‘ธมลวรรณ’ เด็กม้งใฝ่ดี สืบสานภูมิปัญญาชาติพันธุ์

เป็นเยาวชนสู้ชีวิตที่เกือบจะไม่ได้เรียนต่อ เพราะแม่ไม่มีทุนทรัพย์เนื่องจากมีลูก 9 คน ต้องออกมาทำงานเพื่อส่งน้องๆ เรียนหนังสือ สำหรับ “ธมลวรรณ แซ่ว่าง” หรือ “ดา” เด็กใฝ่ดีชาวม้ง ว่าที่บัณฑิตสาขาวิศวกรรมสิ่งทอ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.)

แต่สุดท้ายด้วยความใฝ่ดี ทำให้เธอได้รับความช่วยเหลือจากหลายๆ ฝ่ายระดมทุนส่งเสียจนสำเร็จการศึกษา 4 ปี และกำลังจะทำงาน ได้รับเงินเดือนเลี้ยงดูครอบครัว ส่งน้องสาวน้องชายเรียนต่อไป

ธมลวรรณบอกว่า เธอมีความฝันเมื่อเรียนจบมาแล้วว่าจะมาช่วยพัฒนาท้องถิ่นซึ่งเป็นบ้านเกิดของตนเอง โดยเฉพาะเรื่องผ้าจากภูมิปัญญาชนเผ่าม้ง ทั้งลายปัก การเขียนลายเทียน ทุกวันนี้ก็ยังปักเป็น ปักและเขียนลายได้ ของเหล่านี้มีคุณค่าทุกยุคสมัย

Advertisement

“เป้าหมายในชีวิตของดาคือดูแลครอบครัว ส่งเสียน้องเรียนต่อและที่สำคัญคือ ตอบแทนคุณแผ่นดินเกิด ด้วยการตั้งใจทำงานใช้ความรู้ที่ได้เรียนมานำไปก่อเกิดประโยชน์ให้แก่ชุมชนและประเทศชาติต่อไป”

จากความมุ่งมั่นที่อยากสร้างประโยชน์ให้กับชุมชน เธอเดินตามความฝันด้วยการสืบสานภูมิปัญญาชาติพันธุ์ ด้วยการร่วมมือกับเพื่อนๆ “ผสานภูมิปัญญาสองชาติพันธุ์” เพิ่มมูลค่างานผ้าปักชาวเขา ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ธมลวรรณ เล่าว่า ก่อนจบการศึกษาในปีการศึกษา 2561 ที่ผ่านมา เธอและเพื่อนๆ นักศึกษาหญิงชาวกะเหรี่ยงสองคน คือ นางสาวนิตยา สิริพัฒนาไพศาล และ นางสาวภาวินี ดำรงพรวารี ได้ร่วมกันทำโปรเจ็กต์ออกแบบชิ้นงาน โดยนำความรู้ที่ได้เรียนมาในสาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งทอ ออกแบบทำชุดเครื่องใช้ผ้าย้อมชาติพันธุ์ ประกอบด้วย ปลอกหมอน ผ้าปูโต๊ะ ผ้ารองจาน ที่รองแก้ว โดยมีเป้าหมายผสมผสานภูมิปัญญาการย้อมผ้าของชาติพันธุ์กะเหรี่ยง และการเขียนลายเทียนของชาติพันธุ์ม้ง เพื่อนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาสร้างมูลค่าเพิ่มด้านเศรษฐกิจ

Advertisement

“โปรเจ็กต์นี้นำผ้าฝ้ายทอมือ ซึ่งครอบครัวของเพื่อนๆ ชาวกะเหรี่ยงทั้งสองคนทอเอง ด้วยวิธีการทอผ้าแบบดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยง แล้วย้อมสีน้ำตาลด้วยต้นซาโก๊ะแระ ซึ่งเป็นต้นไม้ที่ชาวกะเหรี่ยงนิยมนำมาย้อมผ้า ส่วนสีเหลืองได้จากเปลือกต้นเพกา สีเขียวอมฟ้าได้จากผลเคอคอด็อก”

“เมื่อย้อมผ้าจนได้สีจากวัสดุธรรมชาติที่ต้องการแล้ว ผ่านขั้นตอนการตากให้แห้ง ต่อมานำผ้าที่ย้อมสำเร็จแล้วมาลงลายผ้าปักม้ง โดยปักลายม้งลงบนผืนผ้าและตกแต่งด้วยผ้าเขียนลายเทียนของชาติพันธุ์ม้ง คือการผสมผสานภูมิปัญญาสองชาติพันธุ์เข้าด้วยกันในการทำเครื่องนุ่งห่มที่ทันสมัย เป็นมิตรกับธรรมชาติ ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมและผู้ที่สวมใส่” ธมลวรรณอธิบายอย่างละเอียด ก่อนเน้นว่า

“สิ่งสำคัญที่สุดของโปรเจ็กต์นี้คือ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับงานผ้าปักชาวเขาชาติพันธุ์ม้ง และสืบสานภูมิปัญญาของชาติพันธุ์กะเหรี่ยงมาผสม เพื่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากธรรมชาติ”

ซึ่งผลทดสอบการตกสีของผ้าย้อมสีธรรมชาติดังกล่าวอยู่ในระดับ 4 หมายถึง ระดับดี แต่ไม่ทนต่อแสงแดด อย่างไรก็ตาม จุดเด่นของผ้าฝ้ายคือช่วยระบายความร้อนเมื่ออากาศร้อน และทำให้อบอุ่นเมื่ออากาศเย็น

เรียกว่า เป็นความตั้งใจของเยาวชนที่นำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาสร้างมูลค่าเพิ่มได้ ซึ่งหลังจากนี้ เธอจะเดินทางกลับบ้านเกิดเชียงคำ จ.พะเยา เพื่อพัฒนาบ้านเกิด และสร้างคุณค่าให้กับท้องถิ่นต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image