09.00 INDEX อำนาจต่อรอง ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย กับชาติไทยพัฒนา

ไม่ว่า นายอุตตม สาวนายน ไม่ว่า นายณัฎฐพล ทีปสุวรรณ จาก พรรคพลังประชารัฐ ยอมรับว่ามีการเจรจาเรื่องการร่วมรัฐบาล แต่ปฏิเสธว่ายังไม่มีการพูดคุยในเรื่องที่นั่งหรือตำแหน่งรัฐมนตรี
แต่ก็มีข่าวมีการคิดสูตรโควต้าออกมาแล้วว่า พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย จะได้ พรรคละ 6-7 เก้าอี้
เท่ากับคิดจากฐาน 52 และ 51 ส.ส.

ขณะเดียวกัน ก็มีข่าวว่าเงื่อนไขสำคัญนอกเหนือจากการกัน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ กับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ออกไปแล้ว
ยังมีข่าวการพยายามตัดบทบาทของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ออกจากการเป็น”ผู้จัดรัฐบาล”อีกด้วย
น่าสงสัยว่าข่าวแบบนี้หลุดออกมาได้อย่างไรและจากไหน

แน่นอน พรรคพลังประชารัฐก็มองว่าน่าจะเป็นข่าวจากพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย ขณะพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย ก็มองได้ว่าอาจมาจากภายในพรรคพลังประชารัฐ
นี่คือลักษณะยอกย้อนซ่อนเงื่อนในห้วงแห่งการเจรจาเพื่อจัด ตั้งรัฐบาล
ไม่ว่าจะเป็นในยุคของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ไม่ว่าจะเป็นในยุคของ นายบรรหาร ศิลปอาชา ไม่ว่าจะเป็นในยุคของ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์
ประเด็นมิได้อยู่ที่เงื่อนไขอันมาจากพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย หากที่ไม่ควรมองข้ามก็คือเงื่อนไขจากภายในพรรคพลังประชารัฐเอง
เพราะภายในพรรคพลังประชารัฐมีคสช.ซึ่งกุม 250 ส.ว. มีกลุ่มกทม.ที่มาจากพรรคประชาธิปัตย์ มีกลุ่มสามมิตรซึ่งร้อยพ่อพันแม่
การต่อสู้ภายในพรรคพลังประชารัฐจึงแหลมคมอย่างยิ่ง

ทั้งๆที่พันธมิตรพรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ ตรึงกำลังอยู่ที่ 245 ค่อนข้างแน่นอน ปมเงื่อนมิได้อยู่ที่ว่าพรรคพลังประชารัฐดึง 10 พรรคเล็กมาได้หรือไม่
หากแต่อยู่ที่ 3 พรรคสำคัญ
นั่นก็คือ 52 เสียงพรรคประชาธิปัตย์ 51 เสียงพรรคภูมิใจไทย และ 10 เสียงพรรคชาติไทยพัฒนา หากสามารถผนึกพลังเข้าด้วยกัน
จำนวน 103 เสียงจาก 3 พรรคต่างหากที่ทรงความหมาย

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image