ทำนายศึกชิงผู้ว่าฯกทม. ไม่มีเซอร์ไพรส์? คนเข้าป้าย แต้ม 1 ล้านอัพ!

ใกล้เข้ามาทุกขณะ สำหรับการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในวันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคมนี้ ภายใต้ผลโพลสำนักต่างๆ ที่สอดคล้องกันว่า ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เบอร์ 8 จะคว้าชัย ก่อนที่เจ้าตัวจะออกมาย้ำกับชาวกรุงว่า อย่าชะล่าใจว่าตนจะ “นอนมา” จนปล่อยวาง ไม่เข้าคูหา ในขณะที่ผู้สมัครเด่นๆ ในครั้งนี้ยังมีอีกหลายราย ไม่ว่าจะเป็น พี่เอ้ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์, พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ในนามอิสระ, วิโรจน์ ลักขณาอดิศร แห่งก้าวไกล, ศิธา ทิวารี ใต้ร่มไทยสร้างไทย ฯลฯ

ท่ามกลางกระแสความหวาดหวั่นในแต่ละฝ่าย ที่เกรงว่ามีผู้สมัครหลายรายในสาย หรือที่มีคะแนนเสียงเป็นกลุ่มเดียวกัน เสี่ยง “ตัดคะแนนกันเอง” ทั้งในฟากฝั่งประชาธิปไตย และฝ่ายที่อาจใช้นิยามเพื่อความเข้าใจง่ายว่าอนุรักษนิยม

ถามว่า การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งแรกในรอบ 9 ปี ที่คาดกันว่าจะมีผู้ออกจากบ้านมาเข้าคูหา ใช้อำนาจผ่านปลายปากกาในนามประชาชนอย่างมากมายนี้ ผู้ขึ้นแท่นคว้าสายสะพายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจากการเลือกตั้งคนแรกหลังรัฐประหารจะได้คะแนนสักเท่าไหร่ ท่ามกลางปัจจัยหลากหลายที่น่าสนใจยิ่ง

“ค่อนข้างคาดการณ์ลำบาก”

Advertisement

คือคำตอบของ ผศ.ดร.ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ และรัฐประศาสนศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ด้วยเหตุผลหลากหลายประการ

อย่างไรก็ตาม มองว่ามี 3 ปัจจัยหลักที่เชื่อมโยงได้ว่าผู้สมัครรายใดจะคว้าชัยด้วยคะแนนอันดับ 1

ปัจจัยแรกที่สำคัญคือ การใช้โซเชียลมีเดียในการหาเสียงในโค้งสุดท้าย ว่าสามารถจุดประเด็นให้คนสนใจในนโยบายของตัวเองได้มากน้อยแค่ไหน เป็นประเด็นสำคัญ

Advertisement

ปัจจัยที่ 2 คือ ปัจจุบันเริ่มมีการจุดกระแสเทคะแนนเสียงให้ผู้สมัครคนใดคนหนึ่งเป็นหลัก ซึ่งจะเห็นว่ามีผู้ที่ยืนยันความอิสระของตัวเอง ทว่า ในการเมืองของกรุงเทพฯ ก็มีความพยายามที่จะยัดเอาจุดยืนด้านการเมืองระดับประเทศใส่ให้กับผู้สมัครบางคน หรือเป็นตัวแทนของฝักฝ่าย

“ต้องดูว่าความพยายามในโค้งสุดท้ายที่จะทำให้คะแนนที่แตก โยนไปยังใครคนใดคนหนึ่งจะประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน นั่นหมายความว่า มันจะมีปัจจัยการเมืองระดับชาติ หรือแม้กระทั่งการปลุกกระแสระดับประเทศเข้ามาเกี่ยวด้วย” ผศ.ดร.ฐิติวุฒิวิเคราะห์ ก่อนพาไปสู่ประเด็นที่ 3 นั่นคือ ปัจจัยของผู้สมัครแต่ละคนซึ่งต้องระมัดระวังตัวเองอย่างยิ่งในห้วงเวลานี้

“อย่าไปสะดุดยอดหญ้าในโค้งสุดท้ายของตัวเองก็แล้วกัน เช่น การมีบางประเด็นที่อาจจะถูกใส่ร้ายป้ายสี หรือกระทั่งถูกหยิบยกเรื่องความสำเร็จ ความล้มเหลวในอดีตขึ้นมา” อาจารย์ มช.กล่าว ส่วนวาทะ “ไม่เลือกเรา เขามาแน่” ซึ่งเคยสร้างปรากฏการณ์มาแล้วในยุค ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้คว้าชัยเหนือ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ

ผศ.ดร.ฐิติวุฒิชวนให้จับตาว่า เอาเข้าจริง คนกรุงเทพฯจะตัดสินใจเลือกแบบไหน จะเลือกจุดยืนแบบการเมืองระดับชาติ เลือกนโยบาย หรือเลือกตามความชอบของตัวเองกันแน่ ซึ่งนี่ก็คือปัจจัยที่กำลังทำให้คะแนนเสียง “ผันผวน” พอสมควร

“ตอบยากว่ารอบนี้คะแนนเสียงจะเป็นแนวเท หรือแนวเกลี่ย เพราะตอนนี้แต่ละคนเล่นกันแม้กระทั่งผู้หลักผู้ใหญ่อายุ 70-80 มาเชียร์ เขียนจดหมายให้เทคะแนนให้เหมือนในอดีต ส่วนวาทกรรมโพลซึ่งบอกว่าเป็นกลาง แต่การกระจายกลุ่มตัวอย่างมันสอดรับกับพฤติกรรมการเลือกตั้งหรือเปล่า เพราะคนที่ออกไปเลือกตั้งคือคนในชุมชนซึ่งอาจไม่ได้ตอบโพล ในขณะที่คนตอบโพลซึ่งมีทะเบียนบ้านในย่านธุรกิจ ย่านใจกลางเมืองอาจไม่ได้ออกไปใช้สิทธิในวันจริงก็ได้ นอกจากนี้ คะแนนเสียงคนรุ่นใหม่ก็น่าสนใจ”

เมื่อถามต่อไปว่า คนกรุงเทพฯอั้นมานานถึง 9 ปี เลือกตั้งผู้ว่าฯรอบนี้ เสี่ยงคูหาแตกหรือไม่?

“คิดว่าคนกรุงเทพฯจะออกมาเลือกตั้งมากกว่าค่าเฉลี่ยเดิม ซึ่งถ้าเกิน 50-70 เปอร์เซ็นต์ ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว” ผศ.ดร.ฐิติวุฒิทิ้งท้าย

ขณะที่คำตอบของคำถามเดียวกันนี้ รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต ผู้เกาะติดสมรภูมิเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. รวมถึง ส.ก.อย่างแน่นเหนียว ประเมินว่า ผู้ออกมาใช้สิทธิน่าจะอยู่ที่ 60 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป และผู้คว้าชัยก็จะสัมพันธ์กับจำนวนผู้ออกมาเข้าคูหา

“ผู้ว่าฯ กทม.ที่จะได้รับการเลือกตั้ง จะสัมพันธ์กับผู้ออกมาใช้สิทธิ สถานการณ์ตอนนี้ผมประเมินว่าผู้ออกมาใช้สิทธิน่าจะอยู่ระดับ 60 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป ซึ่งถือว่าเยอะมาก เพราะเมื่อเทียบกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ในปี’56 ซึ่ง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ได้รับเลือก เราได้เห็นภาพของความคึกคัก แต่คนออกมาใช้สิทธิแค่ 63 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่การเลือกตั้ง ส.ส.ปี’62 ที่ผ่านมา ถ้าจำไม่ผิด คนกรุงเทพฯออกมาใช้สิทธิ 73% โดยทั่วไป คนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งท้องถิ่นน้อยกว่าเลือก ส.ส.อยู่แล้ว เพราะการเลือก ส.ส.ครอบคลุมทั้งประเทศ ก่อให้เกิดความตื่นเต้น เป็นการเลือกตั้งเพื่อจัดตั้งรัฐบาลซึ่งสัมพันธ์กับชีวิตทางเศรษฐกิจ” รศ.ธำรงศักดิ์กล่าว

ก่อนอธิบายต่อไปว่า หากคนออกมาเลือกตั้ง 60 เปอร์เซ็นต์ จากจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งราว 4.3 ล้านคน หมายความว่า คน 2.6 ล้าน ออกมาใช้สิทธิ ดังนั้น เชื่อว่าผู้ได้ชัยชนะจะมีคะแนนมากกว่า 1 ล้าน

“ถ้าดูโพลของสำนักต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนิด้าโพล สวนดุสิตโพล และผลวิจัยของนักศึกษาปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต ทุกโพลออกมาในทิศทางเดียวกันว่า ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ มาเป็นอันดับ 1 โดยได้ 40 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป ซึ่งเท่ากับ 1 ล้านกว่าเสียง ส่วนคะแนนที่เหลืออีก 1 ล้าน 5 แสน จะกระจายลงไปในกลุ่มแคนดิเดตอันดับ 2-4 เช่น อัศวิน ขวัญเมือง, สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ และวิโรจน์ ลักขณาอดิศร คนละ 2-3 แสน”

นอกจากนี้ รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ยังตั้งข้อสังเกตน่าสนใจจากผลวิจัยที่มีการลงพื้นที่เขตดอนเมืองและเขตพระนคร ซึ่งพบว่า “คนหนุ่มสาว” ที่คิดว่าจะเลือก “วิโรจน์” แห่งพรรคก้าวไกล กลับตัดสินใจจ่อเทคะแนนให้ “ชัชชาติ” อย่าง “ถล่มทลาย” ในลักษณะจงใจเลือกในเชิงยุทธศาสตร์ เน้นย้ำความต้องการชัยชนะให้ฝ่ายประชาธิปไตย ไม่ต้องการให้กลุ่มที่มีภาพลักษณ์สัมพันธ์กับม็อบ “ชัตดาวน์กรุงเทพฯ” ปี’56 และรัฐประหารปี’57 ฟื้นคืนกลับมา

“ข้อที่น่าสนใจมาก คือพรรคประชาธิปัตย์จะสูญพันธุ์ไปจากกรุงเทพฯหรือไม่ แม้ว่าสุชัชวีร์จะได้คะแนน 8-10 เปอร์เซ็นต์ แต่หมายความว่าในสนาม กทม.น่าจะแพ้อย่างราบคาบ เราดูตามทิศทางของโพล สำหรับในส่วนของ ส.ก. จากการเจาะที่เขตดอนเมืองและเขตพระนครก็ยิ่งชี้ให้เห็นว่า คะแนน ส.ก.ยิ่งไม่มีเลย สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ แม้เลือกสุชัชวีร์เป็นผู้ว่าฯ แต่ ส.ก.ไม่รู้ว่าคะแนนหายไปไหน คะแนนทีมอัศวินเองก็ไม่ลงไปที่ ส.ก.เลยเช่นกัน แสดงว่าทีม ส.ก.เป็นเรื่องของตัวบุคคลว่าใครทำงานเจาะลึกมานาน มากกว่าอิทธิพลของพรรคและผู้สมัครผู้ว่าฯ”

แม้ผลโพลจะมีผู้นำโด่ง นอนมา แต่ต้องลองถามว่ามีโอกาสเกิด “เซอร์ไพรส์” หรือไม่?

“ผมคิดว่ามีความพยายามจะทำให้มี เราเห็นความพยายามที่จะยิงกระทบไปยังพรรคเพื่อไทย เพื่อทะลุไปยังชัชชาติ อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ได้มีแคนดิเดต 2 คนนำกันมาแบบม้าแข่ง ถ้าเป็นเช่นนั้นวิชามาร หรือการพลิกล็อกจึงจะเป็นไปได้ แต่การที่มีผู้นำโด่ง แล้วอันดับ 2-5 มาเป็นแผง จึงไม่รู้ว่าจะสะวิงโหวตกันอย่างไร เพราะม้าที่นำ นำไปไกลมากเลย (หัวเราะ) คิดง่ายๆ ว่า ถ้าทีมอัศวินโยนคะแนนไปให้ประชาธิปัตย์ คุณอัศวินจะยอมหรือ เพราะคะแนนเสียงที่จะได้คือคะแนนที่ประชาชนประเมินการทำงานของท่านมา 5 ปีครึ่ง ยิ่งคะแนนน้อยเท่าไหร่ จะเอาหน้าไปไว้ที่ไหน ในทางกลับกัน ถ้าเอาคะแนนของคุณสุชัชวีร์ไปให้คุณอัศวิน พรรคประชาธิปัตย์จะเหลือหน้าตาอะไรสำหรับการเลือกตั้งครั้งหน้า ถ้าไม่มีคะแนนก็เท่ากับการทำลายตัวเอง” รศ.ดร.ธำรงศักดิ์วิเคราะห์

ก่อนปิดท้ายว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ เซอร์ไพรส์-พลิกล็อก ยากที่จะเกิดได้ เพราะไม่สูสีพอ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image