โคราชเตือนภัย 9 อำเภอเตรียมรับมือ หลังกำแพงปีกข้างอ่างลำเชียงไกรตอนล่างถูกน้ำกัดเซาะไหลทะลัก(มีคลิป)

โคราชเตือนภัย 9 อำเภอเตรียมรับมือ หลังกำแพงปีกข้างอ่างลำเชียงไกรตอนล่างถูกน้ำกัดเซาะไหลทะลัก

เมื่อเวลา 16.30 น. วันที่ 26 กันยายน รายงานสถานการณ์อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร ตอนล่าง ต.บัลลังก์ อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา ล่าสุด มวลน้ำเหนือสันอ่างเต็มพื้นที่กว่า 6,000 ไร่ ปริมาณน้ำกว่า 40 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 135 % เกินความจุกักเก็บ 27 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งมีปริมาณน้ำมากที่สุดในรอบ 50 ปี นับตั้งแต่ก่อสร้างอ่างเมื่อปี 2514 มวลน้ำฝนสะสมจากอิทธิพลของพายุโซนร้อน “เตี้ยนหมู่” ไหลมาจากพื้นที่ตอนบน อ.ด่านขุนทด และ อ.เทพารักษ์ จ.นครราชสีมา สมทบมาขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้อาคารระบายน้ำล้นปกติ ซึ่งอยู่ระหว่างก่อสร้างได้ถูกกระแสน้ำกัดเซาะกำแพงปีกด้านขวาจนชำรุดทำให้มวลน้ำไหลทะลักออกมาอย่างต่อเนื่อง เจ้าหน้าที่ชลประทานได้เตรียม “บิ๊กแบ็ค” หรือกระสอบทรายยักษ์ลงไปอุดรูรั่ว โดยรอให้กระแสน้ำไหลเบาลงกว่านี้

ทั้งนี้นายกอบชัย บุญอรณะ ผวจ.นครราชสีมา ได้ออกด่วนที่สุดกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครราชสีมา ที่ นม (กปภจ)0021/ 6177 ถึงนายอำเภอด่านขุนทด นายอำเภอโนนไทย นายอำเภอพระทองคำ นายอำเภอเมืองนครราชสีมา นายอำเภอโนนสูง นายอำเภอพิมาย นายอำเภอชุมพวง นายอำเภอลำทะเมนชัย และนายอำเภอเมืองยาง และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นครราชสีมา ว่า เนื่องจากปริมาณน้ำจากลำเชียงไกร ตอนบน และลำน้ำสาขา

Advertisement

มีปริมาณเป็นจำนวนมากและได้ระบายลงอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร ตอนล่าง จึงมีความจำเป็นต้องระบายเพิ่มลงลำน้ำเดิม 66.43 ลบ.ม. ระบายน้ำอาคารระบายน้ำฉุกเฉิน101.72 ลบ.ม. รวมการระบายน้ำ 168.15 ลบ.ม. ส่งผลให้ระดับน้ำในลำเชียงไกร และลำน้ำสาขามีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น และจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำริมสองฝั่งลำน้ำ และพื้นที่ริมตลิ่ง กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครราชสีมา พิจารณาแล้วขอให้ดำเนินการ ดังนี้

1. ให้อำเภอด้านท้ายอ่าง รวม 9 อำเภอ แจ้งเตือนประชาชนให้ทราบถึงสถานการณ์อยู่ในภาวะเสี่ยงอันตรายสูง เจ้าหน้าที่กำลังดำเนินการควบคุมสถานการณ์ ให้อพยพไปยังสถานที่ปลอดภัย ในระดับสีส้มโดยเฉพาะประชาชนที่อยู่ริมน้ำและที่ลุ่มต่ำให้เก็บทรัพย์สินสิ่งของจำเป็นขึ้นไว้ที่สูงกว่าที่เคย ระวังติดตามมวลน้ำไหลเชี่ยวแรง ดูแลเด็กเล็กและคนชรา ผู้ป่วยติดเตียง

2. ประสานท้องถิ่น ติดตั้งเครื่องสูบน้ำในจุดสำคัญทางเศรษฐกิจ จัดหาและสนับสนุนกระสอบทราย ให้กับประชาชนเพื่อปิดกั้นน้ำเข้าบ้านเรือนและพื้นที่สำคัญ จัดรถกระจายข่าวแจ้งเตือนประชาชนให้ทั่วถึง และจัดกำลังเจ้าหน้าที่ ประสานกำลังพลสนับสนุนการอพยพประชาชนไปยังศูนย์พักพิงที่เตรียมไว้ ล่วงหน้า จัดตั้งโรงครัว หรือครัวพระราชทานเพื่อดูแลผู้ได้รับผลกระทบและเจ้าหน้าที่

3. ให้ความสำคัญในการแจ้งให้พี่น้องประชาชนได้รับรู้อย่างทั่วถึง ขอให้ติดตามข้อมูลข่าวสาร และปฏิบัติตามคำแนะนำของทางราชการอย่างใกล้ชิด

4. กรณีการอพยพประชาชน ขอให้ไม่ต้องห่วงทรัพย์สิน ควรให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในชีวิต และความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น

5. ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและฝ่ายปกครอง จะมีการจัดชุดลาดตระเวนตรวจตรา ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อป้องกันผู้ฉกฉวยโอกาสขโมยทรัพย์สิน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image