เบียร์ในอุษาคเนย์ (2)

เบียร์เป็นสินค้าที่ไม่ใช่สินค้าธรรมดา กล่าวคือ เป็นสินค้าที่มีต้นทุนทางสังคมที่สูงมาก กระทบต่อสุขภาพอนามัยของผู้บริโภค เกี่ยวข้องกับการแสวงหารายได้ของรัฐบาลทั้งในยุครัฐและสังคมศักดินา (feudalism) ยุคการสร้างชาติสมัยใหม่ (nation-State) รวมถึงยุคไร้รัฐ (stateless) ช่วงของโลกาภิวัตน์อีกด้วย

กล่าวอย่างคร่าวๆ รัฐและสังคมศักดินามีรายได้จากอากรสุรา เครื่องดื่มมึนเมา ภาษีฝิ่น การพนัน

ส่วนรัฐชาติสมัยใหม่ รายได้ของรัฐเพื่อการสร้างชาติ สร้างกองทัพ ระบบราชการเพื่อการบริหารรัฐสมัยใหม่ยังมาจากอากรและภาษีในสินค้าที่ไม่ได้แตกต่างจากยุคของรัฐศักดินามากนัก เพราะเป็นรายได้ที่จัดเก็บได้ง่าย เป็นกอบเป็นกำและชอบธรรม

ในเวลาเดียวกัน ยุคแห่งการไร้รัฐ ทุนชาติและทุนข้ามชาติได้เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาศัยเทคโนโลยีการผลิตเชิงอุตสาหกรรม การขนส่ง การแยกตลาดที่ละเอียดมากขึ้น

Advertisement

การโฆษณาที่ใช้ช่องทางของสื่อต่างๆ ทำให้อุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เติบโตขึ้น รวมถึงเบียร์ด้วย

เบียร์ ทุนข้ามชาติและทุนชาติ

งานวิจัยนี้ (1) ค้นพบว่า เบียร์ของประเทศเพื่อนบ้านของไทยได้แก่ Ankor Beer, Beer Laos, Myanmar Beer ซึ่งเป็นเบียร์ประจำชาติของราชอาณาจักรกัมพูชา สปป.ลาว และสหภาพเมียนมา ตามลำดับ จะเข้ามาขายในไทยทั้งในจังหวัดชายแดน จังหวัดใหญ่ๆ ที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวของไทยมากขึ้นด้วยเหตุผลคือ

รัฐบาลทั้งสามประเทศต่างมีนโยบายส่งเสริมการผลิตและจำหน่ายเบียร์ยังต่างประเทศด้วยความต้องการรายได้จากการส่งออกมากขึ้น ซึ่งไทยเป็นตลาดที่ใกล้และใหญ่ที่สุด

Advertisement

ก) ด้วยเงินทุนจำนวนมาก ด้วยระบบการจัดส่งและจำหน่ายของบริษัทข้ามชาติ ซึ่งจริงๆ ก็คือผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทเบียร์ประจำชาติเหล่านั้นเอง จึงทำให้การจำหน่ายเบียร์ของต่างประเทศที่อยู่ในฐานการผลิตของประเทศเพื่อนบ้านทำได้มากขึ้น

จะเห็นได้ว่า บริษัทผลิตเบียร์ข้ามชาติ คิรินผู้ลงทุนในการผลิตเบียร์ ซาน มิเกล ซึ่งเคยมีฐานการผลิตที่กระเทศสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ย้ายฐานการผลิตมาที่ประเทศไทย

บริษัทผลิตเบียร์ข้ามชาติ คาร์ลสเบอร์กตั้งโรงงานผลิตเบียร์ใน สปป.ลาว สหภาพเมียนมา (ย้ายโรงงานจากเมืองมัณฑะเลย์มาอยู่เมืองพะโคใกล้ชายแดนไทย) และราชอาณาจักรกัมพูชา ตั้งโรงงานที่เมืองพระสีหนุ วิวล์ เมืองตากอากาศยอดนิยมและมีท่าเรือน้ำลึกที่สามารถขนส่งเบียร์มาขายยังประเทศไทยได้

ในขณะที่ท่านผู้นำประเทศได้กล่าวต่อสื่อมวลชนว่า รายได้จากการขายเบียร์จะนำมาเป็นรายได้ของประเทศเพื่อให้บริการสาธารณะ อันได้แก่ การสร้างถนน เป็นเงินเดือนของข้าราชการและสร้างกองทัพ

บริษัทผลิตเบียร์ข้ามชาติตั้งโรงงานผลิตเบียร์ในประเทศ สปป.ลาว และมีเป้าหมายผลิตเบียร์เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดภายในประเทศและส่งออกมายังประเทศไทย

  1. งานวิจัยนี้ค้นพบว่า วัฒนธรรมการดื่มกิน และการส่งเสริมการขายโดยการโฆษณา โดยเฉพาะการให้การสนับสนุนกีฬาและงานประเพณีของชาวบ้านในประเทศเพื่อนบ้านช่วยให้การบริโภคเบียร์และเครื่องดื่มแอกอฮอล์เพิ่มมากขึ้นทั้งในประเทศเพื่อนบ้านและไทยเอง

2) งานวิจัยนี้ค้นพบว่ารสนิยมการบริโภคเบียร์ต่างประเทศมีเพิ่มมากขึ้น และผู้ดื่มไม่คำนึงว่าราคาของเครื่องดื่มจะมีราคาแพงขนาดไหน คนรุ่นใหม่และวิถีชีวิตในสังคมยุคใหม่จะเพิ่มจำนวน “นักดื่มหน้าใหม่” มากขึ้นเรื่อยๆ

3) งานวิจัยชิ้นนี้เป็นงานวิจัยที่ใช้การลงภาคสนามโดยเข้าถึงโรงงานผลิต ตลาด ร้านค้าในหลายๆ เมืองในราชอาณาจักรกัมพูชา สปป.ลาว สหภาพเมียนมา ซึ่งนอกจากเป็นการเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่ยากมากเพราะเป็นความลับทางการตลาดแล้ว

นักวิจัยทุกคนยังได้สัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีส่งเกี่ยวข้องกับมาตรการทางภาษีและอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอกอฮอล์ของทุกประเทศ อันเป็นการศึกษาที่ได้ข้อมูลชั้นต้น (primary source) โดยตรง ซึ่งต้องใช้ความน่าเชื่อถือของทั้งผู้สัมภาษณ์และผู้ถูกสัมภาษณ์ รวมทั้งงบประมาณการลงภาคสนามในต่างประเทศที่สูงมากด้วย

เบียร์ ทุนชาติ ทุนข้ามชาติ และผู้ดื่มหน้าใหม่เป็นแนวโน้มสำคัญของอุตสาหกรรมผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประเทศอาเซียน หลังการเปิดเออีซี

เชิงอรรถ

(1) สรุปจาก งานวิจัย อุตสาหกรรมผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประเทศในกลุ่มอาเซียนที่มีโอกาสและแนวโน้มส่งผลกระทบต่อประเทศไทย พิมพ์โดยศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) ร่วมกับศูนย์แม่น้ำโขง สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ นักวิจัยประกอบด้วย อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์, อดิสร เสมแย้ม, ณัฐพล ตันตระกูลทรัพย์, วินิสา อุชชิน, อนรรฆ พิทักษ์ธานิน และ ณภัทร อุ๋ยเจริญ

คลิกอ่าน เบียร์ในอุษาคเนย์ (1)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image