‘บูลลี่-Bully’ ภัยในรั้วโรงเรียน

แฟ้มภาพ

หเหตุการณ์สลดเด็กนักเรียน ม.1 ทนไม่ไหวหลังจากถูกเพื่อนกลั่นแกล้งรังแก หรือ “บูลลี่-Bully” มาตลอด จนขโมยปืนพ่อมายิงเพื่อนร่วมชั้นเรียนเสียชีวิตภายในโรงเรียน ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าเพราะอะไรจึงเกิดกรณีดังกล่าวในประเทศไทย

เพราะเหตุความรุนแรงในสถานศึกษา โรงเรียน หรือมหาวิทยาลัย ถือเป็นเหตุโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นน้อยมากในสังคมไทย ส่วนใหญ่มักเจอข่าวประเภทนี้ในต่างประเทศ

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เป็นความรุนแรงที่ปัจจุบันเรียกว่าการบูลลี่ (Bully)

พญ.ดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ ขยายความ “บูลลี่” (Bully) ว่า ความรุนแรงรูปแบบหนึ่ง และการกลั่นแกล้งรังแกจัดเป็นหนึ่งในความรุนแรงเช่นกัน โดยจะต้องแยกระหว่าง “การกลั่นแกล้งรังแก” และการ “แกล้งหยอกล้อ” หากพูดถึงการแกล้งกันเพื่อความสนุกสนานเป็นพฤติกรรมปกติของเด็กในช่วงวัยเรียน

Advertisement

แต่การแกล้งที่ควรจะเป็นคือจะต้องเกิดขึ้นจากความสนุกสนานของทั้งสองฝ่าย กล่าวคือผู้แกล้งก็สนุกและผู้ถูกแกล้งก็ไม่รู้สึกโกรธ และรู้สึกสนุกไปด้วยกัน เนื่องจากการแกล้งเป็นปฏิสัมพันธ์ทางสังคมอย่างหนึ่ง อาทิ การแซว การล้อกัน แต่การกลั่นแกล้งรังแกที่ควรจะให้ความสนใจเป็นพิเศษคือการที่มีหนึ่งคนสนุกแต่อีกคนไม่สนุก หรือกล่าวได้ว่าเป็นการที่ผู้กลั่นแกล้งรู้สึกสนุกอยู่ฝ่ายเดียว ฝ่ายที่โดนกลั่นแกล้งนั้นไม่มีความสนุกด้วย พฤติกรรมเช่นนี้เป็นการคุกคามความสุข สุขภาวะของผู้อื่น ซึ่งผู้ที่ถูกกลั่นแกล้งนั้นจะมีความเสี่ยงต่อภาวะเครียดหรืออาการซึมเศร้า ไม่ว่าจะเกิดจากความรู้สึกโกรธและเอาคืนไม่ได้ หรือเสียใจที่เพื่อนทำไม่ดีกับตัวเอง จัดเป็นสภาวะอารมณ์ที่ไม่เป็นสุข เมื่อสะสมเป็นระยะเวลานานและมีปริมาณที่มากพอจะส่งผลให้เกิดการระเบิดออกมา เป็นความรุนแรงตอบโต้ความรุนแรงได้

รูปแบบของการกลั่นแกล้งจะแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ คือ 1.การกลั่นแกล้งทางกายที่เด็กใช้ความรุนแรง เช่น การตบศีรษะ การกระทำด้วยความรุนแรง 2.การกลั่นแกล้งทางวาจา เป็นการใช้คำพูดว่า ล้อเลียน ที่ทำให้เกิดความอับอายซึ่งในรูปแบบนี้จะทำให้เกิดบาดแลในจิตใจร่วมด้วย 3.การกลั่นแกล้งทางสังคม เช่น การกีดกั้นเพื่อนบางคนหรือบางกลุ่มออกไป หรือที่ในปัจจุบันมีการกลั่นแกล้งในลักษณะของ “ไซเบอร์บูลลี่” (Cyber Bully) เป็นการใช้ภาษาในการทำร้ายที่อยู่ในสังคมออนไลน์

ทั้งนี้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นโดยตรงกับเด็กที่ถูกกลั่นแกล้งรังแกนั้น คือ การวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า การแยกตัวออกห่างจากกลุ่มเพื่อน การเก็บตัว ในบางรายอาจจะเกิดเป็นอาการทางร่างกาย เช่น ปวดศีรษะโดยหาสาเหตุไม่พบ ปวดท้องเนื่องจากในเวลาที่เด็กมีภาวะเครียด จะไม่พูดว่าเครียดหรือเศร้าซึ่งต่างจากผู้ใหญ่ แต่เด็กนั้นจะแสดงออกจากทางร่างกายแทน โดยในประเทศไทยมีการศึกษา “ภาวะเสี่ยงของการกลั่นแกล้งรังแก” ในเด็กช่วงวัยเรียน ซึ่งการกลั่นแกล้งที่เข้าข่ายการใช้ความรุนแรง (บูลลี่)มีการรายงานผลสถิติสูงถึงร้อยละ 15 หรือคิดเป็น 1 ใน 6 ของจำนวนเด็กทั้งหมด และจำนวนที่เหลือเป็นการแกล้งรูปแบบอื่นที่ไม่ได้เข้าข่ายการบูลลี่ ซึ่งเป็นสิ่งที่คุณครู ผู้ปกครองและเพื่อนคนอื่นจะต้องให้ความสนใจและหมั่นสังเกตพฤติกรรมของผู้ที่ถูกบูลลี่

Advertisement

พญ.ดุษฎีระบุว่า โดยหลักการแล้วสิ่งที่ควรจะทำมากที่สุดคือการป้องกัน สามารถทำได้โดยเริ่มจาก 1.การสร้างสิ่งแวดล้อมให้ปลอดภัยให้แก่เด็กทุกคน ผู้ใหญ่จะต้องตระหนักว่าการกระทำใดไม่ใช่การเล่นกันปกติ เมื่อไหร่ที่เด็กคนหนึ่งเริ่มไม่มีความสุข ร้องไห้ หรือโกรธมาก ผู้ใหญ่จะต้องไม่มองว่านั่นคือการแกล้งกันเฉยๆ แต่จะต้องมองให้เห็นว่าเป็นการใช้ความรุนแรงต่อกัน และสิ่งที่ต้องทำต่อไปคือ การเข้าไปหยุดการใช้ความรุนแรงเหล่านั้น 2.การดูแลเด็กที่เป็นผู้กลั่นแกล้งและผู้ถูกกลั่นแกล้ง คือ การรับฟังปัญหาซึ่งจะทำให้ผู้ใหญ่เข้าใจมากยิ่งขึ้นว่าการกระทำความรุนแรงนั้นเกิดขึ้นจากสาเหตุใด จากการศึกษาพบว่าเด็กที่กลั่นแกล้งผู้อื่นในบางครั้งมีสภาวะของโรคสมาธิสั้น ที่จะมีความซุกซนมากกว่าเด็กปกติ ในความคิดของเด็กกลุ่มนี้
จะคิดว่าตนเองไม่ได้แกล้งให้เพื่อนเสียใจเป็นเพียงการหยอกล้อเล่นกัน ในบางรายเป็นเด็กที่มีปัญหาการควบคุมอารมณ์ตัวเอง หรือเป็นเด็กที่มีพฤติกรรมรุนแรงเป็นต้น จากการศึกษาพบว่า ในปี 2563 ภาระโรคของภาวะโรคซึมเศร้าจะสูงขึ้นเป็นอันดับ 1 ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ทั่วโลก และในประเทศไทยเองภาวะของโรคนี้ก็มีแนวโน้มจะสูงขึ้นและอาจจะสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโรคไม่ติดต่อในไทย โดยภาวะซึมเศร้าไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า และหากเกิดขึ้นในเด็ก มักจะไม่มีอาการแสดงออก บ่อยครั้งจะแสดงอาการออกมาเป็นความหงุดหงิด จนกลายเป็นพฤติกรรมก้าวราวได้

“บูลลี่ คือ การที่เขาได้รับความรุนแรง เวลาที่เป็นหนักถ้าไม่ทำร้ายตัวเองก็ทำร้ายคนอื่น หรือทำให้เด็กคนนั้นมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปเลย เช่น คุ้นชินกับความรุนแรงนั้นขึ้นอยู่กับเด็กว่าปรับตัว รองรับปัญหาได้มากน้อยแค่ไหน เด็กบางคนก็อึดมาก อดทนมากปรับตัวกับสิ่งนี้ได้ ก็อาจจะเงียบๆ ยอมรับไป แต่ในรายที่รับไม่ได้ก็จะเป็นปัญหาอย่างเช่นในข่าว” พญ.ดุษฎีกล่าว

ทั้งนี้ พญ.ดุษฎีกล่าวว่า ผู้ปกครองจะต้องมีการสื่อสารกับเด็กและคุณครูอยู่เป็นประจำ เพื่อสังเกตว่าเด็กมีพฤติกรรมอย่างไร และหากพบว่ามีการกลั่นแกล้งกันเกิดขึ้น ผู้ใหญ่ไม่ควรต่อว่าตำหนิเด็กทันที เนื่องจากเหตุผลของการกลั่นแกล้งมีหลายสาเหตุ เช่น อาจเกิดจากที่เด็กผู้ที่กลั่นแกล้งเป็นผู้ที่ถูกกลั่นแกล้งมาก่อน และหลังจากนั้นก็จะต้องเป็นการรับฟังกันมากขึ้นและจะต้องแนะนำว่าควรจะเล่นกับเพื่อนอย่างไรให้สนุกโดยไม่ให้เป็นการใช้ความรุนแรง

ส่วนการดูแลของภาครัฐที่สามารถช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหานั้น คือ บริการจิตเวชเด็กและวัยรุ่น ที่จะให้การดูแลเด็กที่มีปัญหาพฤติกรรม อารมณ์ การเรียน พัฒนาการ โดยผู้ปกครองอาจจะต้องใช้คำถามกับเด็กว่า “หากวันนี้หนูไม่มีความสุข หนูลองไปคุยกับคุณหมอดูไหม เพื่อให้หาทางออก หาความสุขได้” ซึ่งจะเป็นการทำให้เด็กรู้สึกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับตนเองในขณะนั้นเป็นเพียงความทุกข์ ซึ่งมีทางออกในการหาความสุขมาแทนได้

เหตุการณ์สลดที่เพิ่งเกิดขึ้นนั้น ถือเป็นเคสตัวอย่างที่สังคมไทยต้องเริ่มนับหนึ่งให้ความสำคัญและแก้ปัญหา “การบูลลี่” ให้เป็นจริงเป็นจังมากขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image