‘ศรีลังกา’ วิกฤต เมื่อการเมืองฉุด ‘เศรษฐกิจ’ พัง

‘ศรีลังกา’ วิกฤต เมื่อการเมืองฉุด ‘เศรษฐกิจ’ พัง

นับตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา “ศรีลังกา” เกิด “วิกฤตเศรษฐกิจ” อย่างหนักจนเป็นข่าวไปทั่วโลก เป็นวิกฤตที่นับได้ว่าเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่ประเทศได้รับเอกราช เมื่อปี ค.ศ.1948

เหตุผลของวิกฤตในครั้งนี้ถูกอธิบายว่าเกิดจากการ “ขาดแคลนเงินทุนสำรองสกุลเงินต่างประเทศ” ส่งผลให้ศรีลังกาไม่สามารถนำเข้าสินค้าจำเป็นให้ประชากรในประเทศได้ เกิดการขาดแคลนอาหารและเชื้อเพลิงอย่างหนัก

ภาพประชาชนจำนวนมากต่อแถวรอซื้ออาหารและน้ำมันยาวเหยียดถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก เกิดปัญหาน้ำมันดีเซล “หมดประเทศ”

ประชาชนต้องอาศัยอยู่ในความมืด เพราะรัฐบาลต้องตัดไฟนานนับสิบชั่วโมง

Advertisement

รัฐบาลประกาศให้ข้าราชการมีวันหยุดเพิ่มเพื่อปลูกผักเอาไว้กินเองเอาตัวรอดจากวิกฤตขาดแคลนอาหาร ขณะที่เด็กนักเรียนหลายล้านคนที่ต้องเลื่อนสอบเพราะ “ขาดแคลนกระดาษ” ระบบสาธารณสุขก็กำลังจะล่มสลาย เพราะขาดแคลนเวชภัณฑ์และยารักษาโรค ผู้คนแห่เดินทางออกจากประเทศเพื่อหางานทำ ขณะที่ 9 ใน 10 ครอบครัวต้องอดมื้อกินมื้อ ซ้ำเติมด้วยอัตราเงินเฟ้อของประเทศพุ่งขึ้นเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์

ล่าสุด นายรานิล วิกรมสิงเห นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของศรีลังกา ออกมายอมรับ เมื่อวันที่ 22 มิถุนายนที่ผ่านมาว่า เศรษฐกิจของประเทศได้ “พังทลายลงโดยสมบูรณ์” แล้ว

ไม่น่าเชื่อว่า ศรีลังกา ประเทศที่เคยมีเศรษฐกิจเติบโตปีละ 8 เปอร์เซ็นต์ก่อนหน้านี้ และเคยได้รับการจัดอันดับจากนิตยสาร “โลนลี่ แพลเน็ต” นิตยสารท่องเที่ยวชื่อดังระดับโลกให้เป็นประเทศที่น่าเดินทางไปท่องเที่ยวมากที่สุดในโลกในปี 2019 ตกอยู่ในสภาพนี้ได้อย่างไร?

Advertisement

หากไล่เรียงดูคงจะตอบได้ว่าศรีลังกามีปัญหาจากหลายสาเหตุทั้งระบบการเมือง การบริหารเศรษฐกิจที่ผิดพลาด ซ้ำเติมด้วยการแพร่ระบาดของโควิด-19 และสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน

รากเหง้าของปัญหาส่วนหนึ่งมาจาก การเมืองศรีลังกาที่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของคนในตระกูล “ราชปักษา” อย่างยาวนาน จนได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในตระกูลที่มีอิทธิพลกับการเมืองระดับประเทศมากที่สุดในโลก และถูกมองว่าเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ศรีลังกาเดินไปสู่ความล้มเหลว

“โคฐานภยะ” และ “มหินทรา” ราชปักษา เป็นสองพี่น้องที่ผลัดกันขึ้นสู่อำนาจก่อนที่ในปี 2019 โคฐานภยะ จะเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี ตั้งพี่ชาย มหินทรา เป็นนายกรัฐมนตรี ควบตำแหน่งรัฐมนตรีคลัง, รัฐมนตรีพัฒนาเมือง และรัฐมนตรีกิจการพุทธศาสนา

นอกจากนี้ ยังตั้งพี่ชายคนโตอย่าง ชามาล ราชปักษา เป็นรัฐมนตรีชลประทาน ควบตำแหน่งรัฐมนตรีความมั่นคงภายใน, มหาดไทย และบริหารจัดการภัยพิบัติ ไม่เท่านั้นยังตั้งหลานชายอีก 2 คนนั่งในตำแหน่งรัฐมนตรีด้วยอีก 2 คน การครองอำนาจในกลุ่มครอบครัวเดียวส่งผลให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่น มีการกวาดล้างผู้เห็นต่าง ฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง และละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง

และแน่นอนว่าวิกฤตเศรษฐกิจครั้งล่าสุดส่งผลให้ประชาชนลุกฮือขับไล่รัฐบาล จนประธานาธิบดีโคฐานภยะ ต้องมีการปรับคณะรัฐมนตรีใหม่ทั้งหมดให้ไร้คนนามสกุล ราชปักษา ตามเสียงเรียกร้อง อย่างไรก็ตาม “รานิล วิกรมสิงเห” นายกรัฐมนตรีคนใหม่ก็เป็นนักการเมืองอาวุโสใกล้ชิดคนตระกูลราชปักษามากที่สุดอยู่ดี

นอกจากระบบพวกพ้องในฝ่ายการเมืองแล้ว การบริหารเศรษฐกิจที่ผิดพลาดของรัฐบาลก็เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้ศรีลังกามีสภาพอย่างในทุกวันนี้

ที่ผ่านมารัฐบาลศรีลังกามีนโยบายที่เน้นการผลิตป้อนตลาดในประเทศ มากกว่าการส่งออก นั่นส่งผลให้ศรีลังกา “ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด” อย่างหนัก โดยในปัจจุบันมูลค่าการนำเข้าของศรีลังกามากกว่ามูลค่าการส่งออกถึง 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเนื่องทุกปี และนั่นก็เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ศรีลังกา “ขาดแคลนเงินทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ” อย่างรุนแรง

ทุนสำรองสกุลเงินต่างประเทศของศรีลังกาลดลงเรื่อยๆ จาก 7,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในสิ้นปี 2019 ในเดือนมีนาคม 2020 ลดลงเหลือ 1,930 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และล่าสุดลดลงเหลือเพียง 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น

นอกจากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดแล้ว ศรีลังกา ยังมีหนี้สินล้นพ้นตัว จากการลงทุนในโครงการเมกะโปรเจ็กต์ ภายใต้ชื่อ “โครงการช้างเผือก” ไม่ว่าจะเป็นท่าเรือ สนามบิน และการพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตร ซึ่งเมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขึ้นก็ทำให้หลายๆ โครงการไม่ก่อให้เกิดรายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “สนามบินนานาชาติมัตตาลา ราชปักษา” สนามบินขนาดใหญ่ที่เปิดให้บริการในปี 2013 แต่ใช้งานน้อยมากจนได้รับฉายาจาก “นิตยสารฟอร์บส์” ว่า “สนามบินที่เงียบเหงาที่สุดในโลก” กลายเป็นหนี้ก้อนโตอีกก้อนของรัฐบาลศรีลังกา

ทุนสำรองในประเทศร่อยหรอ แถมยังเป็นหนี้พอกพูน แทนที่รัฐบาลจะหารายได้เพิ่มให้กับประเทศ แต่ประธานาธิบดีโคฐานภยะ ราชปักษา ที่ชนะเลือกตั้งแบบถล่มทลายในปี 2019 กลับประกาศลดภาษีครั้งใหญ่หลังเข้ารับตำแหน่งได้ไม่นาน ส่งผลให้ศรีลังกาสูญเสียรายได้ไปถึง 1,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทุกๆ ปี

วิกฤตเศรษฐกิจของศรีลังกาที่พึ่งพารายได้สกุลเงินต่างประเทศจากภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก ถูกซ้ำเติมด้วยวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงปี 2020 ซ้ำร้ายรัฐบาลกลับแก้ปัญหาเงินสกุลต่างประเทศไหลออกด้วยการสั่งห้ามนำเข้า “ปุ๋ยเคมี” จากต่างประเทศและประกาศนโยบายด้านเกษตรออร์แกนิค สวยหรูด้วยปุ๋ยออร์แกนิคที่มีวัตถุดิบในประเทศที่ดีต่อสุขภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่นโยบายนี้กลับนำไปสู่ปัญหา “พืชผลล้มตาย” วิกฤตอาหารรุนแรงขึ้น และในที่สุดก็หนีไม่พ้นพึ่งพาการนำเข้าอาหารอยู่ดี

ศรีลังกานอกจากจะเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 แล้ว สงครามของรัสเซียในยูเครนที่ทำให้เกิดวิกฤตอาหารและพลังงานไปทั่วโลก ส่งผลให้ราคาสินค้าโดยเฉพาะราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นดันให้อัตราเงินเฟ้อในประเทศเข้าขั้นวิกฤตอย่างหนัก และหมดความสามารถในการชำระหนี้ต่างประเทศ

ล่าสุด ศรีลังกาผิดนัดชำระหนี้พันธบัตรต่างประเทศงวดเดือนพฤษภาคมไปแล้วคิดเป็นมูลค่า 78 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นการผิดนัดชำระหนี้ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ในรอบ 70 ปี การผิดนัดชำระหนี้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและทำให้ศรีลังกา ไม่สามารถกู้ยืมเงินจากตลาดนานาชาติได้ ส่วนค่าเงิน “รูปีศรีลังกา” อ่อนตัวลงอย่างหนักราคาสินค้านำเข้าก็แพงขึ้นเป็นทวีคูณ

เวลานี้ศรีลังกามีหนี้สินต่างประเทศมูลค่าสูงถึง 51,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยในปีนี้มีกำหนดชำระหนี้มูลค่า 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และปีถัดๆ ไปในยอดหนี้เท่าๆ กัน ทำให้รัฐบาลศรีลังกาต้องขอความช่วยเหลือเงินกู้ฉุกเฉินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) มูลค่า 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อนำมาใช้หนี้ก้อนแรก ขณะที่ไอเอ็มเอฟมีเงื่อนไขให้รัฐบาลศรีลังกาต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและอัตราภาษี เพื่อแลกกับเงินกู้ดังกล่าว

นอกจากนี้ ศรีลังกาจะได้รับเงินกู้จากธนาคารโลกมูลค่า 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากอินเดีย 1,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ บวกกับเงินกู้ 1,500 ล้านดอลลาร์ สำหรับการนำเข้าสินค้า และมีการส่งปุ๋ย และเชื้อเพลิงเพื่อให้ความช่วยเหลือด้วย

ขณะที่กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ “จี7” ก็เตรียมที่จะอนุมัติเงินกู้เพื่อให้ศรีลังกานำไปชำระหนี้เพิ่มเติมด้วย ขณะที่จีนเจ้าหนี้รายใหญ่มูลค่า 6,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ก็เตรียมที่จะหารือเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ให้กับศรีลังกาในเร็วๆ นี้

ความล้มเหลวของประเทศศรีลังกา เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของระบบการเมืองแบบพวกพ้องและการบริหารประเทศที่ผิดพลาด ทำให้เศรษฐกิจประเทศที่เปราะบางล่มสลายลงอย่างง่ายดาย เมื่อเกิดวิกฤตที่ไม่คาดคิด

และที่น่าเศร้าก็คือ ประชาชนผู้เสียภาษีกลับต้องเป็นเหยื่อ ผู้รับกรรมกับความล้มเหลวครั้งนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image