กลั่นแกล้งออนไลน์ เด็กไทยจะรอดได้อย่างไร

กลั่นแกล้งออนไลน์ เด็กไทยจะรอดได้อย่างไร

กลั่นแกล้งออนไลน์ – การหยอกล้อเป็นเรื่องปกติในสังคมไทย ทว่าในปัจจุบัน การหยอกล้อได้สร้างบาดแผลลึกในจิตใจ รุนแรงลุกลามไปถึงทางกาย ด้วยเพราะมีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง หรือเรียกว่า “ไซเบอร์บูลลี่”

ปัจจุบันมีคนจำนวนไม่น้อย ถูกไซเบอร์บูลลี่ทั้งตกแต่งด้วยภาพ บ้างก็ถูกข้อความที่ถ้อยคำล้อเลียนต่างๆ เพื่อทำให้เกิดความอับอาย เป็นความรุนแรงรูปแบบใหม่อย่างหนึ่ง ที่ต้องเรียนรู้และจัดการ

กรรณิการ์ โต๊ะมีนา หัวหน้าสาขาวิชาเทคโนโลยีการโทรทัศน์และวิทยุกระจายเสียง คณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร กล่าวในการเสวนา “การกลั่นแกล้งออนไลน์ เด็กไทยจะรอดได้อย่างไร” จัดโดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคเครือข่าย ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ หลักสี่ กรุงเทพฯ ว่า สังคมไทยล้อเลียนกันจนเคยชิน มองเป็นเรื่องปกติ อย่างเรื่องรูปร่างหน้าตา มักถูกนำมาบูลลี่มากที่สุด เช่น “อ้วน เตี้ย ดำ” ไม่เพียงแต่เพื่อนเท่านั้น พ่อแม่ก็เป็นผู้บูลลี่ลูกตัวเองเช่นกัน

“เมื่อมีเทคโนโลยีเข้ามา การหยอกล้อกันจึงไม่ใช่แค่เรื่องบุคคลต่อบุคคลในห้องเรียนอีกต่อไป แต่เป็นเรื่องบุคคลต่อบุคคลในโลกออนไลน์ ที่มีสาธารณะมาร่วมรับรู้ ผลกระทบจึงมากกว่าการบูลลี่สมัยก่อน เพราะคราวนี้จะเป็นการหยอกล้อที่ไม่รู้จบ ไม่ว่าไปที่ไหน การหยอกล้อนั้นก็ยังคงอยู่”

Advertisement

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนของพิษภัยไซเบอร์บูลลี่ กรรณิการณ์ยกตัวอย่างเด็กหญิงคนหนึ่งที่ถูกเพื่อนจับภาพวิดีโอได้ ถึงพฤติกรรมที่กินขี้มูกตัวเองเข้าไป เมื่อวิดีโอนั้นถูกเผยแพร่ในโลกออนไลน์ มีสาธารณชนเข้ามาดู เด็กหญิงคนนี้รู้สึกอับอายไม่เพียงแต่ในห้องเรียน หรือโรงเรียนนั้น แต่ไม่ว่าเธอจะย้ายไปเรียนที่ไหน อย่างข้ามรัฐ วิดีโอนั้นก็ยังคงอยู่ ทุกคนยังคงจดจำภาพเธอ และพฤติกรรมนั้นได้ สุดท้ายเด็กผู้หญิงคนดังกล่าว ก็ไม่สามารถอยู่ในโลกการศึกษาระบบปกติได้ ต้องเผชิญกับความเจ็บปวด และทำร้ายตัวเอง

อย่างไรก็ดี อาจารย์แนะนำวิธีรับมือไซเบอร์บูลลี่ คือ “การที่จะนิ่งเฉย ไม่ตอบโต้ เพราะการตอบโต้กลับจะทำให้ผู้กระทำเกิดความสนุก การบูลลี่ก็จะเกิดขึ้นอีกไม่จบไม่สิ้น แต่ถ้านิ่งเฉยไป เขาก็จะหมดสนุกและหยุดไปเอง ทั้งนี้ หากการนิ่งเฉยแล้วเกินรับมือไหว แนะนำให้ปรึกษาครู และพ่อแม่ เพื่อช่วยหาวิธีจัดการ ไม่ว่าจะการพูดคุย หรือใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องดำเนินคดี เช่น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ไม่แนะนำให้ปรึกษาเพื่อน เพราะมีวุฒิภาวะและประสบการณ์เท่ากัน อาจให้คำปรึกษาที่ไม่ถูกต้องเหมาะสมได้

Advertisement

“จริงๆ หากถูกไซเบอร์บูลลี่ การบล็อกเพื่อนคนนั้นไปเลย ก็เป็นวิธีการที่ดี อย่าไปเสียดาย” อาจารย์กรรณิการ์ กล่าวทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image