต้นทุนการผลิตของกัมพูชาต่อไร่ยังสูง เพราะขาดแคลนเทคโนโลยี ราคาขายจึงยังไม่สามารถต่อกรกับเจ้าตลาดอย่างไทยและเวียดนามได้ ยังไม่นับการพัฒนาเพื่อให้ได้มาตรฐานโลก เช่น การมี food safety certification

กัมพูชามีสหพันธ์ผู้ส่งออกข้าวมาหลายปี พยายามจะหาทางแก้ปัญหานี้ และเพิ่มศักยภาพแก่ข้าวของประเทศตน แต่ผู้ประกอบการส่งออกข้าวที่เข้ามาเป็นกรรมการสหพันธ์เองก็เจ็บหนักจากปัญหาการแข่งขันในตลาดโลก หลายรายล้มละลายไปแล้ว เรียกว่าสหพันธ์เองก็จะเอาตัวรอดลำบาก ตอนนี้จึงต้องพยายามหันรีหันขวางหาทางช่วยเหลือกันเองทุกวิถีทาง รัฐเองก็ดูเหมือนจะเคลื่อนไหวช้าเหลือเกิน

รัฐบาลกัมพูชาเองไม่ได้เก่งกาจเรื่องการค้าอย่างรัฐบาลเวียดนามหรือจีน ดังนั้น จึงยักตื้นติดกึกยักลึกติดกักกันอยู่อย่างน่าเป็นห่วง

ขาดทุนรอน ขาดความรู้ ขาดการสนับสนุนจากภาครัฐ ไม่มีองค์ความรู้ใหม่ๆ เข้าไปช่วยเหลือ ชาวนากัมพูชาจึงยืนหลังสู้ฟ้าเอาหน้าสู้ดินอย่างโดดเดี่ยว

แต่กัมพูชามีสิ่งแวดล้อมที่ดีมากสำหรับการปลูกข้าว พื้นที่ของประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบ มีน้ำเข้าถึง มีแม่น้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติมากมาย หากมีการพัฒนากระบวนการผลิต ให้ความรู้และวิธีการเพิ่มผลผลิตแก่ชาวนา กัมพูชาจะเป็นผู้ผลิตข้าวที่สำคัญของเอเชียได้

ตอนนี้รัฐบาลเขาก็เริ่มแผนพัฒนาผลผลิตข้าวของชาติออกมาเป็นเรื่องเป็นราวแล้ว โดยดูตัวอย่างจากไทยและเวียดนาม กัมพูชามีเงินไหลเข้ามากจากการขายสินค้า ขายแรงงาน และจากการลงทุนใหม่ๆ ในประเทศ

เจียดมาช่วยชาวนาบ้าง ก็จะขอบคุณนะท่านนะ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image