อัพเงินบำนาญชราภาพ รัฐโชว์ช่วยทายาทผู้ประกันตน

อัพเงินบำนาญชราภาพ รัฐโชว์ช่วยทายาทผู้ประกันตน

กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระยะเวลา และอัตราการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2565 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีผลบังคับใช้แล้ว เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระยะเวลา และอัตราการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ พ.ศ.2550 ในกรณีผู้รับเงินบำนาญชราภาพถึงแก่ความตายภายใน 60 เดือนนับแต่เดือนที่มีสิทธิรับเงินบำนาญชราภาพ ให้จ่ายเงินบำนาญชราภาพเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นหลักประกันและเป็นการช่วยเหลือทายาทของผู้รับบำนาญชราภาพในการดำรงชีวิตภายหลังผู้รับบำนาญชราภาพถึงแก่ความตาย

บุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์
เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) อธิบายสาระสำคัญและรายละเอียดของกฎกระทรวงนี้ว่า นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ลงนามในประกาศกฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระยะเวลาและอัตราการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2565 เพื่อเป็นหลักประกันและเป็นการช่วยเหลือทายาทของผู้รับบำนาญชราภาพในการดำรงชีวิตภายหลังผู้รับบำนาญชราภาพ ซึ่งเป็นผู้ประกันตนถึงแก่ความตายภายใน 60 เดือน โดยมีสาระสำคัญของกฎกระทรวงเพิ่มใน 3 ประเด็น ดังนี้

1.กำหนดให้ผู้รับบำนาญชราภาพที่ถึงแก่ความตายภายใน 60 เดือนนับแต่เดือนที่มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพ ให้จ่ายเงินบำเหน็จชราภาพจากเดิม 10 เท่าของเงินบำนาญชราภาพรายเดือนที่ได้รับคราวสุดท้ายก่อนถึงแก่ความตาย ปรับเป็นให้จ่ายเงินบำเหน็จชราภาพเป็นจำนวนเท่ากับจำนวนเงินบำนาญชราภาพที่ได้รับเดือนสุดท้ายก่อนถึงแก่ความตาย คูณด้วยจำนวนเดือนที่เหลือหลังจากผู้รับเงินบำนาญชราภาพถึงแก่ความตายจนครบ 60 เดือน เช่น กรณีที่ผู้ประกันตนได้รับบำนาญชราภาพเดือนละ 5,250 บาท และได้รับเงินบำนาญชราภาพมาแล้ว 20 เดือนก่อนถึงแก่ความตาย

เมื่อกฎกระทรวงนี้ประกาศใช้ทายาทจะได้รับเงินบำนาญชราภาพที่เหลืออีก 40 เดือน (5,250 บาท X 40 = 210,000 บาท) เป็นต้น

2.ผู้ที่เคยได้รับเงินบำนาญชราภาพแล้วถูกงดจ่ายเนื่องจากกลับเข้าเป็นผู้ประกันตน และต่อมาถึงแก่ความตาย หากบุคคลนั้นได้รับเงินบำนาญชราภาพมาแล้วไม่เกิน 60 เดือน ให้จ่ายเงินบำเหน็จชราภาพจากเดิม 10 เท่าของเงินบำนาญชราภาพรายเดือนคราวสุดท้ายก่อนกลับเข้าเป็นผู้ประกันตน ปรับเป็นให้จ่ายเงินบำเหน็จชราภาพเป็นจำนวนเท่ากับจำนวนเงินบำนาญชราภาพที่ได้รับเดือนสุดท้ายก่อนกลับเข้าเป็นผู้ประกันตน คูณด้วยจำนวนเดือนที่เหลือหลังจากผู้รับบำนาญชราภาพกลับเข้าเป็นผู้ประกันตนจนครบ 60 เดือนเช่นกัน

Advertisement

3.กำหนดบทเฉพาะกาลให้ผู้รับบำนาญชราภาพอยู่ก่อนกฎกระทรวงฉบับนี้ใช้บังคับ และรับบำนาญชราภาพมาแล้วยังไม่ครบ 60 เดือน ให้จ่ายเงินบำเหน็จชราภาพจนครบ 60 เดือน และในกรณีรับเงินบำนาญชราภาพมาแล้วและจำนวนเดือนเหลือน้อยกว่า 10 เดือน ให้จ่ายเงินบำเหน็จชราภาพเป็นจำนวน 10 เท่าของเงินบำนาญชราภาพรายเดือนที่ได้รับเดือนสุดท้ายก่อนถึงแก่ความตาย “สำนักงานประกันสังคมให้ความสำคัญในการสร้างหลักประกันทางสังคมอย่างเท่าเทียมเสมอภาค และพร้อมดูแลคุณภาพชีวิตของผู้ประกันตนให้ได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุด เพราะผู้ประกันตนทุกท่านเปรียบเสมือนคนในครอบครัวประกันสังคม ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังอย่างแน่นอน”

เลขาธิการ สปส.สรุปพร้อมแจ้งว่า สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ทั้ง 12 แห่ง/จังหวัด/สาขา/ หรือโทร 1506 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ขณะที่ นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน กล่าวว่า เรื่องนี้ถือเป็นข่าวที่ดีสำหรับผู้ประกันตนและทายาท เพราะที่ผ่านมาหากผู้ประกันตนเสียชีวิตระหว่างที่รับเงินบำนาญ เงินส่วนที่เหลือจะตกไปเป็นเงินของกองทุนประกันสังคมทันที แต่เมื่อมีการแก้ไขปรับปรุงใหม่ให้ผู้ประกันตนที่มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ ซึ่งจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 เดือน และไม่อยู่ในสถานะเป็นผู้ประกันตนทั้งมาตรา 33 และมาตรา 39 จะได้รับเงินบำนาญ 60 เดือน แต่หากผู้ประกันตนเสียชีวิตก่อนครบ 60 เดือน เงินส่วนที่เหลือจะตกแก่ทายาทของผู้ประกันตนรายนั้น จะเป็นเงินบำเหน็จให้แก่ทายาทนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้

Advertisement

นอกจากนี้ กรณีผู้ประกันตนรับเงินบำนาญมาแล้วเหลือน้อยกว่า 10 เดือน แต่เสียชีวิตก่อน ทายาทจะได้รับเงินบำเหน็จเท่ากับเงินบำนาญที่ได้รับเดือนสุดท้ายก่อนเสียชีวิต คูณ 10 เท่า ซึ่งเท่ากับผู้ประกันตนและครอบครัวได้สิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น

“แต่อย่างไรก็ตาม สิทธิประโยชน์นี้ยังเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น ที่ผู้ประกันตนส่วนใหญ่กำลังรอคือการปลดล็อกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกันสังคม (3 ขอ) คือ ขอเลือก ขอคืน และขอกู้ ที่ยังอยู่ในกระบวนการทางสภาผู้แทนราษฎร หากมีผลบังคับใช้จะยิ่งเป็นประโยชน์กับผู้ประกันตน โดย 1.ขอเลือก ผู้ประกันตนสามารถเลือกรับบำเหน็จหรือบำนาญชราภาพได้ เปิดโอกาสให้ผู้ประกันตนมีทางเลือกเพิ่มขึ้น 2.ขอคืน ผู้ประกันตนสามารถขอคืนได้ก็ต่อเมื่อเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจที่ทำให้การใช้ชีวิตของผู้ประกันตนไม่ปกติ หรือเกิดอุทกภัย วาตภัย เกิดโรคระบาด โดย สปส.จะให้คืนบางส่วน โดยหลักเกณฑ์จะเป็นสัดส่วนกี่เปอร์เซ็นต์ ต้องส่งเงินสมทบมาแล้วกี่เดือน ต้องรอรายละเอียด 3.ขอกู้ แม้ว่า สปส.ไม่มีภารกิจให้การกู้เงินกับผู้ประกันตน แต่จะทำบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) กับธนาคาร โดยธนาคารที่จะทำเอ็มโอยูกับ สปส.จะต้องคิดดอกเบี้ยน้อยที่สุด และ สปส.จะออกหนังสือรับรอง หรือค้ำประกันให้ว่าผู้ประกันตนรายนี้มีสิทธิรับเงินบำนาญชราภาพ” นายมนัสกล่าว

อย่างไรก็ตาม สำหรับประกันสังคม 3 ขอนี้ หากเป็นไปตามกรอบหรือขั้นตอนที่ประกันสังคมได้วางไว้ คาดว่าน่าจะมีผลกลางปี 2566

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image