บีอาร์เอ็น ออกแถลงการณ์ปัดแผนสันติภาพของไทย

REUTERS/Surapan Boonthanom

เมื่อวันที่ 10 เมษายน สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า กลุ่มแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายู หรือ บีอาร์เอ็น ซึ่งเป็นกลุ่มก่อความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ของไทย ออกแถลงการณ์ปฏิเสธแผนสันติภาพของกองทัพ ซึ่งเอเอฟพีชี้ว่าการปฏิเสธดังกล่าวของกลุ่มบีอาร์เอ็นครั้งนี้เป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงการไร้ความสามารถของทางการไทยในการเปิดเจรจากับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบที่แท้จริงถึงความขัดแย้งที่มีอยู่

ในแถลงการณ์คัดค้านแผนสันติภาพของรัฐบาลของกลุ่มบีอาร์เอ็นระบุว่า “จะต้องมีฝ่ายที่ 3 (ประชาคมระหว่างประเทศ) เข้ามาร่วมในการเจรจาในฐานะพยานและผู้สังเกตการณ์ โดยผู้เป็นตัวกลางในการเจรจาดังกล่าวที่จะต้องมีความเป็นกลางนั้น ก็ควรจะเป็นผู้นำในการเจรจา ไม่ใช่กองทัพ”

เอเอฟพีรายงานว่า เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กองทัพและตัวแทนเจรจาของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ได้เห็นพ้องกันที่จะจัดตั้งเซฟตี้โซนหรือพื้นที่ปลอดภัยขึ้น ซึ่งความตกลงดังกล่าวแม้จะถูกมองว่าเป็นก้าวเล็กๆ แต่ถือว่าสำคัญในกระบวนการสันติภาพที่ล่าช้ามานานของไทย รัฐบาลไทยพยายามโน้มน้าวให้เห็นว่าข้อตกลงดังกล่าวเป็นสิ่งที่พิสูจน์ให้เห็นว่ากระบวนการเจรจาสันติภาพมีความคืบหน้า แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนกลับมองว่ามีกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบเพียงกลุ่มเดียวเท่านั้นที่รัฐบาลยอมตกลงเจรจาด้วยคือกลุ่มมาราปัตตานี ทว่ากลุ่มมาราปาตานีไม่ได้มีส่วนควบคุมกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่อย่างแท้จริง

ทั้งนี้ แถลงการณ์ของกลุ่มบีอาร์เอ็นมีขึ้นหลังจากเกิดเหตุระเบิดโจมตีขึ้นหลายจุดในพื้นที่ภาคใต้ของไทยในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยพุ่งเป้าโจมตีเสาไฟฟ้า ซึ่งทำให้เกิดไฟดับเป็นวงกว้าง แต่ไม่ได้ทำให้มีผู้เสียชีวิต เอเอฟพีชี้ว่าเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้นยังถูกมองว่าเป็นการการกระตุ้นเตือนจากกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ของไทยว่าพวกเขายังสามารถสร้างความปั่นป่วนได้แม้กองทัพจะดำรงอยู่อย่างเข้มแข็งและมีการบังคับใช้กฎอัยการศึกในพื้นที่ดังกล่าวอยู่ก็ตาม

Advertisement

ด้านนายแมทธิว วีเลอร์ ผู้เชี่ยวชาญจากกลุ่มอินเตอร์เนชั่นแนล ไครซิส กรุ๊ป ให้ความเห็นกับเอเอฟพีถึงท่าทีของกลุ่มบีอาร์เอ็นว่า “กลุ่มบีอาร์เอ็นมองว่ากระบวนการสันติภาพที่มีอยู่ในขณะนี้เป็นหนึ่งในสิ่งที่รัฐบาลไทยและมาเลเซียผลักดันเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง” อย่างไรก็ดี แถลงการณ์นี้ของกลุ่มบีอาร์เอ็นเป็นสิ่งช่วยเตือนทั้งสองฝ่ายว่าบีอาร์เอ็นยินดีที่จะเจรจาด้วยภายใต้เงื่อนไขที่ถูกต้องเหมาะสมเท่านั้น “ไม่ใช่เป็นการปฏิเสธการเจรจา แม้ว่ากลุ่มบีอาร์เอ็นจะปฏิเสธการเข้าร่วมในกระบวนการเจรจาที่มีอยู่ในขณะนี้ก็ตาม” นายวีเลอร์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image