ปลุก ‘อกม.’ 7 หมื่นคน ช่วยเกษตรกร

ปลุก ‘อกม.’ 7 หมื่นคน ช่วยเกษตรกร

อาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) เป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ความสำคัญ พร้อมช่วยส่งเสริมเกษตรกรกลุ่มนี้ ให้นำความรู้ที่ได้จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงเกษตรฯ ไปถ่ายทอดให้กับเกษตรกรในพื้นที่

สร้างบทบาทการมีส่วนร่วมในการพัฒนางานส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ และสามารถเชื่อมโยงกับเครือข่ายต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งกำหนดกิจกรรมด้านการเกษตรที่จะดำเนินการ เพื่อเกิดเครือข่ายการบริการแก่เกษตรกรในชุมชน

หลายคนอาจจะยังสงสัยว่า อกม. หรืออาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน คืออะไร

อธิบายได้ว่าหมายถึง อาสาสมัครเกษตร หรือผู้แทนเกษตรกรระดับหมู่บ้านที่ได้รับการคัดเลือก (หมู่บ้านละ 1 คน) จากที่ประชุมอาสาสมัครเกษตรและผู้แทนเกษตรกรระดับหมู่บ้าน

Advertisement

ซึ่งอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน มีความสำคัญต่อการพัฒนาด้านการเกษตรในฐานะผู้ช่วยเจ้าหน้าที่ ที่มีความสำคัญ เนื่องจากเป็นผู้รู้จักพื้นที่และมีความเข้าใจเกษตรกร รู้ปัญหา และศักยภาพในการพัฒนาภาคการเกษตรของแต่ละหมู่บ้านเป็นอย่างดี

เป็นผู้ได้รับความไว้วางใจทั้งจาก เกษตรกร อาสาสมัครเกษตร (อกษ.) สาขาต่างๆ และจากทางราชการให้เป็นผู้แทนกระทรวงเกษตร

พร้อมทั้งสามารถปฏิบัติหน้าที่ในการเชื่อมประสานการปฏิบัติงานในรูปแบบประชารัฐ กับหน่วยงานหรือองค์กรภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา ภาคีเครือข่ายการเกษตรฯ

Advertisement

ซึ่งตามระเบียบ กระทรวงเกษตรฯ ว่าด้วยการบริหารงานอาสาสมัครเกษตร พ.ศ.2560 ได้กำหนดให้ อกม. เป็นบุคคลเป้าหมายในการพัฒนา โดยผู้ที่จะได้รับการคัดเลือกให้เป็น อกม. ต้องเป็นเกษตรกรปราดเปรื่อง (สมาร์ทฟาร์มเมอร์) ที่ประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม จึงสามารถ ถอดบทเรียนเพื่อเป็นแบบอย่างและเกษตรกรในพื้นที่ได้ในการเรียนรู้และนำไปขยายผลต่อได้

ปัจจุบันกรมส่งเสริมการเกษตร ได้จัดตั้ง อกม. ทั่วประเทศแล้วรวม 75,095 ราย โดยในปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ได้มุ่งเน้นให้ อกม. ปฏิบัติหน้าที่ตามบทบาทหน้าที่ 5 ข้อ ในระเบียบกระทรวงเกษตร ว่าด้วยการบริหารงานอาสาสมัครเกษตร พ.ศ.2563

อกม. ได้ดำเนินการตามภารกิจดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ตามบริบทของพื้นที่ ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาด้านการเกษตรในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี ตามแผนงานของกรมส่งเสริมการเกษตร

นอกจากนี้ เมื่อปี 2563 คณะกรรมการนโยบายอาสาสมัคร เกษตร (คน.กษ.) ตามระเบียบข้างต้น ได้ประเมินค่างานจากการปฏิบัติงานในบทบาทหน้าที่ของ อกม. พบว่า อกม. ต้องปฏิบัติงาน 15 วันต่อเดือน และเทียบเคียงกับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 310 บาทต่อวัน

คิดเป็นเงินค่าจ้างที่สมควรจ่ายให้ อกม. จำนวน 3,465 บาทต่อเดือนต่อคน ซึ่งจากการพิจารณาศึกษาครั้งนั้น เนื่องจาก อกม. ยังไม่เคยได้รับค่าตอบแทนหรือค่าป่วยการใดๆ และ อกม. ต้องใช้เงินส่วนตัวเพื่อทำงานที่ได้รับมอบหมายด้วยจิตอาสา

อนึ่งในการประชุม คน.กษ. เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2563 ได้มีมติเห็นสมควรนำเสนอรัฐบาลให้จ่ายค่าตอบแทนในการปฏิบัติงานแก่ อกม. จำนวน 75,155 ราย เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ

และเตรียมการให้ อกม.ทำงานในเชิงรุกเพื่อสร้างคุณค่าเพิ่มเติมให้กับภาคการเกษตรในระยะต่อไป โดยจ่ายเป็นค่าป่วยการรายเดือนตามระเบียบ กระทรวงเกษตรฯว่าด้วยการบริหารงานอาสาสมัครเกษตร พ.ศ.2563 รายละ 1,000 บาทต่อเดือน

สำหรับบทบาทหน้าที่ 5 ข้อ ของ อกม. ข้างต้น ได้แก่
1.จัดเก็บรวบรวมและรายงานข้อมูลพื้นฐานด้านการเกษตรของหมู่บ้าน ทำหน้าที่สำรวจ จัดเก็บ และรายงานข้อมูลพื้นฐานทางการเกษตรของหมู่บ้าน ได้แก่ การขึ้นทะเบียนเกษตรกร (ทบก.) การขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกพืชเศรษฐกิจ (ทพศ.) รายงานข้อมูลภาวะการผลิตพืชรายตำบล (แบบ รต.) รายงานข้อมูลภาวะการผลิตพืชรายอำเภอ (แบบ รอ.) สถานการณ์การเกษตร และข้อมูลอื่น ตามที่ได้รับการมอบหมาย

2.ร่วมกับกรรมการหมู่บ้านและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดทำแผนพัฒนา การเกษตรระดับหมู่บ้านทำหน้าที่ประสานงานจัดทำแผนพัฒนาการเกษตรระดับหมู่บ้านตั้งแต่ การรวบรวมปัญหา ร่วมประชุมจัดทำแผนพัฒนาการเกษตรระดับหมู่บ้านร่วมกับคณะกรรมการหมู่บ้าน เสนอแผนพัฒนาการเกษตรระดับหมู่บ้านต่อศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล (ศบกต.) และติดตามผลการดำเนินงานตามแผน

3.ประสานงานในการถ่ายทอดความรู้และการแก้ไขปัญหาด้านการเกษตร และการสหกรณ์ของเกษตรกรในหมู่บ้าน ถ่ายทอดความรู้ด้านการเกษตรแก่เกษตรกร ได้แก่ การเป็นวิทยากร การประสานเพื่อให้เกิดการถ่ายทอดความรู้และการเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตรของหมู่บ้าน เช่น การจัดทำ แปลงทดสอบ แปลงส่งเสริม แปลงขยายพันธุ์ในหมู่บ้าน เป็นต้น ประสานงานแก้ไขปัญหาทางการเกษตรในหมู่บ้าน โดยการสำรวจรายงานและดำเนินการ หรือประสาน เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาของเกษตรกร

4.ติดตามสถานการณ์การเกษตรในหมู่บ้านและรายงานเหตุการณ์ฉุกเฉินเร่งด่วน ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามสถานการณ์การเกษตรในหมู่บ้านและรายงานเหตุการณ์ฉุกเฉินเร่งด่วน ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ เฝ้าระวังการเกิดภัยธรรมชาติและสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยการสำรวจ แปลงพยากรณ์แจ้งเตือนภัยการระบาดของศัตรูพืชแก่เกษตรกร ร่วมติดตามสำรวจรายงานความเสียหาย รายงานเหตุการณ์ฉุกเฉินเร่งด่วนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

และ 5.ปฏิบัติงานใดๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรและชุมชน หรือตามที่กระทรวงเกษตรหรือหน่วยงานอื่นขอความช่วยเหลือ โดยทำหน้าที่ คือ เป็นผู้สื่อข่าวเกษตรประจำหมู่บ้าน ได้แก่ การประชาสัมพันธ์งาน หรือโครงการของกระทรวงเกษตรฯในหมู่บ้านหรือชุมชน เข้าร่วมกิจกรรมและการแจ้งเตือนภัยธรรมชาติ ผ่านช่องทางสื่อสารต่างๆ ให้แก่เกษตรกรในหมู่บ้านหรือชุมชน และภารกิจอื่นๆ ตามที่ได้รับการมอบหมายจากกระทรวงเกษตรฯ

สำหรับในปี 2565 กระทรวงเกษตรมีแผนการขับเคลื่อนงานอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน ในด้านการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพ อกม. แลกเปลี่ยนเรียนรู้ตามบทบาทหน้าที่ ในฐานะเป็นผู้ช่วยเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ให้สามารถสนับสนุนงานส่งเสริมการเกษตรและงานตามภารกิจของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

นอกจากนี้ ยังสนับสนุนให้ อกม. มีระบบการทำงานที่มีประสิทธิภาพ เป็นกลไกและมีส่วนร่วมในการพัฒนางานส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ เชื่อมโยงเครือข่ายการปฏิบัติงานตามบทบาทหน้าที่และพัฒนาให้เป็นต้นแบบแก่เกษตรกรทั่วไป

รวมถึงการสร้างขวัญกำลังใจ สร้างการรับรู้ให้สาธารณชน พร้อมทั้งเผยแพร่ผลงานของ อกม. และยกย่องเชิดชูเกียรติให้แก่อาสาสมัครเกษตร ในฐานะเกษตรกรผู้มีจิตอาสา

ให้โอกาสในการแสดงความเป็นผู้นำและเป็นที่เชื่อถือยอมรับของเกษตรกรอีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image