กรุงเทพคริสเตียน เอฟเฟ็กต์! เสรีภาพ 1 วันในชุดไปรเวต ถึงการยอมรับความเห็นต่าง

กรุงเทพคริสเตียน เอฟเฟ็กต์! เสรีภาพ 1 วันบนชุดไปรเวต ถึงการยอมรับความเห็นต่าง

กรุงเทพคริสเตียน – เรียกว่าเป็น ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ ไปทั่วทั้งประเทศ เมื่อโรงเรียนชายล้วนชื่อดังย่านสาทร อย่าง “กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย” ประกาศให้นักเรียนชั้นมัธยม ใส่ชุดไปรเวตมาเรียนได้ 1 วันต่อสัปดาห์

สร้างกระแสทั้งด้านบวก และด้านลบ อย่างรวดเร็ว

ไม่นานหลังจากมีข่าว เหล่าศิษย์เก่ารั้วม่วงทอง ก็ออกมาคัดค้านทันที กับสิ่งที่แทบจะไม่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ 166 ปีของโรงเรียน ขณะที่ฝั่งวัยรุ่น และผู้ใหญ่อีกกลุ่มหนึ่ง ก็ออกมาส่งเสียงเชียร์กระหึ่ม ติดแฮชแท็กทั่วทวิตเตอร์ ทุกเพศทุกวัยออกมาบอกว่า นี่คือสิทธิและเสรีภาพของเด็กๆ และโรงเรียนอื่นๆ ก็ควรได้สิทธิแต่งไปรเวตมาเรียนบ้าง ก่อนพูดประโยคเด็ดโดนใจว่า “เสื้อผ้าไม่เกี่ยวกับการเรียน”

ภาพถ่ายหมู่ของนักเรียนโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย รุ่นที่ 86 (จบมัธยมปลาย พ.ศ. 2481)

Advertisement

จน นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ ก็ออกมาขานรับเรื่องดังกล่าว เพราะเรื่องนี้ไม่กระทบการศึกษา แม้จะแอบเบรกนักเรียนโรงเรียนรัฐบาลทั้งหลาย ว่ายังมีกฎกระทรวงอยู่ สั่นสะเทือนไปถึงผู้บริหารอย่าง ชลำ อรรถธรรม เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) ให้ทบทวนเรื่องดังกล่าวว่าเหมาะสมเพียงไร ทำเอาผู้อำนวยการโรงเรียนเจ้าของไอเดีย เร่งประชุมด่วน พร้อมบอกว่า

หากต้องยุติ ก็คงไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่ก็อาจสะท้อนให้เห็นถึงการยอมรับความเห็นต่างในสังคม

แม้เรื่องนี้ยังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่ แต่นี่คือเสียงของ นักเรียนกรุงเทพคริสเตียน ที่ผู้บริหารเปิดโอกาสให้สอบถามความคิดเด็กคนใดก็ได้

Advertisement

ชานน จุติเทพารักษ์ นักเรียนชั้น ม.3 วัย 14 ปี ซึ่งเพิ่งเดินทางไปเรียนแลกเปลี่ยนที่ประเทศนิวซีแลนด์ เผยว่า รู้สึกดีที่มีโครงการนี้ ให้ความรู้สึกเหมือนตอนเรียนที่ต่างประเทศ ปกติแล้วเป็นคนแต่งตัวแนวสตรีท แต่เมื่อมาโรงเรียนก็เลยใส่เชิ้ต ให้ดูสุภาพหน่อย ซึ่งพ่อแม่ก็เข้าใจดี การมาเรียนและเห็นเพื่อนๆ แต่งตัวหลากหลาย ก็ทำให้รู้สึกแปลกตา ฉุกให้มีความคิดสร้างสรรค์ได้ และก็มีความสุขและอยากมาโรงเรียน และไม่ได้รู้สึกว่าควรแข่งกับใคร เราก็แต่งที่เรารู้สึกสบาย และเป็นตัวเรา ไม่ได้คิดว่าต้องเหมือนเพื่อน

ชานน จุติเทพารักษ์

ขณะที่ เจิน-ศิริศักดิ์ ธรรมวรนันท์ นักเรียนชั้น ม.6 มาในชุดไปรเวตเรียบง่าย เสื้อแขนยาว กางเกงยีนส์ รองเท้ากีฬา เล่าทั้งรอยยิ้มว่า การใส่ชุดไปรเวตมาโรงเรียน เหมือนได้ทำอะไรนอกกรอบ อีกทั้งได้แสดงความเป็นตัวตนของเรา ทำให้เกิดความรู้สึกอยากมาโรงเรียนมากขึ้น โดยไม่ต้องมีใครมาบังคับ

“รู้สึกยินดีที่โรงเรียนได้เริ่มต้น แม้จะกำหนดให้ใส่เพียง 1 วันต่อสัปดาห์ แต่ก็อยากให้ขยายผลต่อไปในอนาคต รวมถึงอยากเห็นสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในโรงเรียนของรัฐ ตลอดจนระดับมหาวิทยาลัยที่จะให้นักเรียนนักศึกษาแต่งชุดไปรเวทไปเรียนมองว่าการใส่ชุดไปรเวตมาเรียน ไม่มีผลต่อการศึกษาอย่างที่หลายคนกังวล เพราะที่สุดพวกเราก็ยังต้องตั้งใจเรียนเหมือนเดิม เพื่อเป้าหมายในชีวิต อย่างผมตอนนี้คือการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในสาขาการตลาด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หรือมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒให้ได้ โดยปัจจุบันมีผลการเรียนเฉลี่ยที่ 3.5” เจินเล่า

เจิน-ศิริศักดิ์ ธรรมวรนันท์

สตอ-จักริน ภูคงนิล นักเรียนชั้น ม.3 และเป็นนักฟุตบอลของโรงเรียน มาในชุดไปรเวตสุดแนว เสื้อแขนยาว กางแกงวอร์ม และรองเท้าลายแฟชั่น กล่าวทั้งสีหน้าเขินๆ ว่า การแต่งตัวชุดไปรเวตไม่ได้ใช้เวลานานไปกว่าการใส่ชุดนักเรียน ยิ่งได้มาเจอความสดใสร่าเริงจากชุดเพื่อนๆ ที่ใส่มา ยิ่งทำให้เกิดความรู้สึกอยากมาโรงเรียนมากขึ้น โดยรวมผมและเพื่อนรู้สึกแฮปปี้กับชุดไปรเวต จึงอยากให้ขยายวันแต่งชุดไปรเวตมากกว่า 1 วันต่อสัปดาห์ แต่ขณะเดียวกันก็ยังคงให้ใส่เครื่องแบบนักเรียนอยู่ เพราะพวกเราเป็นนักเรียน

“คิดว่าประเด็นเปรียบเทียบการแต่งชุดไปรเวตในหมู่นักเรียน ไม่น่าจะเกิดขึ้น เพราะอย่างในกลุ่มเพื่อนของผม พวกเราไม่คิดมากเรื่องนี้ เราเข้าใจกัน หลายครั้งพวกเรายังสลับเสื้อผ้ากันใส่ด้วยซ้ำ” จักรินกล่าวทั้งหัวเราะ

สตอ-จักริน ภูคงนิล (คนกลาง)

ด้าน จีโร่-วินธัย สวัสดิ์ธนวณิชย์ นักเรียนชั้น ม.5 มาในชุดไปรเวตเรียบง่ายแต่มีสไตล์ เผยว่า ตนก็เป็นอีกคนที่รู้สึกว่า การได้ใส่ชุดไปรเวตมาโรงเรียน ทำให้เกิดบรรยากาศของการอยากมาเรียนมากขึ้น ซึ่งชุดก็ไม่ได้เตรียมยากอะไร เป็นชุดที่ใส่ประจำเวลาไปเที่ยวอยู่แล้ว อีกทั้งมองว่าชุดที่สวมใส่ไม่ได้มีผลต่อการเรียน เพราะอยู่ที่ตัวผู้เรียนมากกว่า และคิดว่าจะไม่มีการเปรียบเทียบการแต่งตัวของนักเรียน เพราะทุกคนมีความเป็นเพื่อนพี่น้อง ไม่แบ่งชนชั้น และแม้จะอยากให้ขยายวันแต่งชุดไปรเวตอีก แต่ก็อยากให้คงชุดนักเรียนไว้ เพื่อคงความเป็นกรุงเทพคริสเตียน

ตอนนี้โลกเปลี่ยนไปแล้ว เด็กคิดได้ว่าแต่งตัวอย่างไร ก็ไม่สำคัญเท่ากับตัวตนที่จะต้องตั้งใจเรียน รวมถึงทรงผมที่ควรกำหนดไม่สั้นหรือยาวจนเกินไป ก็อยากให้ผู้ใหญ่เข้าใจว่าเราคิดเองได้ และเปิดโอกาสให้กับเรา” วินธัยกล่าว

จีโร่-วินธัย สวัสดิ์ธนวณิชย์ (กลาง)

และแม้จะยังมีข้อถกเถียงกันอยู่ แต่สิ่งหนึ่งที่สัมผัสได้ คือ ความสุขและความผ่อนคลาย ที่เด็กๆ ได้รับยามเดินเข้าโรงเรียน

เบื้องลึก เบื้องหลัง จากผู้นำ ม่วงทอง

หลังจากสร้างปรากฏการณ์ทั้งในโรงเรียนและโลกออนไลน์ ด้วยการปฏิวัติกฎใหม่ ให้นักเรียนมัธยมใส่เสื้อชุดไปรเวทมาเรียนได้ในวันอังคาร

ซึ่งนโยบายนี้ ใช้เวลาพัฒนานับ 10 ปี

นายศุภกิจ จิตคล่องทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย เปิดเผยว่า หลังจากทดลองในวันแรก ผลตอบรับค่อนข้างดี มีนักเรียนมากกว่า 90% ที่ใส่ชุดไปรเวตมาเรียน ขณะที่นักเรียนอีกส่วนหนึ่งที่ไม่ใส่มา โรงเรียนก็ต้องไปวิเคราะห์ว่าเพราะเขาไม่รู้ หรือเขาไม่กล้า แต่อย่างไรก็ไม่ใช่ปัญหา เพราะเราให้อิสระกับทุกคน

สำหรับจุดเริ่มต้นของโครงการนี้ นายศุภกิจเผยว่า เกิดขึ้นเพราะเราอยากวิจัย อยากให้เด็กมีความสุข นั่นเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เราอยากให้เขาได้แสดงตัวตน เป็นองค์กรแห่งความสุข สร้างสรรค์ เราจะเห็นได้ว่าไม่ว่าประเทศไหน การศึกษาดีเพียงใด แต่ก็ยังมีเด็กที่คิดฆ่าตัวตาย เราจึงอยากให้เด็กมีความสุขที่ได้มาเรียน เบื้องต้นเราจะให้นักเรียนได้ใส่ 6 สัปดาห์ ก่อนประเมินอีกครั้งว่า ในปีการศึกษาหน้าควรทำไหม และควรทำนานเท่าไหร่

และกับปัญหาที่หลายคนกังวลใจ ว่าอาจจะส่งผลต่อการศึกษา หรือเกิดการเปรียบเทียบเหลื่อมล้ำกันนั้น ผู้อำนวยการ เผยว่า

เชื่อว่านักเรียนของเราจะมีความคิด วิเคราะห์ได้ว่าสิ่งไหนเหมาะสมกับเขาหรือไม่ อย่างตอนที่คิดโครงการนี้ ตั้งใจจะให้เขาฟรีทุกอย่าง ว่าอยากจะใส่อะไรมา แต่สภานักเรียนก็นำมาปรับจนเหมาะสม เช่น เสื้อ กางเกง ไม่ขาด ไม่สั้นเกิน ไม่ใส่กางเกงเลมาเรียน หรือไม่ใส่รองเท้าแตะ ซึ่งนี่เป็นขั้นแรกที่เขาได้คิด หรือแม้แต่หากเกิดการเปรียบเทียบจริงว่า เพื่อนใช้ของแพงอยากใส่บ้าง ก็สามารถใช้โอกาสนี้สอนนักเรียนของเราได้ นักเรียนของเรามีทั้งรวยและจน คนที่รวยมาโรงเรียนก็ทำตัวธรรมดา อย่างไรก็ดี เราน้อมฟังคำแนะนำของทุกคน และหวังจะพัฒนา ปรับปรุงต่อไป

ความสุขของเด็กต้องมองรอบด้าน

นพ.สมบูรณ์ หทัยอยู่สุข จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว กล่าวว่า จากที่มีนโยบายทดลองให้นักเรียนใส่ชุดไปรเวตไปเรียนนั้น มองอย่างแรกว่า หากไม่ใส่ชุดนักเรียน ด้วยทักษะการรู้คิด การตัดสินใจ ของแต่ละช่วงวัย “เด็กจะยังรับรู้และเข้าใจหน้าที่ของการเป็นนักเรียนหรือไม่”

ซึ่งคุณหมอเชื่อว่าเด็กนักเรียนส่วนหนึ่ง “ทำได้” แม้ไม่มีชุดนักเรียนพวกเขาก็เชื่อฟังคุณครู ตั้งใจเรียนหนังสือ แต่ในขณะเดียวกันอาจจะมีกลุ่มเด็กที่ “ทำไม่ได้” ด้วยเหตุนี้ชุดนักเรียนอาจจะช่วยกำหนดทิศทางให้พวกเขาทำหน้าที่นักเรียนได้ดีกว่า แต่มากไปกว่านั้นต้องมองในแง่ของความปลอดภัยอื่นๆ ด้วยว่า คุณครูจะดูแลได้ยากขึ้นหรือไม่ เช่น หากออกไปทัศนศึกษาพร้อมกันแล้วต่างคนต่างแต่งตัวอะไรก็ได้ คุณครูจะดูแลเด็กได้ทั่วถึงหรือเปล่า และต่อไปในระยะยาวหากกลายเป็นว่าเด็กเกิดรู้สึกกดดันมากขึ้นที่ต้องมาแต่งตัวแข่งกับเพื่อน ทุกเช้าพ่อแม่ต้องมานั่งคิดว่าวันนี้ลูกจะใส่ชุดอะไรไปเรียน หรือลูกใส่ไปแล้วถูกทักว่าใส่ชุดเดิมซ้ำมา ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อจิตใจเด็ก ด้วยบางคนมีภูมิต้านทานในเรื่องการถูกล้อ แต่หลายคนก็อ่อนไหวกับสถานการณ์แบบนี้เป็นพิเศษ

ส่วนในประเด็นที่ว่า “เด็กมีความสุขเมื่อไม่ต้องติดอยู่กับชุดนักเรียน” นพ.สมบูรณ์ เผยว่า การใส่ชุดไปรเวตมาเรียน 1 วันต่อสัปดาห์ อาจจะไม่ได้ตอบอะไรชัดเจน เพราะ “ความสุขของเด็ก” ต้องมองไปถึงส่วนอื่นๆด้วย ว่า คุณครูปฏิบัติกับเด็กยังไง วัฒนธรรม บรรยากาศโดยรวมของโรงเรียน เป็นสังคมที่เปิดกว้างให้เกิดการเรียนรู้ เสริมสร้างให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ มากน้อยแค่ไหน

“ผมมองแบบนี้มากกว่าว่า ในวันที่เด็กไม่ได้ใส่ชุดนักเรียนมาเรียน พวกเขามองว่าเป็นวันที่เขารู้สึกผ่อนคลาย” จิตแพทย์เด็กกล่าวและว่า

“นโยบายดังกล่าวเป็นเหมือนดาบสองคม ที่ต้องติดตามดูผลกันต่อไป ซึ่งในจุดนี้อาจจะต้องมีการกำหนดกติกาว่า หากจะแต่งชุดไปรเวทไปเรียนจริงๆ สามารถอิสระได้แค่ไหน เช่น รองเท้าแบบไหน รองเท้าแตะ หรือรองเท้าสุภาพ เป็นต้น

ส่วนในกรณีที่อาจมีการเปรียบเทียบว่า ทำไมเด็กต่างประเทศถึงทำได้ แต่เด็กไทยต้องถูกกำหนดให้ใส่ยูนิฟอร์ม จุดนี้ผมมองว่า คนที่อยู่ในสังคมต่างประเทศมีความเข้าใจในสิทธิ และหน้าที่ของตนเองได้ดีพอสมควร ขณะเดียวกันสังคมไทยเป็นสังคมที่เรียนรู้ด้วย ความกลัว ด้วยกฎระเบียบ ว่าถ้าไม่ทำจะโดนลงโทษอะไร หากทำดีค่อนข้างจะเฉยๆ แต่ถ้าคุณไม่ทำตามกฎคุณจะถูกลงโทษอย่างไร ซึ่งเป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่ต่างกัน”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image