เปิดคลิป พบหลักฐานพิสูจน์ ‘ยูโรปา’ มี ‘น้ำพุ’ จริง มีหวังพบสิ่งมีชีวิต (คลิป)

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคมว่า นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน สหรัฐอเมริกา ได้วิเคราะห์ข้อมูลของยานอวกาศกาลิเลโอ ขององค์การบริหารการบินและอวกาศสหรัฐ (นาซา) ที่เก็บข้อมูลไว้ขณะโคจรรอบ “ยูโรปา” ดาวบริวาร หรือดวงจันทร์ ของดาวพฤหัสตั้งแต่ปี 1997 ที่นับเป็นหลักฐานที่ชัดเจนที่สุดที่ยืนยันการมีอยู่ของน้ำพุที่พุ่งทะลุพื้นผิวน้ำแข็งของดวงดาวขึ้นมา ส่งผลให้เกิดความเป็นไปได้มากขึ้นในการพิสูจน์สัญญาณสิ่งมีชีวิตบนดาวยูโรปา

การเปิดเผยดังกล่าวซึ่งมีขึ้นเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา มีขึ้นหลังนักวิทยาศาสตร์กลับมาวิเคราะห์อ่านค่าข้อมูลที่เครื่องมือที่ถูกส่งไปพร้อมกับยานอวกาศกาลิเลโอสามารถเก็บมาได้ในปี 1997 โดยกาลิเลโอ นับเป็นยานอวกาศลำแรกที่เข้าสู่ชั้นบรรยากาศของดาวยูโรปาได้ในปี 1955

รายงานเผยแพร่ในวารสารเนเจอร์แอสโทรโนมี ระบุว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นหลักฐานโดยตรงมากที่สุดที่พิสูจน์ถึงการมีอยู่ของน้ำพุที่พุ่งขึ้นจากพื้นผิวที่เป็นน้ำแข็งของดาวบริวารยูโรปา ดาวซึ่งนาซาคาดว่าจะมีน้ำเค็มจำนวนมหาศาลที่อยู่ใต้พื้นผิวน้ำแข็ง และคาดว่าจะเป็นดาวดวงที่สองในระบบสุริยจักรวาลที่อาจมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่นอกเหนือจากโลก

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กล้องโทรทรรศน์ “ฮับเบิลสเปซ” ของนาซา สามารถตรวจพบหลักฐานเกี่ยวกับน้ำพุดังกล่าวได้บ้าง แต่นั้นเป็นเพียงหลักฐานจากการสังเกตระยะไกล ขณะที่ยานอวกาศกาลิเลโอสามารถเข้าใกล้มากกว่าด้วยการโคจรเข้าใกล้ดาวบริวารยูโรปาจำนวน 11 ครั้งด้วยกัน

Advertisement

ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า การโคจรครั้งหนึ่งของกาลิเลโอ นั้นเข้าใกล้กับพื้นผิวของดาวยูโรปา ในระดับ 150 กิโลเมตรเหนือพื้นผิว และการโคจรครั้งนั้นมีการตรวจพบสภาพแวดล้อมที่แปลกออกไปซึ่งนักวิทยาศาสตร์ไม่เคยอธิบายได้มาก่อน และพื้นที่ซึ่งกาลิเลโอโคจรผ่านนั้นก็เป็นพื้นที่เดียวกันกับที่กล้องโทรทรรศน์ฮับเบิลสเปซของนาซาสามารถสังเกตหลักฐานของน้ำพุได้หลายครั้งที่ผ่านมา

นั่นส่งผลให้นักวิทยาศาสตร์กลับไปวิเคราะห์ข้อมูลจากกาลิเลโออีกครั้งก่อนจะกลายเป็นข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนมากขึ้นว่าดาวบริวารยูโรปาอาจมีน้ำพุพวยพุ่งขึ้นมาจริง และนั่นอาจส่งผลดีกับแผนสำรวจยูโรปาในอนาคตของนาซา อย่างโครงการ “ยูโรปา คลิปเปอร์” และโครงการสำรวจดวงจันทร์น้ำแข็งของดาวพฤหัส ของสำนักงานสำรวจอวกาศแห่งยุโรป (อีเอสเอ) ที่คาดว่าจะเดินทางถึงดาวพฤหัสในช่วงปี 2025-2035 นี้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image