ปลัดสธ.โต้ข้อมูล ก.พ. ยืนยันอัตราพยาบาลขาด สภาการพยาบาลชี้สัดส่วนต่อประชากรต่ำมาก

กราฟิกมติชน

ความคืบหน้ากรณีเครือข่ายพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราว กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เคลื่อนไหวผ่านสังคมออนไลน์และนัดรวมตัวจะลาออกภายในวันที่ 30 กันยายน 2560 เพื่อแสดงความไม่พอใจต่อมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม ไม่อนุมัติอัตราข้าราชการแต่งตั้งใหม่ตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพจำนวน 10,922 อัตรา โดยสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สป.สธ.) นำตแหน่งว่างที่มีอยู่ไปบริหารจัดการก่อน กระทั่งนพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เตรียมขอหารือ นายวิษณุ เครืองาม รองนายรัฐมนตรีในสัปดาห์หน้า เพื่อหาทางออกเรื่องนี้

ขณะที่สำนักงานข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) ชี้สาเหตุการไม่อนุมัติอัตราให้ เนื่องจากเห็นว่าสป.สธ.มีตำแหน่งข้าราชการว่างอยู่เป็นจำนวนมาก โดย ณ วันที่ 3 มีนาคม 2560 มีจำนวน 11,213 อัตรา สามารถใช้ตำแหน่งว่างดังกล่าวได้นั้น

เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม นางกฤษดา แสวงดี อุปนายกสภาการพยาบาลคนที่ 2 กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ตามที่นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข ได้มีการประชุมเรื่องนี้ร่วมกับผู้บริหารเบื้องต้นได้สั่งการให้ดำเนินการตามมติครม.ไปก่อนโดยใช้อัตราตำแหน่งข้าราชการที่ว่างลงของปีนี้มาบริหารจัดการ ซึ่งในส่วนของพยาบาลนั้นคิดว่าน่าจะอยู่ประมาณ 3 พันกว่าอัตรา เป็นตัวเลขที่เป็นไปตามที่ขอตำแหน่งฯ จากครม.อยู่แล้ว เพราะขอไป 10.992 ตำแหน่งแบ่งเป็น 3 ปี ปีละประมาณ 3 พันอัตรา ดังนั้นคิดว่าที่มีอยู่นั้นน่าจะสามารถบริหารได้ในส่วนของปี 2560 ซึ่งตอนนี้มีพยาลที่จบตั้งแต่ปี 2556-2559 รอบรรจุอยู่ อย่างไรก็ตาม เรื่องการขออัตรากำลังเพิ่มนั้นยังต้องมีการดำเนินต่อไป และควรมีการตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างกระทรวง คปร. ก.พ. และหน่วยงานกลาง เพราะที่ผ่านมาต่างคน ต่างทำงาน ใช้ข้อมูลกันคนละชุดกระทรวงก็ทำข้อมูลและขออัตรากำลังไป ส่วนก.พ.ก็ไม่ไว้ใจ ทำข้อมูลเองแล้วก็ไม่อนุมัติ เป็นเช่นนี้ ดังนั้นควรหารือร่วมกัน

นางกฤษดา กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ตามที่ ก.พ.ชี้แจงเมื่อวันที่ 11 พฤษภคมที่ผ่านมา เรื่องอัตราส่วนพยาบาลสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำขององค์การอนามัยโลกนั้นเป็นข้อมูลที่คาดเคลื่อน ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกทำการศึกษาจากทั่วโลกและเสนอแนะว่า ประเทศควรมีสัดส่วนแพทย์ พยาบาลไม่ต่ำกว่า 2.5 ต่อพันประชากร โดยมีพยาบาล 2 ต่อ 1,000 คน หรือ 1 ต่อ 500 คน ถ้าต่ำกว่านี้ถือว่ามีวิกฤติกำลังคนที่จะทำให้อัตราการตายของ แม่และเด็กสูงขึ้น และประชาชนจะไม่สามารถเข้าถึงบริการคลอดที่ปลอดภัย ฉะนั้นอย่าเข้าใจผิดในการใช้ตัวเลขสัดส่วนพยาบาลต่อประชากรในการวางแผนกำลังคนสุขภาพ ซึ่งประเทศไทยเพิ่มการผลิตพยาบาลตั้งแต่ปี 2535 เพื่อก้าวพ้นวิกฤติ คือมีเป้าหมายไม่ต่ำกว่า 2 ต่อพัน หรือ 1:500 แต่เพราะมีปัญหาการจ้างงาน ทำให้พยาบาลออกจากอาชีพ ที่เหลืออยู่ก็รับภาระ 1 ต่อ 600 คน ต่ำกว่าภาวะวิกฤติที่องค์การอนามัยโลกกำหนด

Advertisement

ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน ปลัด สธ.กล่าวถึงกรณีที่ ก.พ.ชี้แจงว่าไม่เห็นควรจัดสรรอัตรากำลังตั้งใหม่ จำนวน 10992 อัตรา เนื่องจาก สธ.มีตำแหน่งข้าราชการว่าง ณ วันที่ 3 มีนาคม 2560 จำนวน 11,213 อัตรา ว่า สธ.บริหารอัตรากำลังพยาบาลโดยพิจารณาจากภาระงาน ซึ่งจะต้องมีประมาณ 126,000 คน แต่ขณะนี้ได้ประมาณ 100,800 คน ยังไม่เพียงพอ ที่สำคัญจะต้องดึงบุคลากรเหล่านี้ให้อยู่ในระบบราชการเพื่อให้สามารถทำงานได้ด้วย แต่ขณะนี้ที่ยังบรรจุไม่ได้ทั้งหมดเพราะไม่มีตำแหน่งรองรับ

“กรณีที่ ก.พ.ระบุว่ายังมีตำแหน่งว่างอีก 11,213 อัตรา นั้น เป็นข้อมูลจริง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถนำมาบรรจุพยาบาลได้ทั้งหมด เพราะใน

“สธ.ก็มีหลากหลายวิชาชีพไม่ใช่เฉพาะวิชาชีพพยาบาล ดังนั้น ที่ทำได้ขณะนี้คือ ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาอัตรากำลังใหม่ทั้งหมด สำหรับการแก้ไขปัญหาระยะสั้นของปีนี้ คือ ได้บรรจุเข้าแทนตำแหน่งที่ว่างได้ 1,200 อัตรา อยู่ระหว่างพิจารณาว่ากระจายไปตามพื้นที่ต่างๆ อย่างไร นอกจากนี้ ได้พิจารณาสำหรับคนที่ควบตำแหน่ง หรือรอเลื่อนตำแหน่ง จะทำให้นั่งในตำแหน่งเดียว ซึ่งจะมีที่ว่างประมาณ 416 อัตรา เพื่อบรรจุใหม่ อีกทั้งจะพิจารณาจากกลุ่มที่ขอรับโอนหรือย้าย คาดว่ามีว่างอีก 893 อัตรา และเหลือตำแหน่งว่างจริงอีก 112 อัตรา ประกอบกับจะมีข้าราชการที่เกษียณอายุในวันที่ 30 กันยายนนี้ อีก 785 อัตรา ก็จะนำมาพิจารณาร่วมด้วย” นพ.โสภณ กล่าวและว่า หากพิจารณาตามที่วางแผนข้างต้น และตามกรอบที่วางไว้ภายใน 1 ปี คาดว่าจะสามารถบรรจุข้าราชการใหม่ได้ประมาณ 3,000 อัตรา ทั้งนี้ สธ.ไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหา จะพยายามดำเนินการให้เร็วที่สุด

Advertisement

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้พยาบาลที่ยังไม่ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการมีประมาณ 13,000 คน ทั้งในส่วนของพนักงานราชการ พนักงานกระทรวงสาธารณสุข และลูกจ้างชั่วคราว ซึ่งหากจะใช้ตำแหน่งข้าราชการเดิมที่มีอยู่ ซึ่งจะว่างลงในแต่ละปี คาดว่าจะต้องใช้เวลาประมาณ 5-6 ปีในการที่จะบรรจุพยาบาลเหล่านี้เป็นข้าราชการได้ อย่างไรก็ตาม ในแต่ละปีจะมีพยาบาลทยอยเพิ่มเข้ามาในระบบด้วย เนื่องจากแต่ละปีจะมีพยาบาลจบใหม่ประมาณ 4,000 คน โดยเข้ามาอยู่ในสังกัด สธ.ประมาณปีละ 3,000 คน ที่เหลืออาจไปอยู่หน่วยงานราชการสังกัดอื่นหรือภาคเอกชน

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนการตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อหารือกับคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) และคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) สธ.ก็ต้องให้ข้อมูลเพื่อให้เห็นถึงความจำเป็นและความขาดแคลนพยาบาล ซึ่งหากได้ตำแหน่งข้าราชการตั้งใหม่วิชาชีพจำนวนราว 10,000 ตำแหน่ง ทยอย 3 ปีนั้น ก็จะไม่ต้องมีการขอตำแหน่งเพิ่มเติมอีก เพราะจะพอดีกับจำนวนเกษียณ ซึ่งสุดท้ายแล้วจะได้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ คปร.และ ก.พ. แต่หากบรรจุไม่ได้ทั้งหมดก็ต้องหารือว่า จะมีกระบวนการจ้างงนประเภทไหนให้มีแรงจูงใจไม่ให้เป็นข้าราชการได้

“สธ.ก็พยายามผลักดันในส่วนของพนักงานกระทรวงสาธารณสุข (พกส.) เพื่อให้มีแรงจูงใจพอ หลักการก็จะคล้ายกับพนักงานราชการคือ ได้รับเงินเดือนที่สูงกว่าข้าราชการ สำหรับการเพิ่มสิทธิสวัสดิการ พกส.คือ 1.เงินเดือนมากกว่าราชการ 1.2-1.4 เท่า โดยพยาบาลอาจได้อยู่ที่ 1.4 เท่า 2.การตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญ ซึ่งพนักงานราชการไม่มี โดยขณะนี้สามารถตั้งได้แล้ว 3.สามารถลาศึกษาต่อได้ และ 4.สิทธิการรักษาพยาบาลซึ่งใช้สิทธิประกันสังคม หากสิทธิอยู่ที่ รพ.ที่เจ้าตัวทำงานอยู่ ก็สามารถใช้สิทธิรักษารวมถึงครอบครัวได้ ทั้งนี้ เชื่อว่า จะสามารถช่วยดึงดูดให้ไม่อยากเป็นข้าราชการได้ แต่ยังติดปัญหาเพียงเรื่องเดียวคือ เงินเดือน เนื่องจากใช้เงินบำรุง รพ.ในการจ่ายค่าตอบแทน จึงทำให้ยังมีข้อจำกัดอยู่ จึงจ้างด้วยการเป็น พกส.ทั้งหมดไม่ได้” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image