เลขาฯ พปชร.-เก้าอี้อาถรรพ์ จาก “สนธิรัตน์” ถึง “ธรรมนัส”

เริ่มเดินหน้าปฏิบัติการปรับโครงสร้างพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กันอีกครั้ง โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนเก้าอี้ “เลขาธิการพรรค” ที่เปรียบเสมือนเป็น “แม่บ้านพรรค” ในการขับเคลื่อน ส.ส.ในพรรคให้เดินหน้าไปตามยุทธศาสตร์ที่พรรควางเอาไว้

แต่พรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล อย่างพรรค พปชร. แม้จะเป็นพรรคใหญ่ แต่ความเป็นเอกภาพ ระหว่างแกนนำพรรค โดยเฉพาะ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา และเลขาธิการพรรค พปชร.

กับผู้นำรัฐบาล อย่าง “บิ๊กตู่” พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมนั้นกลับมีปัญหา อยู่ในอาการมองหน้ากันไม่สนิทใจและมีระยะห่างกันไปแล้ว

ภายหลังเกิดปฏิบัติการเขย่าเก้าอี้นายกฯ ของ “บิ๊กตู่” ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายกฯและรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 31 สิงหาคมถึง 4 กันยายนที่ผ่านมา จน “บิ๊กตู่” ต้องเช็กบิลคณะผู้ก่อการเขย่าเก้าอี้นายกฯ 2 มือทำงานคนสำคัญในพรรค พปชร. ของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ์ รองนายกฯ และหัวหน้าพรรค พปชร.

Advertisement

ด้วยการปลด “ร.อ.ธรรมนัส” พ้นจากเก้าอี้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ พ้นจากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน

แม้จะพ้นจากเก้าอี้รัฐมนตรีในรัฐบาล แต่ ร.อ.ธรรมนัสยังมีเก้าอี้เลขาธิการพรรค ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนพรรค พปชร. ในการค้ำประกัน ความอยู่รอด และความเป็นไปของ “บิ๊กตู่” ที่ยังต้องพึ่งพาเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ในการค้ำยันเก้าอี้ “นายกฯ”

ยิ่งท่าทีและสัญญาณ ของ ร.อ.ธรรมนัสภายหลังที่เหลือเพียงตำแหน่ง ส.ส.และเลขาธิการพรรค ต่อ “พล.อ.ประยุทธ์” ทั้งเรื่องความชัดเจนของพรรค พปชร. ในการเสนอชื่อ “บิ๊กตู่” ชิงเก้าอี้นายกฯ ในศึกเลือกตั้งครั้งหน้า ยังคงมีนัยยะของความไม่พอใจ และไม่เต็มร้อยเหมือนเดิม

พล.อ.ประยุทธ์ต่างก็รู้สัญญาณนี้เป็นอย่างดี จึงต้องเร่งรีเซตพรรค พปชร.ให้สะเด็ดน้ำก่อนที่จะเปิดสภาผู้แทนราษฎร สมัยสามัญ ครั้งที่ 2 ในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ เพราะด้วยจุดอ่อนข้อสำคัญของ พล.อ.ประยุทธ์ ยังมีสถานะ “ขาลอย” ในพรรค พปชร.

ถ้ายังไม่จัดการพรรค พปชร.ให้มีเอกภาพ ควบคุมเสียงโหวต ส.ส.ในพรรค พปชร. ที่มีอยู่ 119 เสียง แต่ปฏิบัติหน้าที่ในสภาได้ 117 เสียง ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันได้ โอกาสที่จะเกิดปฏิบัติการเขย่าเก้าอี้ “นายกฯ” ในรอบ 2 ให้ “บิ๊กตู่” ต้องคอยระวังหลัง คงมีอีกแน่ๆ
หากจะย้อนรอยศึกงัดข้อวัดพลังการยึดครองเก้าอี้เลขาธิการพรรค พปชร. ต้องถือว่าเป็นพรรคการเมืองที่มีการปรับเปลี่ยนเลขาธิการพรรคบ่อยครั้งมากกว่าพรรคอื่น นับตั้งแต่พรรค พปชร. ก่อตั้งมาเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2561 ถึงวันนี้ผ่านมา 3 ปี

ต้องถือว่าเป็นพรรคการเมืองที่เปลี่ยนเลขาธิการพรรคบ่อยกว่าพรรคอื่นๆ คือ เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2561 คณะกรรมการบริหาร (กก.บห.) พรรคพลังประชารัฐ ชุดแรก มี อุตตม สาวนายน เป็นหัวหน้าพรรค และมี “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” เป็นเลขาธิการพรรค ทั้งคู่อยู่ในตำแหน่งระหว่างวันที่ 29 กันยายน 2561-27 มิถุนายน 2563

แต่ด้วยสถานะการเป็น กก.บห. ของกลุ่ม 4 กุมาร ที่ขาลอย ไม่ได้เป็น ส.ส. ขาดการยึดโยงกับการขับเคลื่อน ส.ส.ในสภา กอปรกับผู้บริหารพรรค พปชร. ต้องการปรับยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนพรรคใหม่

ผู้บริหารพรรคชุดแรกภายใต้การนำของกลุ่ม 4 กุมาร อยู่ในตำแหน่งมาปีกว่าๆ ก็มีการเลือก กก.บห.ชุดใหม่ เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2563 โดยมีมติให้ พล.อ.ประวิตรเป็นหัวหน้าพรรคแทนนายอุตตม และมี “อนุชา นาคาศัย” ตัวแทนจากกลุ่มสามมิตร เป็นเลขาธิการพรรค แทน “สนธิรัตน์”

แต่ “อนุชา” นั่งในเก้าอี้เลขาธิการพรรค พปชร.มาได้ไม่ถึงปี กลุ่มอำนาจภายในพรรค ที่นำโดย “กลุ่ม 4 ช.” ในครั้งนั้น ได้แก่ ร.อ.ธรรมนัส นางนฤมล นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และนายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม บุตรชาย ของ “วิรัช รัตนเศรษฐ” ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรค ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ก็แสดงพลังผลักดันให้มีการปรับเปลี่ยนเลขาธิการพรรคอีกครั้ง

โดยที่ประชุม กก.บห. เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2564 มีมติเลือก พล.อ.ประวิตรเป็นหัวหน้าพรรคอีกสมัย ส่วนเก้าอี้เลขาธิการพรรค ที่ประชุมเลือก “ร.อ.ธรรมนัส” เข้ามาทำหน้าที่แทน “อนุชา” แบบไร้คู่แข่ง

แต่เมื่อความสัมพันธ์ ระหว่าง “ร.อ.ธรรมนัส” ที่ยังคงนั่งมีบทบาทในตำแหน่งเลขาธิการพรรค เป็นคนสำคัญในการคุมเสียง ส.ส.ในสภา ของพรรค พปชร. กับ “บิ๊กตู่” ยังมีความ “ไม่ลงรอย” ต้องอยู่ในอาการระวังหลังอยู่ตลอดเวลา ทั้งสองฝ่ายจึงต้องช่วงชิงการนำในพรรค พปชร.ให้กลับมาอยู่ในมือของแต่ละฝ่ายให้ได้

โดย พล.อ.ประวิตรหัวหน้าพรรค พปชร. ได้นัดประชุม กก.บห.ในวันที่ 28 ตุลาคมนี้ ทั้งนี้กก.บห.ชุดปัจจุบัน จำนวน 26 คน ประกอบด้วย 1.พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค 2.ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรค 3.นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรค 4.นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ นายทะเบียนสมาชิกพรรค 5.นายสันติ พร้อมพัฒน์ รองหัวหน้าพรรคและผู้อำนวยการพรรค 6.นายวิรัช รัตนเศรษฐ รองหัวหน้าพรรค 7.นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองหัวหน้าพรรค 8.นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรค 9.นายสมศักดิ์ เทพสุทิน กก.บห. 10.นายอนุชา นาคาศัย กก.บห.

11.นายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ กก.บห. 12.นายสุพล ฟองงาม กก.บห. 13.นายนิโรจน์ สุนทรเลขา กก.บห. 14.นายไผ่ ลิกค์ กก.บห. 15.นายสัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ กก.บห. 16.นางประภาพร อัศวเหม กก.บห. 17.นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ กก.บห. 18.นายอิทธิพล คุณปลื้ม กก.บห. 19.นายสุชาติ ชมกลิ่น กก.บห. 20.นายยงยุทธ สุวรรณบุตร กก.บห.

21.นายสุชาติ อุสาหะ กก.บห. 22.นายรงค์ บุญสวยขวัญ กก.บห. 23.นายจักรพันธ์ พรนิมิตร กก.บห. 24.นายสุรสิทธิ์ นิธิวุฒิวรรักษณ์ กก.บห. 25.นายอรรถกร ศิริลัทธยากร กก.บห. และ 26.นายสมเกียรติ วอนเพียร กก.บห.

ส่วนการปรับทิศทางและโครงสร้างของพรรค พปชร.จะเกิดขึ้นอีกครั้งหรือไม่ ต้องติดตามคำตอบจากการประชุม กก.บห.ทั้ง 26 คน ในวันที่ 28 ตุลาคมนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image