09.00 INDEX ทบทวนกลยุทธ์’ถวายสัตย์’ ​​​หนีอาจมิใช่กลยุทธ์สุดยอด

แม้ใน “36 กลยุทธ์แห่งชัยชนะในการสัประยุทธ์ทุกมณฑล”จะระบุให้ “หนี คือยอดกลยุทธ์” แต่ที่ไม่ควรมองข้ามและหลงลืมอย่างเด็ดขาด หนีได้จัดอยู่ในส่วนของ”กลยุทธ์ยามพ่าย”

​ไม่ว่าจะพิจารณาผ่านตำราพิชัยสงครามไหวหนานจื่อที่ว่า “แข็งจึงสู้ อ่อนก็หนี”

ไม่ว่าจะพิจารณาผ่านตำราพิชัยสงครามปิงฝ่าหยวนจีได้ที่ว่า

“แม้นหลบแล้วรักษาไว้ได้ ก็พึงหลบ”

ไม่ว่าจะพิจารณาผ่านบทกลยุทธ์ของซุนวูที่ว่า”แข็งพึงเลี่ยง”

​อันนำไปสู่บทสรุปบทว่าด้วยแม่ทัพในคัมภีร์อี้จิงที่ว่า “ถอยหนีมิผิด เป็นวิสัยซึ่งสงคราม”

Advertisement

​คำถามจึงอยู่ที่ว่า ถอยและหนีด้วยเหตุผลใด

การหนีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในกรณีอันเกี่ยวกับ”ถวายสัตย์ปฏิญาณตน” มีรากฐานในการกำหนดกลยุทธ์มาจากอะไร ในที่สุดแล้วก็เท่ากับเป็นการยอมรับในความพ่าย

​ยอมรับว่าการรุกนับแต่วันที่ 25 กรกฎาคมโดย นายปิยบุตร แสงกนกกุล สะท้อนจุด”แข็ง”ของอีกฝ่าย

Advertisement

​เพราะในความเป็นจริง ข้อท้วงติงของ นายปิยบุตร แสงกนกกุล ในที่ประชุมรัฐสภาแม้ว่าจะไม่สามารถเดินหน้าไปได้ แต่กลยุทธ์ “หนี” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั้นเองที่กลับกลายเป็น การเผย “จุดอ่อน”

​ผลก็คือ กรณี”ถวายสัตย์ปฏิญาณตน” ได้กลายเป็นประเด็นในการเคลื่อนไหว”ร่วม”ของฝ่ายค้าน

​เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ยอมไปตอบกระทู้ถามสดของ นายปิยบุตร แสงกนกกุล ในสภา ก้าวของฝ่ายค้านก็คือ การยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 152 ของรัฐธรรมนูญ

​เท่ากับเป็นการปิดประตูมิให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่สามารถ “หนี” ได้อีก

​เท่ากับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ติดกับดัก”หนี”ของตนเอง

ไม่ว่าจะมองในด้านการทหาร ไม่ว่าจะมองในด้านการเมือง กลยุทธ์ “หนี” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงแทบมิได้แก้ปัญหาอะไรเลย

​ตรงกันข้าม กลับยิ่งทำให้เกิดความสงสัยในกระบวนท่ามากยิ่งขึ้น

​ที่คิดว่าเป็น”ทางออก”กลับเป็นทางออกที่ถูก”ปิด”

การหนีในกรณี”ถวายสัตย์”จึงอาจมิใช่สุดยอด”กลยุทธ์”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image