สกู๊ปหน้า 1 : จากชัชชาติ สู่เลือกตั้ง ผวจ.
ภายหลังจากที่ ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หรืออีสานโพล ได้เผยผลสำรวจเรื่อง คนอีสานกับการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด
ผลสำรวจพบว่า คนอีสานเกือบครึ่ง อยากเห็นการกระจายอำนาจบริหารและงบประมาณให้จังหวัดและท้องถิ่นมากขึ้น ส่วนใหญ่เห็นว่าจังหวัดในอีสานพร้อมเลือกตั้งผู้ว่าฯเช่นเดียวกับ กทม.ภายใน 1-5 ปี
มีเพียงส่วนน้อยที่เชื่อว่าการเลือกตั้งผู้ว่าฯมีข้อเสียมากกว่าข้อดี โดยชูจังหวัดขอนแก่นเป็นจังหวัดนำร่องในการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นและเลือกตั้งผู้ว่าฯเช่นเดียวกับ กทม.
นายชาญณรงค์ บุริสตระกูล ประธานหอการค้าจังหวัดขอนแก่น ให้ความเห็นว่า ในระดับท้องถิ่น จังหวัดเรามีการเลือกนายก อบจ. นายกเทศบาล และนายก อบต. กันอยู่แล้ว
ถ้าบอกว่าเป็นงานบริหารส่วนราชการท้องถิ่น จริงๆ ผู้ว่าฯกทม.ก็คือ ส่วนเขตปกครองรูปแบบพิเศษ กทม.แค่นั้นเอง แต่ท่านก็ยังเป็นตำแหน่งเท่ากับนายก อบจ. นายกเทศบาล เราจะเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดที่เป็นข้าราชการจังหวัดเป็นส่วนกลางได้ไหม
ส่วนตัวมองว่าอาจจะคนละรูปแบบ มันน่าจะมาคุยกันที่ว่า ประเด็นก็คือ ทำยังไงถึงจะส่งเสริมให้องค์กรท้องถิ่นเหล่านี่ให้แข็งแรง และก็มีงบประมาณสนับสนุนที่เพียงพอ และก็สามารถประสานรับหน้าที่รับบริการต่างๆ ให้ประชาชนได้เร็วขึ้น มากขึ้น
เราอาจจะไม่ได้คุยว่าต้องเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด โดยตรงดีกว่าหรือไม่ เพราะว่าตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นตำแหน่งราชการ แต่ว่าถ้าเป็นเลือกตั้งก็จะเป็นข้าราชการการเมือง
ส่วนตัวการเลือกตั้งผู้ว่าฯมีทั้งข้อดีและข้อเสียอย่างไร ข้อดีคือมันเป็นระบอบประชาธิปไตย ซึ่งทำให้ทุกคนมีส่วนร่วมและก็มีความอยากเป็นเจ้าของ และก็อยากร่วมมือ เพราะฉะนั้นเวลาที่จะมีการเลือกตั้งก็จะระดมความคิดเห็นต่างๆ ออกมา ก็มาส่งเสริม มาสนับสนุนมาพยายามตอบคำถามของประชาชนของบ้านเมือง และรอบนี้ผู้ว่าฯกทม.ที่เลือกตั้งกันบรรยากาศดีมาก มีการเสนอนโยบายในการปรับปรุงพัฒนาสิ่งต่างๆ ออกแข่งกัน และก็เอามาคุยกันถึงสิ่งที่จะต้องทำและประชาชนต้องการ
ส่วนข้อเสีย คิดว่าถ้าเกิดจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นภาพเดิมๆ ที่เรามองเห็นกันก็คือปราศรัย โจมตี แบ่งข้างแบ่งพวก เพราะเป็นการแข่งแบบแพ้ ชนะ จึงมีคนชนะ 1 คน ที่เหลือแพ้หมดเพราะว่าท่านไม่ได้รับเลือกตั้ง นายชาญณรงค์กล่าว
ขณะที่ นายศักดิ์ชาย ผลพานิชย์ ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่าการเลือกตั้งผู้ว่าฯของจังหวัดใหญ่มีความน่าสนใจมาก โดยเฉพาะจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งถือว่าเป็นหัวเมืองใหญ่ของภาคอีสาน เพราะมีพื้นที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ถึง 20,493 ตารางกิโลเมตร มีประชากรมากกว่า 2.6 ล้านคน มากเป็นอันดับที่ 2ของประเทศ รองจากกรุงเทพมหานคร
เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญทางเศรษฐกิจของภาคอีสาน เป็นประตูสู่ภาคอีสาน เชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ เชื่อว่าจังหวัดนครราชสีมา มีศักยภาพเพียงพอที่จะเป็นเขตปกครองพิเศษ ด้วยการจัดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อเข้ามาบริหารจัดการพื้นที่ให้มีความเจริญก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น ทัดเทียมกับกรุงเทพมหานคร
เนื่องจากที่ผ่านมา ผู้ว่าราชการจังหวัดล้วนมาจากการแต่งตั้งของส่วนกลาง คือกระทรวงมหาดไทย ซึ่งไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนในพื้นที่โดยตรง ทำให้เกิดปัญหาหลายด้าน เช่น ขาดความต่อเนื่อง หลายคนมาดำรงตำแหน่งแค่ 1-2 ปีก็ต้องย้ายไปที่อื่นแล้ว การจะทำโครงการอะไรก็ต้องรออนุมัติจากส่วนกลาง ผู้ว่าฯไม่กล้าทำตามเสียงของประชาชนในพื้นที่ เพราะถ้าไม่ทำตามนโยบายส่วนกลางก็จะส่งผลให้เก้าอี้ปลิวไปด้วย จึงทำให้การทำงานแก้ปัญหาไม่ตรงกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง
ปัญหาหลายเรื่องต้องมีการวางแผนแก้ไขอย่างต่อเนื่องหลายปี ผู้ว่าฯที่มาจากการแต่งตั้งการันตีไม่ได้ว่าจะอยู่ในตำแหน่งนานแค่ไหน จึงทำให้ที่ผ่านมาตำแหน่งผู้ว่าฯเป็นแค่ทางผ่านเท่านั้น ดังนั้น ถ้ามีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เชื่อว่าปัญหาต่างๆ ข้างต้นจะหมดไปทันที เพราะเป็นการกระจายอำนาจมาสู่ท้องถิ่นอย่างเต็มรูปแบบ ประชาชนสามารถใช้สิทธิใช้เสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯได้โดยตรง และมีวาระการบริหารที่ชัดเจน ถ้าผลงานดีประชาชนก็จะเลือกเข้ามาอีก แต่ถ้าบริหารแย่ ประชาชนก็ไม่เลือก
ทั้งนี้ จังหวัดนครราชสีมา มีมากถึง 32 อำเภอ แต่ละอำเภอมีความแตกต่างกัน จะต้องมีนโยบายบริหารจัดการที่แตกต่างกันไป ถ้าได้ผู้ว่าฯมาจากการเลือกตั้ง ก็จะทำให้มีความคล่องตัวในการทำงานพัฒนาพื้นที่ได้ดีกว่าเดิมแน่นอน ส่วนเรื่องตำแหน่ง นายก อบจ.ที่มีความทับซ้อนกันอยู่ ก็ต้องมาหารือกันว่าจะยุบหรือทำอย่างไร ไม่ให้เกิดความทับซ้อนในการทำงานกันกับผู้ว่าฯ รวมทั้งนายอำเภอต่างๆ จะให้ขึ้นตรงกับผู้ว่าฯ หรือขึ้นตรงกับส่วนกลางก็ต้องพิจารณากันใหม่ให้เหมาะสม
ถ้าเป็นเขตปกครองพิเศษ ก็จะต้องมีรูปแบบที่เฉพาะตัวของแต่ละจังหวัด เรื่องการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมานั้น ชาวโคราชมีการพูดถึงมานานแล้ว เพราะจังหวัดนครราชสีมามีศักยภาพทุกด้านที่จะเป็นจังหวัดเขตปกครองพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ ประชากร ระบบสาธารณูปโภค และการคมนาคม ถ้าได้ผู้ว่าฯที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน จะทำให้กลายเป็นเสือติดปีกอย่างแน่นอน นายศักดิ์ชายกล่าว
ผศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ระบุว่า ตนมองว่าเป็นเพียงการสำรวจความคิดเห็นด้านความรู้สึกเพียงอย่างเดียว โดยที่ไม่ได้มองลึกลงไปถึงความพร้อมในหลายๆ ด้าน
ประกอบกับทุกวันนี้ประชาชนเขาเบื่อรัฐบาลที่อยู่นาน พึ่งพาอะไรจากการบริหารส่วนกลางไม่ค่อยได้ จึงอยากให้มีการเปลี่ยนการปกครองท้องถิ่นใหม่ แต่การจะเปลี่ยนไปเป็นเขตปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษได้นั้น จะต้องมีความพร้อมหลายด้าน เช่น ผลผลิตมวลรวม การจัดเก็บรายได้ ต้องมากพอที่จะดูแลตัวเองได้ หรือพึ่งพางบจากส่วนกลางให้น้อยที่สุด
ไม่ใช่ว่าตั้งเป็นเขตปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษแล้ว ยังจะต้องแบมือของบประมาณส่วนกลางมากๆ อยู่อีก ถ้าเป็นเช่นนั้นก็เจ๊งตั้งแต่คิดแล้ว จริงอยู่ จ.นครราชสีมา แม้ว่าจะมีความพิเศษหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดซึ่งมีพื้นที่มากที่สุดของประเทศ มีประชากรมากเป็นอันดับที่ 2 ของประเทศรองจากกรุงเทพฯ และมีการวางโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบคมนาคมระดับภูมิภาค
แต่ถ้ามาดูผลผลิตมวลรวม และการจัดเก็บรายได้แล้ว ถือว่ายังไม่เพียงพอที่จะสามารถเลี้ยงดูตัวเองได้ โดยไม่พึ่งพางบสนับสนุนจากส่วนกลาง เขตเศรษฐกิจส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่แค่ไม่กี่พื้นที่ เช่น อ.ปากช่อง และ อ.เมือง นอกนั้นจะเป็นพื้นที่ที่มีรายได้จากภาคการเกษตร ซึ่งจะเป็นไปตามฤดูกาลเท่านั้น ในขณะที่จังหวัดเล็กๆ ซึ่งมีความพร้อมด้านการจัดเก็บรายได้สามารถเลี้ยงตัวเองได้มากกว่า ก็มีอยู่หลายจังหวัด เช่น ภูเก็ต สมุทรปราการ ปทุมธานี และระยอง เป็นต้น จังหวัดเหล่านี้จะมีภาษีดีกว่า ที่จะได้เป็นเขตปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษ
มองว่า จ.นครราชสีมา หรือแม้กระทั่ง จ.ขอนแก่น ยังไม่มีความพร้อมที่จะเป็นการปกครองส่วนท้องถิ่นแบบพิเศษในตอนนี้ แต่ในอนาคตก็อาจจะเป็นไปได้ ซึ่งถ้าอยากทำให้เป็นไปได้ ก็ควรที่จะมีการวางโรดแมปพัฒนาโครงสร้างต่างๆ ไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อก้าวไปสู่จุดหมายนั้น
อาจต้องใช้เวลาอีกนับสิบปี เพราะตอนนี้เรายังไม่รู้เลยว่าจังหวัดเราโดดเด่นเรื่องอะไร จะเป็นจังหวัดอุตสาหกรรมก็ไม่ใช่ ท่องเที่ยวก็ไม่เชิง เกษตรกรรมก็ไม่ชัด ดังนั้น เราต้องโฟกัสว่าจะเป็นจังหวัดที่มุ่งสร้างรายได้จากส่วนใดเป็นหลักก่อน แล้วค่อยๆ พัฒนาระบบสาธารณูปโภคต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายนั้น ถ้านครราชสีมามีความพร้อมที่ชัดเจนก็มีความเป็นไปได้สูงที่จะได้เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดในอนาคตได้เช่นกัน
ถือเป็นเอฟเฟ็กต์จากชัยชนะของชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่ขยายตัวลามไปถึงจังหวัดใหญ่ๆ ทั่วประเทศแล้ว