พลิกตะหลิว จรดปลายมีด ส่งพลังคนรุ่นใหม่ ยกระดับ ‘ครัวสายเลือดไทย’

พลิกตะหลิว จรดปลายมีด ส่งพลังคนรุ่นใหม่ ยกระดับ ‘ครัวสายเลือดไทย’

ครัวสายเลือดไทย – ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเสน่ห์ของ “อาหารไทย” นั้น ถูกใจ และถูกปาก นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกอย่างมาก

เพราะเมื่อได้ลิ้มลองเมนูอาหารคาวขึ้นชื่ออย่าง ต้มยำกุ้ง ผัดไทยกุ้งสด แกงมัสมั่นเนื้อ และแกงเขียวหวาน ก็สัมผัสได้ถึงรสชาติที่หลากหลาย ครบรส แถมยังหอมกลิ่นสมุนไพรซึ่งมีประโยชน์ต่อสุขภาพ

ขณะเดียวกันเมนูของหวาน ก็ไม่น้อยหน้า ที่ได้รับความนิยมสูง ก็ต้องข้าวเหนียวมะม่วง น้ำแตงโมปั่น และน้ำมะพร้าวเผา หอมชื่นใจ!

สมกับที่ “ประเทศไทย” ถูกขนานนามให้เป็น “ครัวโลก”

Advertisement

วิทยาลัยเทคโนโลยีครัววันดี ซึ่งมองเห็นถึงความสำคัญในจุดนี้ จึงมุ่งมั่นสร้างทัศนคติที่ดีสู่เยาวชนให้ตระหนักถึงคุณค่าของอาหาร ความสำคัญของมาตรฐานอาหาร เพื่อพัฒนาสู่อุตสาหกรรมอาหารในอนาคตอันใกล้ จัดกิจกรรม “การแข่งขันปรุงอาหารและแกะสลักระดับนานาชาติ ครั้งที่ 3 ประจำปี 2562” ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

โดยแบ่งการแข่งขันออกเป็น 6 ประเภท ได้แก่ อาหารไทยชาววัง อาหารอาเซียนร่วมสมัย อาหารริมทางพร้อมบรรจุภัณฑ์ แกะสลักผักผลไม้แบบฟรีสไตล์ อาหารตะวันออกผสมผสานอาหารตะวันตกแบบฟรีสไตล์ และการแข่งขันทำซูชิ ซึ่งมีเยาวชนเข้าร่วมการแข่งขันทั้งหมด 132 คน จาก 20 สถาบัน ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ท่ามกลางบรรยากาศการแข่งขันที่จริงจัง ด้วยแต่ละคนต่างงัดเอาความคิดสร้างสรรค์ เทคนิค และประสบการณ์ด้านการทำอาหารออกมาประชัน

Advertisement

 

จนในที่สุดก็ได้ “ผู้ชนะ” ในการแข่งขันแต่ละประเภท

นายนพวิชญ์ แก้วเกตุ หรือ กริช อายุ 16 ปี นักเรียนวิทยาลัยเทคโนโลยีครัววันดี เจ้าของรางวัลชนะเลิศการแข่งขันประเภท “อาหารอาเซียนร่วมสมัย” เผยว่า เพราะรักในการทำอาหารเป็นอย่างมาก ทุกครั้งที่ลงมือทำจึงเต็มไปด้วยความตั้งใจ กับการแข่งขันครั้งนี้ นับว่าเป็นก้าวแรกที่กลายเป็นกำลังใจให้พัฒนาตนเองต่อไป

“ผมเลือกนำเมนูข้าวหมกอินเดีย กุ้งทอดซอสผัดเปรี้ยวหวาน เนื้อย่างกับแกงเผ็ดลิ้นจี่ และผัดผักมาร่วมแข่งขัน เพราะสูตรของอาหารเหล่านี้ ไม่ได้หาเรียนได้ง่าย ต้องอาศัยประสบการณ์และเรียนรู้ด้วยตนเองจากหลายๆ แหล่งข้อมูล ก่อนนำมาจัดวางในรูปแบบที่มีความร่วมสมัยมากขึ้น ในอนาคตตั้งใจว่าจะปรับปรุง และเรียนรู้เรื่องอาหารให้มากขึ้น เพื่อเป็นเชฟที่มีความสามารถให้ได้” กริชกล่าวด้วยน้ำเสียงจริงจัง

นายนพวิชญ์ แก้วเกตุ หรือ กริช

อีกหนึ่งเยาวชนที่มุ่งมั่นและตั้งใจเดินในเส้นทางที่ตนรัก

เช่นเดียวกับ น.ส.ธนาภรณ์ กอสุนทร หรืออั้ม อายุ 18 ปี นักเรียนวิทยาลัยเทคโนโลยีครัววันดี เจ้าของรางวัลชนะเลิศการแข่งขันประเภท “อาหารไทยชาววัง” ที่มีความใฝ่ฝันตั้งแต่เด็กว่าอยากจะเป็นเชฟและไปทำงานที่ต่างประเทศ เพื่อเผยแพร่อาหารไทยแท้ๆ ให้ชาวต่างชาติได้ลิ้มลอง โดยเธอมีแรงบันดาลใจ และกำลังใจสำคัญในการทำอาหาร คือ “ครอบครัวที่น่ารัก”

“ตอนเด็กๆ พ่อกับแม่เป็นคนทำอาหารให้กินทุกมื้อ อั้มจึงชอบไปช่วยงานในครัว และรักอาหารไทยมาก จนเกิดแรงบันดาลใจว่าในอนาคตจะต้องเป็นเชฟที่สืบทอดและอนุรักษ์อาหารไทยให้ได้ เลยเลือก แกงหมูตะพาบน้ำ เป็นเมนูที่ใช้ในการแข่งขัน เพราะเป็นแกงไทยที่ทำไม่ยาก และครบ 3 รสของอาหารไทยที่เข้มข้น ซึ่งแต่เดิมแกงนี้จะต้องใช้เนื้อตะพาบน้ำ แต่แม่ครัวในวังได้ปรับปรุงสูตรและเปลี่ยนเป็นหมูสามชั้นแแทน” น.ส.ธนาภรณ์ เล่าด้วยรอยยิ้ม

น.ส.ธนาภรณ์ กอสุนทร หรือ อั้ม

มาต่อกันที่ การแข่งขันประเภทกลุ่ม 3 คน เจ้าของรางวัลชนะเลิศ (เหรียญเงิน) การแข่งขันประเภท “อาหารตะวันออกผสมผสานอาหารตะวันตก” ที่ น.ส.พัทธมน บุญบุษกร หรือปิม อายุ 17 ปี นักเรียนวิทยาลัยเทคโนโลยีครัววันดี ตัวแทนทีม กล่าวว่า ทีมมี 3 คน จึงแบ่งกันทำกันคนละ 1 เมนู ได้แก่ เมนูอาหารว่าง จานหลัก และของหวาน ซึ่งด้วยมีเวลาฝึกซ้อมค่อนข้างน้อยจึงต้องอาศัยทีมเวิร์กที่ดี มีการวางแผน และทุกคนต้องมีความรับผิดชอบในหน้าที่ของตนเอง

“เชื่อเสมอว่าเยาวชนไทยมีฝีมือไม่แพ้ชาติใดในโลก สามารถพัฒนาได้อยู่ที่ความขยัน และแรงผลักดัน” ปิมกล่าว

น.ส.พัทธมน บุญบุษกร (ถือถ้วยรางวัล) และเพื่อนร่วมทีม

ขณะที่ในการแข่งขัน รุ่นมืออาชีพ (Professional) ระดับอาชีวศึกษาและมหาวิทยาลัย อายุ 19-25 ปี

ก็ปรากฏ “ยอดฝีมือรุ่นเยาว์” ที่คว้า 3 รางวัลในรายการแกะสลักผักและผลไม้ ได้แก่ รางวัลเหรียญทอง ถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, รางวัลเหรียญทองลำดับที่ 1 (ชนะเลิศ) และรางวัลอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมดีเด่น

นั่นคือ นายสิวานันท์ ศรีทัน หรือ ทีเจ อายุ 19 ปี คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ที่มีความสนใจในงานแกะสลักผลไม้ตั้งแต่ ป.4 โดยเขาได้ฝึกฝนทักษะด้วยตัวเองผ่านการหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ต ซึ่งในการแข่งขันครั้งนี้ ได้นำผลไม้นานาชนิดมาแกะสลัก ทั้งมะละกอ ฟักทอง แคนตาลูป หัวไชเท้า และพริก เป็นต้น ส่วน “ลวดลาย” ศึกษาจากลักษณะลายไทยรูปแบบต่างๆ นำมาผสานกับลายเส้นแบบตะวันตก และลวดลายที่คิดค้นขึ้นเอง

“งานแกะสลักเป็นงานที่ต้องใช้เวลาและความประณีตบรรจงให้สวยงาม รางวัลนี้ถือเป็นรางวัลใหญ่ครั้งแรกในชีวิตของผม เป็นความภาคภูมิใจ และรู้สึกดีที่เราเลือกให้ความสำคัญกับงานแกะสลัก เพราะช่วยให้ได้ฝึกสมาธิ ทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์ความเป็นไทยเอาไว้อีกด้วย”

นายสิวานันท์ ศรีทัน หรือ ทีเจ

ผลงานแกะสลักผักผลไม้ของทีเจ

ปิดท้ายด้วย น.ส.อนุธิดา นิลเกตุ หรือ ยูริ อายุ 23 ปี นักเรียนวิทยาลัยเทคโนโลยีครัววันดี เจ้าของรางวัลเหรียญทองแดง การแข่งขันประเภทแกะสลักผักและผลไม้ เผยเคล็ดลับการฝึกฝนฝีมือว่า ต้องพยายามหมั่นฝึกซ้อมการแกะสลักให้ชินมือ และหาลวดลายใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยแกะมาทดลองฝึกซ้อมบ้าง เพื่อเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ สร้างแรงบันดาลใจและความคิดสร้างสรรค์ ประกอบกับการจัดวางก็มีส่วนทำให้ผลงานโดดเด่นโดยเธอแนะนำว่าให้ดูจากสีของผลไม้ แล้วเลือกลวดลายที่เด่นที่สุดไว้ตรงกลาง จะช่วยดึงดูดสายตาได้ดี

น.ส.อนุธิดา นิลเกตุ หรือ ยูริ

เรียกได้ว่าทักษะฝีมือที่งดงาม อ่อนช้อย และประณีต ก็ต้องยกให้ “สายเลือดไทย”

ที่จะยกระดับวงการอาหารให้ก้าวไกลต่อไป

ยอดเยี่ยม!


 

ติดตามข่าวบันเทิงไลฟ์สไตล์ กับ Line@มติชนนิวเจน

เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image