09.00 INDEX ​​​จากกรณี ถวายสัตย์ปฏิญาณ ​​​ถึง เดอะ ซิดนีย์ มอร์นิ่ง เฮรัลด์

ไม่ว่าปัญหาอันเนื่องแต่การถวายสัตย์ปฏิญาณตน ไม่ว่าปัญหาอันเนื่องแต่ เดอะ ซิดนีย์ มอร์นิ่ง เฮรัลด์ สัมพันธ์อยู่กับพยานหลักฐาน

มิได้เป็นเรื่องประเภท “มันจบแล้ว” มิได้เป็นเรื่องประเภท”ผมบริสุทธิ์”

​นั่นก็คือ เป็นเรื่องที่ต้อง”แก้ไข” มิได้เป็นเรื่องประเภท”แก้ตัว”

​เพราะว่าการถวายสัตย์ปฏิญาณตนเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม นั้นมิได้กระทำอย่างเป็นเรื่องลับ ตรงกันข้าม มีการเผยแพร่ผ่านช่องทาง”ข่าวในราชสำนัก”

​เพราะว่ากรณีของคดีความในออสเตรเลียนั้นมีคำพิพากษาของศาล มีการลงโทษติดคุกติดตะรางเป็นหลักฐานอย่างเด่นชัด

Advertisement

​เพียงนำเอา”หลักฐาน”ในเชิง”ประจักษ์”ออกมาก็จบ

หากศึกษากระบวนการ”แก้ตัว”โดยไม่มีการ”แก้ไข”ในกรณีของการ ถวายสัตย์ปฏิญาณตนตั้งแต่มีการทักท้วงในที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม

​ก็จะเข้าใจในเรื่องราวแบบ”วัวพันหลัก”และ”ขว้างงูไม่พ้นคอ” ได้ครบถ้วน

Advertisement

​แม้จะแถลงในที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคมบอกว่า “เรื่องมันจบไปแล้วจะไม่ขอพูดอีก” แต่ลองไล่เรียงจากวันนั้นเป็นต้นมาว่าจบหรือไม่

​เด่นชัดอย่างยิ่งว่าไม่จบ และแม้กระทั่งวันที่ 18 กันยายนผ่านไปหากไม่มีการ”แก้ไข”เรื่องก็ไม่จบ

​บทเรียนจากกรณี”ถวายสัตย์ปฏิญาณตน”แสดงรูปธรรมและความต่อเนื่องอย่างแจ้งชัดอย่างยิ่งแล้ว แต่เมื่อมาถึงกรณี เดอะ ซิดนีย์ มอร์นิ่ง เฮรัลด์ กลับไม่ยอมสรุป

​จึงไม่เพียงบานปลายไปยัง”ปริญญาบัตร” หากแต่เมื่อมีการนำเอาคำพิพากษามาเปิดเผยก็ยิ่งโกโซบิก

หากเริ่มพิจารณาจากกรณี”ถวายสัตย์ปฏิญาณตน”มายังกรณี เดอะ ซิดนีย์ มอร์นิ่ง เฮรัลด์ จะเห็นว่าที่บานปลายเพราะละเลย กฎพื้นฐานของปัญหา

​นั่นก็คือ มิได้ยึดกุมหลักการ”แก้ไข” หากแต่ถลำลงไปในปลัก แห่งการ”แก้ตัว”

ประเมินว่าการ”แก้ตัว” คือมรรค จึงเท่ากับละเมิดหลักการ รักยาวให้บั่น รักสั้นให้ต่อไปโดยเจตนา

​เรื่องที่ควรจะจบ กลับไม่ยอมจบ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image